กีฬา กีฬา… เป็นยาวิเศษ

กีฬา กีฬา… เป็นยาวิเศษ คำนี้ไม่เกินจริง วันนี้จะมารีวิวชีวิตคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ (ท้อง 3) แถมด้วยอาการแฝงที่เรียกว่า “เบาหวานและความดัน”

ก่อนอื่นต้องเท้าความก่อนว่าอาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์นี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่หากเกิดมาแล้วถึง 2 ครั้งกับการตั้งครรภ์ในครั้งก่อน ๆ แต่ครั้งนี้ดูท่าอาการจะควบคุมยาก เนื่องด้วยอายุที่มากขึ้นใกล้ ๆ  จะแตะเลข 4 จึงทำให้เกิดความเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาวะครรภ์เป็นพิษ อาการทารกเสี่ยงที่จะเป็นดาวซินโดรม อาการปวดเมื่อยตามอายุที่มากขึ้น และอาการเดิม ๆ ที่เคยเป็นคือ เบาหวานตั้งครรภ์ แต่ครั้งนี้ดันแถมความดันมาด้วย

โดยปกติแล้วค่าน้ำตาลสำหรับสตรีมีครรภ์ระดับค่าน้ำตาลที่อยู่ในเกณฑ์ปกตินั้นจะต้องมีค่าที่ต่ำกว่าคนทั่วไป คือ ระดับน้ำตาลก่อนอาหารควรจะน้อยกว่า 95 mg/dL และหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลควรจะน้อยกว่า 120 mg/dL เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดในภายหลัง (https://www.bangkokhospital.com/content/diabetes-and-pregnancy)

ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของการตั้งครรภ์ เมื่ือตรวจพบว่าตั้งครรภ์ก็รีบเจาะน้ำตาลทันที เพราะรู้เลยว่าครั้งนี้คงไม่รอด และก็เป็นอย่างที่คาดไว้ ระดับน้ำตาลหลังตื่นนอน (งดน้ำ งดอาหาร หลังเที่ยงคืน) นั้นสูงไปถึง 280 mg/dL และค่าความดันก็สูงถึง 150/90 มม.ปรอท ดังนั้น ปฏิบัติการคุมอาหารและระดับน้ำตาลจึงเกิดขึ้น เนื่องจากค่าความดันโลหิตเกณฑ์ปกติที่ควรจะเป็น คือ

ระดับความดัน

ระดับเหมาะสม ค่าความดันโลหิต ระหว่างน้อยกว่า 120 / น้อยกว่า 80 มม.ปรอท

ระดับปกติ ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 120-129 / 80-84 มม.ปรอท

ระดับสูงกว่าปกติ ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 130-139 / 85-89 มม.ปรอท

 

ระดับความรุนแรงของกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง     

ระดับที่ 1 ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 140-159 / 90-99 มม.ปรอท

ระดับที่ 2 ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิต ระหว่าง 160-179 / 100-109 มม.ปรอท

ระดับที่ 3 ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิต มากกว่า 180 / 110 มม.ปรอท

(https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/241)

สมาชิกรุ่นบุกเบิก

ปฏิบัติการลดน้ำตาลในครั้งนี้เราเริ่มจากการลดปริมาณข้าวในแต่ละมื้อ เพิ่มโปรตีนและผัก เปลี่ยนจากข้าวขาวเป็นข้าวไรซ์เบอรี่ งดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุกอย่าง ลดแป้ง ลดน้ำตาล งดของหวานและเบเกอร์รี่ ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ดูเหมือนว่าการคุมอาหารจะได้ผล ระดับน้ำตาลในตอนเช้าลดลงมาอยู่ที่ 150-180 mg/dL แต่พอผ่านไปสักพักก็ดูเหมือนว่าระดับน้ำตาลจะไม่ลดลงและติดอยู่ที่เดิม จึงต้องเปลี่ยนวิธีใหม่โดยสามีแนะนำว่า “ควรออกกำลังกาย” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งกลุ่ม “ตีแบดมินตัน”

สมาชิกที่กลายเป็นขาประจำกันไปแล้ว

เริ่มจากการชักชวนสมาชิก นัดวันกันออกกำลังกาย โดยเฉลี่ยแล้ว สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 2 ชม. ทำแบบนี้ต่อเนื่อง 3 เดือน ควบคู่ไปกับการคุมอาหาร ตอนนี้ผลลัพธ์ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ ระดับน้ำตาลกลับมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และความดันก็ลดลง ตอนนี้ระดับน้ำตาลในตอนเช้าหลังตื่นนอนอยู่ที่ 90-95 mg/dL และความดันอยู่ที่ 126/79 มม.ปรอท

สำหรับใครที่มีปัญหาสุขภาพแล้วกำลังคุมอาหาร ลองมาออกกำลังกายควบคู่กันไปนะคะ เริ่มจากเดินช้า หรือกีฬาอะไรก็ได้ที่เราชอบ เพราะสุดท้ายแล้วสุขภาพดีอยู่ที่เราสร้างค่าตอนนี้จะทานอะไรก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้วค่ะ สามาถทานของหวานให้รางวัลตัวเองได้เป็นบางครั้ง ออกกำลังกายนี่ดีจริง ๆ เลยนะคะ