บริการ common illnesses

มีเรื่องเล่าดีๆ มาบอก เมื่อเดือนก่อนลูกสาวคนเล็ก มีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ  แต่เนื่องจากมีอาการช่วงค่ำแล้ว และอยู่ในระหว่างเดินทางกลับบ้าน จึงได้แวะร้ายขายยาเพื่อซื้อยาบรรเทาอาการไปก่อนเพื่อที่ตอนเช้าจะได้ไปหาหมอที่โรงพยาบาล เนื่องจากลูกสาวคนเล็กไม่ได้ทำงาน ทำอาชีพอิสระ ค้าขาย เวลาเจ็บป่วย ต้องไปโรงพยาบาลของรัฐ หรือไม่ก็คลีนิก ไม่มีประกันสังคม เบิกจ่ายอะไรก็ไม่ได้

ครั้งนี้ไม่สบายแวะซื้อยาที่ร้านขายยา ตอนกลับมาที่รถลูกสาวบอกว่าไม่ต้องเสียเงินค่ายานะแม่ เขาจ่ายยามาให้กินฟรี ผู้เขียนเลยถามว่า อ้าวทำไมไม่ต้องจ่ายล่ะ ลูกสาวบอกว่า ร้านยาถามว่า ทำงานอะไร ลูกบอกเขาไปว่า ทำงานอิสระค้าขาย เข้าถามว่า ใช้สิทธิบัตรทองใช่ไหม ไม่มีประกันสังคมใช่ไหม ลูกบอกว่า ใช่ ร้านยาเลยจ่ายมาให้กินฟรี ไม่มีค่าใช่จ่าย แล้วทางร้านยาบอกว่า จะโทรศัพท์มาสอบถามอาการภายใน 1- 2 วัน ว่าอาการดีขึ้นมั้ย หากไม่ดีเขาจะแนะนำให้ไปหาหมอ หากดีขึ้นถือว่าโอเค และต่อไปหากมีอาการเจ็บป่วยอะไร เป็นบริการที่เรียกว่า common illnesses ร้านยาให้แผ่นพับมาให้อ่าน ผู้เขียนเลยลองไปค้นดู้พบว่า

บริการ common illnesses โดยร้านยาเป็นบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการนอกจากต้องผ่านมาตรฐาน GPP ของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังต้องเข้าร่วมเป็นร้านยาคุณภาพตามเกณฑ์ที่สภาเภสัชกรรมกำหนด และต้องเข้ารับการอบรมการดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น วิธีซักอาการ วิธีการดูแล และวิธีการจ่ายยาให้ผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรรับรองในการให้บริการดูแลโรคทั่วไป ทั้งนี้ บริการ common illnesses โดยร้านยาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ใช้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย ครอบคลุมการดูแล 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ 1) ไข้/ไอ/เจ็บคอ 2) ปวดข้อ 3) เจ็บกล้ามเนื้อ 4) อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน 5) บาดแผล 6.ปวดท้อง 7) ท้องเสีย 8) ปวดหัว 9) เวียนหัว 10) ปวดฟัน 11) ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 12) ถ่ายปัสสาวะขัด/เจ็บ/ลำบาก 13) ปวดประจำเดือน 14) ตกขาวผิดปกติ 15) ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา 16) ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

แนะนำการบริการ common illnesses ที่ร้านยา มี 2 วิธี คือ
1.คนไข้ติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่แนะนำร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อเข้ารับบริการ
2.ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/204 หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย 

ขั้นตอน : เมื่อผู้ป่วยมาที่ร้านยา (นำบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วย กรณีเด็กเล็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชนใช้สำเนาสูติบัตรหรือใบเกิดพร้อมกับบัตรประชาชนของผู้ปกครอง) เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ว่าจะสามารถรับบริการตามสิทธิบัตรทองได้หรือไม่ หากมีสิทธิก็รับการดูแลโดยเภสัชกร ซึ่งจะให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ในกรณีที่มีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ และเมื่อจ่ายยาไปแล้วยังมีการติดตามอาการต่ออีกภายใน 72 ชั่วโมงถึงจะปิดเคสได้ และระหว่างนั้นหากคนไข้อาการไม่ดีขึ้น ร้านยาก็จะมีระบบส่งต่อไปพบแพทย์ต่อไป

แนะนำค่ะ สำหรับท่านที่มีญาติพี่น้องบุตรหลานที่ใช้สิทธิบัตรทอง เพียงยื่นบัตรประชาชนก็ปรึกษาเภสัชกรและรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้านที่มีสติ๊กเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย” เภสัชกรจะคัดกรองอาการเบื้องต้น รับยารักษาตามอาการ และติดตามอาการ 3 วัน ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

ย้ำค่ะ : ตรวจสอบรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/204

หรือสืบค้นข้อมูลร้านยา
Link : http://cpp.nhso.go.th/CPP/

นอกจากนี้ยังมีใช้บริการ 6 รายการนี้ได้ที่ร้านยา ไม่เสียค่าใช้จ่าย จาก สปสช.ร่วมกับสภาเภสัชกรรม

1) รับยาเม็ดคุมกำเนิด 2) รับยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน 3) รับถุงยางอนามัย 4) รับชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง 5) รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกป้องกันโลหิตจาง 6) .คัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต

หมายเหตุ ขึ้นอยู่กับร้านยาจะมีบริการรายการใดบ้าง ร้านยาบางแห่งอาจจะมีไม่ครบทั้ง 6 รายการ

ใช้บริการได้ง่ายๆ เพียงยื่นบัตรประชาชน

• มองหาร้านยาที่มีสติกเกอร์ “ร้านยาของฉัน ให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ” 

• หรือไปที่แอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค เลือกบริการที่ต้องการ แล้วไปรับที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้เลย

บริการดีๆ ที่รัฐมีให้กับประชาชนที่ไม่มีสิทธิ หรือ ไม่สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้จากสิทธิพิเศษอื่นๆ และไม่ต้องไปนั่งรอที่โรงพยาบาลนานๆ