Physical therapy : กายภาพบำบัด

วันนี้จะมาเล่าและแบ่งปันประสบการณ์ตรงของตัวเองในวัยทำงาน กับอาการปวดขาและปวดหลัง นำไปสู่การกายภาพ โดยเริ่มต้นจากมีอาการปวดขาบนด้านหลัง คล้ายๆ กับการปวดกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย และเข้าใจว่าอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง แต่กลายเป็นว่าอาการยังคงมีเรื่อย และความเจ็บปวดในระดับที่มากขึ้น จนตัดสินใจไปพบแพทย์ที่คลินิกเฉพาะทาง ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และรับยากลับมาทานเพื่อลดอาการเจ็บปวด จากคลินิกที่ 1 ไปคลินิกที่ 2 และคลินิก 3 โดยที่อาการเจ็บปวดยังคงทรงบ้าง ทรุดบ้าง และอาการรุนแรงขึ้นเมื่อไอ หรือจาม โดยจะเจ็บแปล๊บในเส้นที่ขา จากที่ปวดเป็นบางช่วงเวลา กลายเป็นปวดมากขึ้น รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ท่าทางในการเดินไม่ปกติ จึงตัดสินใจพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จากผลการเอกซเรย์ แพทย์ลงความเห็นว่ามีอาการหมอนรองกระดูกทรุด อาจทำให้กดทับเส้นประสาท แกนกระดูกสันหลังเอียง ต้องได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการเจ็บปวด ควบคู่กับรักษาด้วยการทานยา จึงได้รับการทำกายภาพบำบัดครั้งแรกในชีวิตในวัย 38 ซึ่งมีหลายคนสอบถามว่า การทำกายภาพทำยังไง มีทำอะไรบ้าง จึงนำมาเล่าแบ่งปันประสบการณ์ค่ะ…

 

หากพูดถึงกายภาพบำบัด หลายคนคงนึกถึงการทำกายบริหารให้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงผู้ป่วย แต่ความจริงแล้วการทำกายภาพบำบัดไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงผู้ป่วยอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะในวัยทำงานเองก็สามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อคลายปวดจากออฟฟิศซินโดรมได้

กายภาพบำบัด (Physical therapy: PT) เป็นการฟื้นฟู และเสริมสร้างความสามารถในการใช้ร่างกายด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น การดึง นวด ประคบ ร่วมกับการบริหารร่างกายสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ มีอาการปวด หรือได้รับผลข้างเคียงจากอาการเจ็บป่วยจนทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่เต็มที่ เทคนิคและวิธีการต่างๆ ของกายทำกายภาพบำบัดจะปฏิบัติตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่าผู้ป่วยเหมาะกับการทำกายภาพบำบัดส่วนไหน และควรใช้เทคนิคใด เพื่อบรรเทาอาการปวด ป้องกัน หรือฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บ ป้องกันความพิการ หรือลดโอกาสที่จะต้องผ่าตัด

สำหรับการกายภาพบำบัดที่เคยได้รับ ก็จะมีหลายเทคนิค เช่น

– การประคบร้อน (Hot pack)

– การบำบัดด้วยคลื่นกระแทกแบบโฟกัส (Focus shockwave)

– การบำบัดด้วยเครื่องเลเซอร์พลังงานสูง (High Power Laser)

– การบำบัดด้วยอัลตร้าซาวน์/การใช้คลื่นเสียงหรือคลื่นความร้อนลึก (Ultrasound)

– การดึงหลังด้วยเครื่อง (Pelvic Traction)

– การใช้กระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Stimulation)

ซึ่งนักกายภาพจะมีการปรับเปลี่ยน และสลับการใช้เครื่องมือในการทำกายภาพเพื่อให้การรักษาที่ตรงจุด และบรรเทาอาการเจ็บปวด