ห้องสมุดกับสังคมสูงวัย

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจามีโอกาสได้ไปเข้าร่วม “ประชุมวิชาการระดับชาติ PULINET ครั้งที่ 13” ที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายในงานก็มีหัวข้อการบรรยายหลากหลายเรื่องด้วยกัน แต่วันนี้หัวข้อที่จาอยากจะมาแบ่งปัน และส่งต่อเรื่องราว ก็คือ หัวข้อ “ห้องสมุดกับสังคมสูงวัย” ซึ่งบรรยายโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงรัตติมา จีนาพงษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่จาเลือกหัวข้อนี้มาเล่าให้ฟังก็เพราะว่าโลกเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาสักพักใหญ่แล้ว แล้วอายุเท่าไหร่ล่ะถึงเรียกว่าสูงวัย? อ.รัตติมาเล่าให้ฟังว่าค่าเฉลี่ยของโลกตอนนี้อยู่ที่ 66 ปี ถึงเข้าสูงวัย โดยประเทศไทยเราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ปี

สังคมสูงอายุแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ

  • สังคมสูงอายุ (Aged Society) สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด
  • สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด
  • สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

ซึ่งประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้อ.รัตติมายังรวบรวมข้อมูลสถิติประชากรในช่วงอายุระหว่าง 60-100 ปีในบางจังหวัด มาฝากกันด้วยค่ะ

Cr. ภาพจากเอกสารประกอบการบรรยาย หัวข้อ “ห้องสมุดกับสังคมสูงวัย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงรัตติมา จีนาพงษา มหาวิทยาลัยนเรศวร
Cr. ภาพจากเอกสารประกอบการบรรยาย หัวข้อ “ห้องสมุดกับสังคมสูงวัย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงรัตติมา จีนาพงษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าในโลกออนไลน์เริ่มมีการทำการตลาดในกลุ่มสังคมสูงอายุมากขึ้น และทำข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ เป็น Infographic ออกมามากขึ้นนั่นเอง นั่นจึงเป็นสิ่งที่ห้องสมุดควรกลับมาย้อนดูว่าเราควรที่จะทำอย่างไรเพื่อปรับบริการ และลักษณะทางกายภาพภายในห้องสมุดเพื่อให้รองรับสังคมผู้สูงวัยได้ด้วย

ท้าวความมาพอหอมปากหอมคอแล้ว งั้นเรามาเริ่มเข้าเรื่อง ผู้สูงอายุกับห้องสมุด กันดีกว่า ก่อนอื่นเลย สำหรับห้องสมุด ผู้สูงอายุเปรียบเสมือนบุคคลผู้ทรงคุณค่า และหนังสือมีชีวิต เนื่องจากผ่านชีวิต และมีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ มามากนั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้วหากมองไปในอนาคตห้องสมุดเองก็ควรที่จะเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้สูงอายุเช่นกัน

ความพร้อมของห้องสมุด คือ

  • สถานที่
  • ทรัพยากรสารสนเทศ
  • Printer/Photocopier/Internet
  • บุคลากรที่มีทักษะ

และนอกจากนั้นเราต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุด้วย เพื่อคิดถึงบริการ หรือสิ่งที่จะมาซัพพอร์ตกลุ่มสูงวัยตรงนี้ได้ สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนไปอันดับแรกเลยก็คือ

  • สายตา การมองเป็นลดลง สายตายาว หนังตาตก
  • หูเริ่มตึง ได้ยินไม่ค่อยชัด
  • มวลกระดูกลดลง เปราะบาง และหักง่าย ปริมาณกล้ามเนื้อลดลง หรือการหดตัวลดลง
  • ประสาทสัมผัสลดลง การตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ลดลง หรืออาจความจำเสื่อม
  • หัวใจทำงานลดลง เต้นช้าลง
  • ปอดหดตัว-ขยายตัวลดลง และหายใจลำบากขึ้น
  • ขนาดและการทำงานของไตลดลง

วัตถุประสงค์การเรียนรู้ของผู้สูงอายุ

  • ลับสมอง เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ความคิด เพื่อบริหารสมองป้องกันโรคอัลไซเมอร์
  • แก้เหงา/บันเทิง เพื่อให้จิตใจของผู้สูงอายุไม่เหี่ยวเฉา มีเพื่อนและมีความสุขเมื่อได้ทำสิ่งต่าง ๆ
  • ความรู้/ทักษะเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะในสมัยนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ห้องสมุดอาจเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถช่วยฝึกให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
  • เพื่อดูแลสุขภาพ เนื่องจากห้องสมุดเปรียบเสมือนคลังความรู้สหวิชา บรรณารักษ์เองอาจะเลือกหัวข้อหรือเชิญวิทยากรทางด้านนั้น ๆ มาบรรยายจัดเป็นกิจกรรมดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุได้

โดยในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมาห้องสมุดเองต้องคำถึง Content, รูปแบบ, และสถานที่ในการจัดกิจกรรมด้วยเช่นกัน เพื่อให้สะดวก และตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุมากที่สุดนั่นเอง อาจจะเริ่มจากการสำรวจความต้องการจากผู้สูงอายุโดยตรง, จากคนทำงานใกล้เกษียณ, ระดมความเห็นจากกรรมการห้องสมุดที่เป็นสูงวัย หรือสอบถามคนใกล้ตัว

กิจกรรมของห้องสมุดสำหรับผู้สูงวัย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • Active คือ ทำงานจิตอาสาในห้องสมุด หรือเป็นวิทยากรถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต
  • Passive คือ หนังสือ, สถานที่นั่งอ่าน, จัดอบรม หรือ Workshop, Computer, Printer, Photocopier

และยิ่งไปกว่านั้นสามารถคิดบริการสำหรับผู้สูงอายุที่แยกตามปัญหาแต่ละด้านได้อีกด้วย เช่น

  • ด้านสายตา พื้นที่นั่งอ่านควรจะมีแสงสว่างมากเป็นพิเศษ, หนังสือมีขนาดอักษรขนาดใหญ่, หนังสือเสียง, แว่นตา หรือแว่นขยาย
  • ด้านหู บริการหูฟังสำหรับหนังสือเสียง/Audio visual media, เพิ่มป้ายบอก Information ที่ชัดเจน
  • ด้านการเดินทาง ร่วมกับชุมชน จัดรถรับ-ส่ง ทำ Book delivery ส่งหนังสือถึงบ้าน
  • ด้านขาดสังคม-สื่อสาร จัดกิจกรรม/workshop บริการพื้นที่นั่งอ่านเพื่อผู้สูงอายุ

และสิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้สูงอายุ นั่นก็คือ ราวจับในห้องน้ำ ทางลาดคู่กับบันได สำหรับเข็นรถเข็น ปุ่ม S.O.S. ในห้องน้ำ และการปฐมพยาบาลผู้สูงอายุเบื้องต้น นอกจากนี้ควรจะมีนวัตกรรมบริการผู้สูงอายุสำหรับอำนวยความสะดวก หรือให้ผู้สูงอายุขอความช่วยเหลือเมื่อยามฉุกเฉินด้วย เช่น ระบบแจ้งขอความช่วยเหลือ, ระบบแจ้งข้อมูล/ประวัติความเจ็บป่วยก่อนเข้าใช้บริการ และระบบติดตามพื้นที่ใช้บริการ

ถึงแม้ว่าห้องสมุดจะยังไม่สามารถปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงบริการได้ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี หากเราชาวห้องสมุดคิดถึงสังคมผู้สูงอายุ และพยายามปรับเปลี่ยนบริการเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้กลุ่มนี้ได้มากยิ่งขึ้น “เพื่อให้ประเทศไทยเป็นกลุ่มผู้สูงวัยมีคุณภาพและมีคุณค่า” จริณไม่ได้กล่าว

สำหรับใครที่อยากฟังการบรรยายแบบเต็ม ๆ สามารถเข้าไปฟังได้ที่ลิงก์นี้เลยค่ะ การบรรยายเรื่อง “ห้องสมุดกับสังคมสูงวัย”

อ้างอิงข้อมูลจาก : เอกสารการบรรยายในหัวข้อ “ห้องสมุดกับสังคมสูงวัย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงรัตติมา จีนาพงษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

จริณ.