สังฆทาน “ผัก” ที่ชุมชนวัดพระบาทห้วยต้ม

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่มีพระภิกษุและสามเณรจำนวนมาก พระภิกษุและสามเณรแห่งนี้ นอกจากการศึกษาทางธรรมแล้ว จะมีกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนกับฆราวาสซึ่งต้องใช้กำลังแรงกายเป็นอย่างมาก เช่น การทำวัตร การกวาดลานวัด การซ่อมแซมวัด การทำนา การเลี้ยงและให้อาหารวัว/ควาย ที่รับจากโครงการไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นต้น เนื่องจากวัดมีพระภิกษุและสามเณรจำนวนมาก แต่ด้วยวัดแห่งนี้ พระภิกษุสามเณรฉันอาหารมังสวิรัติ ด้วยข้อจำกัดของอาหารมังสวิรัติ ปริมาณอาหารจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ประเพณีการบิณฑบาตรของวัดแห่งนี้ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน โดยจะมีการแบ่งพระภิกษุ/สามเณรออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งจะมีการออกบิณฑบาตข้างนอกวัด อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการรับบาตร ณ ศาลาวัดพระพุทธบาทห้วยต้มแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีการใส่บาตรผัก/ผลไม้ เพื่อนำเก็บไว้ให้แม่ครัวของวัดฯ ปรุงอาหารถวายพระภิกษุและสามเณรในวัดต่อไป

การใส่บาตรผัก หรือ สังฆทานผัก เป็นประเพณีตักบาตรผัก/ผลไม้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยจะจัดขึ้นช่วงสาย ๆ ของทุกวันพระ  (มีเฉพาะวันพระ) ในวันพระหลังจากการเสร็จสิ้นการใส่บาตรปกติด้วยอาหารมังสวิรัติในช่วงเช้าแล้ว จากนั้นในช่วงสาย ๆ เวลาประมาณ 9 โมงเช้า ชาวบ้านจะทยอยกลับเข้ามาวัดอีกครั้งเพื่อการทำสังฆทานผัก/ผลไม้ หรือ การใส่บาตรผัก โดยชาวบ้านจะนำผัก/ผลไม้ ที่มีที่บ้านหรือไปหาซื้อตามท้องตลาดกลับมาด้วย

เมื่อได้เวลาการทำสังฆทานผัก ชาวบ้านปกาเกอะญอ จะนำการใส่บาตรโดยเริ่มจากชายสูงอายุ/ผู้อาวุโส เพราะเป็นการให้เกียรติกันโดยเฉพาะเพศชายเพราะถือว่าเป็นผู้นำครอบครัว ตามคำสอนของครูบาวงศ์ แล้วจึงตามด้วยเพศหญิง ดิฉันสังเกตเห็นว่า ชาวบ้านมีการใช้สายตาในการจัดลำดับกันเองอย่างเป็นระบบระเบียบเหมือนกับการใส่บาตรปกติในช่วงเช้า โดยชาวบ้านจะนําผัก/ผลไม้ใส่ไว้ในภาชนะที่มีการนํามาวางเรียงไว้ข้างหน้าอาสน์สงฆ์แต่ละรูป พระสงฆ์จะประกอบพิธีทางศาสนา มีการเทศนาธรรม การกรวดน้ำและกราบลาพระตามลำดับ เป็นอันเสร็จพิธีชาวบ้านก็แยกย้ายกันกลับบ้านไปประกอบสัมมาอาชีพ