Digital Content…มาเป็นนักเขียนกันเถอะ

ดิฉันตั้งท่าเงื้อง่า มาหลายเพลา ว่าจะๆ เขียน blog ขาดแต่ฤกษ์ยาม จึงยัง ยัง และยัง

วันนี้ ขอใช้โอกาสสักนิด
เรื่องของเรื่องคือ มีโอกาสเข้าร่วมอบรมโครงการ Digital Content
ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับบุคลากรสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่สำคัญ คือ เปิดกว้างให้เข้าร่วมตามความสมัครใจ
สว ยั่งอิฉันเห็นหัวข้อน่าสนใจก็ไม่รีรอด้วยเห็นว่าเป็นการเพิ่มองค์รู้
ที่มีอยู่น้อยนิดแค่เพียงพอแก่การทำมาหารับทานได้ประมาณหนึ่ง

นอกจากประเด็นของการอบรมที่ดิฉันสนใจแล้ว วิทยากร คือ
คุณนิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล ผู้นิยามตัวตนของเธอว่าเป็น
สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่

เธอมีผลงานเขียนฝากอยู่บนก้อนเมฆ The Cloud แมกกาซีนออนไลน์
ซึ่งบอกเล่าตัวหนังสือของพวกเขาว่าเป็น Magazine on Cloud
ที่นำเสนอด้วยวิธีคิด เสน่ห์ และพลัง แบบนิตยสาร
และเป็นชุมชนนักเล่าเรื่องที่สนุกกับการเล่าผ่านช่องทางต่างๆ
ทั้งสื่อดั้งเดิม และสื่อใหม่ เปรียบเสมือนเมฆที่กลายร่างได้หลายสถานะ
ก็นับเป็นอีกสิ่งที่ชวนให้สนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ด้วยดิฉันมิได้เห็นตัวโครงการ แต่ก็คาดเดาเอาว่า
การอบรมครั้งนี้อาจจะมีวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่ง
เพื่อพัฒนาเสริมทักษะให้กับบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
น้องๆ รุ่นใหม่ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้าง content
ตามโครงการ CreativeMatters ซึ่งสำนักฯ เป็นผู้ดำริโครงการขึ้น

เนื้อหาการอบรมโดยทั่วไปว่าด้วยหลักการเขียน content หรือ บทความ
ที่เราคุ้นเคยแต่ในวัยเยาว์ก็คือการเขียนเรียงความ
ที่ต้องเริ่มด้วยการวางโครงเรื่องเพื่อเป็นกรอบในการเขียน
ขณะที่ตัวผู้เขียนเองนั้น ควรจะค้นหาตัวตนของตนเองก่อนจะเริ่มลงมือ
โดยดูความสนใจ ตลอดจนกำหนดบุคลิก รวมถึงสไตล์การเขียนของตนเอง

ทั้งนี้ ประสบการณ์ในการอ่านของนักเขียนก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ
วิทยากรได้ยกตัวอย่างความสนใจของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย
นับแต่การอ่านวรรณกรรมเยาวชน นวนิยายวัยรุ่น การ์ตูนญี่ปุ่น
จนเมื่อค้นพบตัวเองว่าสนใจงานด้านสถาปัตย์กระทั่งได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย
การอ่านเชิงวิชาการก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว กับทั้งเพิ่มความหลากหลาย
ในการอ่านหลากแนวมากยิ่งขึ้นตามหน้าที่การงานซึ่งเป็นไปในเชิงธุรกิจ

การสั่งสมเสบียงอ่านแต่เยาว์วัย ช่วยให้ตกผลึกคิดอ่านเมื่อเติบใหญ่ได้เป็นอย่างดี
โดยวิทยากรสามารถจัดองค์รู้จากการอ่านของตนเองได้ถึง 7 กลุ่ม
ซึ่งดิฉันเก็บฟังไม่ทัน จดความไม่ครบ…พี่-น้อง เมตตาก็ช่วยกระซิบกันดัง ๆ ได้นะคะ
ที่พอทันจับความได้ในส่วนความเห็นของวิทยากรประมาณว่า
การจัดกลุ่มหมวดหมู่การอ่านของวิทยากรช่วยตกผลึกคิดอ่าน
ช่วยให้มีมุมคิดในการเขียนงานที่ไม่ขาวหรือดำ
ไม่จำเป็นต้องมีเพศซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ควรระวังไม่ให้ส่งผลกระทบ

ตัวอย่างกลุ่มก้อนที่แยกตามองค์รู้ในเซคชั่น c ของวิทยากร
คือประเภท non fiction ทำให้เกิดมุมคิดว่าการที่จะให้ผู้อ่าน
ติดตามเรา อ่านไปเรื่อย ๆ อ่านยาว ๆ ได้นั้น
นักเขียนต้องมีแบคกราวด์เป็นเสบียงอย่างเพียงพอระดับหนึ่ง

ที่จะสื่อให้ผู้อ่านมองเห็นภาพที่เราสื่อสารอย่างชัดเจน
การพรรณนาจึงถูกนำมาใช้ ช่วยให้เกิดความคิดในส่วนต่างๆ ได้

ขณะที่ บากิ เป็นการ์ตูนไม่เน้นการพูด จะทำอย่างไรให้คนอ่านเห็นจังหวะ
เห็นบุคลิกที่สำคัญของการ์ตูน คือ การพูดน้อย แต่ต่อยหนัก
ต้องมีจังหวะคมๆ ในงานเขียน เช่น การต่อยของการ์ตูนที่ไม่จำต้องมีคำบรรยาย
นักเขียนก็ต้องรู้ว่าการต่อยจะต่อยอย่างไร จังหวะเป็นอย่างไรที่จะทำให้รู้ว่ามันต่อยกันแรง

mood & tone ในการตีโจทย์เรื่องที่จะเขียนตัวอย่างกรณีการสัมภาษณ์
เมื่อสัมภาษณ์บุคคลจะรู้ว่าอารมณ์ที่ได้รับการสื่อมาจากผู้ให้สัมภาษณ์ควรเล่าอะไร
เช่น ตึกเก่า เป็นความทรงจำ จะผันตัวอย่างไรให้กลายเป็นเชิงธุรกิจ
การปัดฝุ่นโกดังเก็บรองเท้ารุ่นคุณปู่ปรับแปลงโฉมเป็นลานสเก็ต
โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเป็น Land mark ของย่านเจริญกรุง จะทำอย่างไร

นอกจากนี้ วิทยากรได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการเขียนเรื่องต่าง ๆ เช่น
กาดเกรียงไกรมาหามิตร จิบกาแฟในหลองข้าว
ใต้เงาโรงงานผลไม้ดอง ซื้อของคราฟต์จากกาดชุมชน
ซึ่งเป็นเรื่องของนักธุรกิจที่ย้ายตัวเองจากกรุงเทพฯ ไปอยู่เชียงใหม่
ทำอย่างไรที่จะสื่อให้เห็นความคมคิดของเจ้าของธุรกิจ
ที่คิดพลิกโฉม เกรียงไกรผลไม้ดอง ธุรกิจที่ไม่มีทายาทสืบต่อ
ให้กลับฟื้นอดีตที่ร่วงโรย กลายเป็น Lan mark ของเชียงใหม่

เรื่องของสวนสาธารณะ ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปแล้ว ต้องอุทาน ว๊าวๆ อย่างเดียว
แต่อาจเป็นที่ที่อบอุ่น ทำให้คนที่เคยอยู่เคยไปอยากกลับมาเยือน
คนที่ยังไม่เคยไปอยากสัมผัสอยากไป ทำให้เป็น public space ที่ดี
เป็นสวนส่วนรวม เป็นสวนของส่วนร่วม

นอกจากนี้ ยังเล่าประสบการณ์ ในการสัมภาษณ์บุคคล
เช่น สัมภาษณ์ผู้ออกแบบสถานที่ให้ผู้สูงอายุ
สัมภาษณ์นักธุรกิจ ที่พื้นฐานชอบการเล่นกีฬา x-treme
ซึ่งจะมีบุคลิกต่างไปจากคนแรก คนนี้ออกแนวสนุกสนาน
หรือ งานที่เขียนถึงที่พักผ่อนบรรยากาศสบาย ๆ ตั้งบนเขาทางเหนือ
อารมณ์ของงานเขียนก็จะเป็นแบบผ่อนคลายใช้ชีวิตชิว ๆ ในธรรมชาติ

หรืองานเขียนเกี่ยวกับอ่างแก้ว
เรื่อง ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช.พื้นที่สาธารณะที่ใครๆ ก็ ตกหลุมรัก
ที่ต้องค้นหาว่าทำไมผู้คนจึงตกหลุมรักอ่างแก้ว คำตอบที่ได้ก็ประมาณว่า

อ่างแก้วตั้งอยู่มายาวนานกว่า 60 ปี เป็นทั้งที่เดินเล่น ที่ออกกำลังกาย
จนปัจจุบันคนรุ่นใหม่ก็ยังคงมาใช้เพื่อเต้นโคเวอร์ ซึ่งเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ของคนสองวัย สองเจนเนอเรชั่น ที่มาใช้และหลงรักในสถานที่แห่งเดียวกัน

เรื่อง good mountain นอนพักนับดาวในงานคราฟที่แม่ริม
หรือเรื่องของบริษัทผลิตเสริฟบอร์ด ที่วันใดมีคลื่นลมแรง
บริษัทก็จะให้พนักงานหยุดเว้นว่างการทำงานให้ไปเล่นเสริฟ

ในช่วงท้าย วิทยากรได้ยกตัวอย่างการสัมภาษณ์ Jump Master
เรื่อง Jump Master Skate Haus ลานสเก็ตใหม่ในโกดังเก็บรองเท้าอายุร่วมร้อยปีย่านเจริญกรุง
โดยเทคนิคการเขียนงานของเขา คือ เมื่อสัมภาษณ์แล้วต้องมา fill in the blank ด้วยตัวเอง
การถอดคำสัมภาษณ์ของเขาจึงมีเครื่องหมายไฮไลท์อันหลากสี
ในแต่ละสีล้วนมีความหมาย เช่น สีความคิด แตกยอดของคนสัมภาษณ์ คือ ผู้เขียน
สีความคิด ของเจ้าของสถานที่ ซึ่งข้อดีของการไฮไลท์แยกสีนี้
ช่วยให้ความคิด ตลอดจนเรื่องราวไม่กระจัดกระจาย ตัดทอนความซ้ำซ้อนได้
และที่สำคัญ mood & tone ที่ใช้ในแต่ละบทความ
ก็มีความแตกต่างกันไปตามประเด็นที่จะนำเสนอ

เป็นอย่างไรบ้างคะ ฟังประสบการณ์อันหลากหลาย
บอกเล่าเทคนิคอย่างมืออาชีพของวิทยากรมาถึงบรรทัดนี้แล้ว
ประกายไฟของน้อง ๆ คงลุกโชน หรือบางคนอาจจะยังเริ่มไม่ออก
อยากจะบอกกับน้อง ๆ ว่า เริ่มจากเรื่องที่เราถนัด เรื่องที่เราสนใจค่ะ
เพราะจะทำให้สามารถสื่อสารจากข้างในตัวตนของเรา
เป็นการสร้างงานด้วยความรักในเรื่องที่ต้องการบอกเล่า
ซึ่งจะสามารถส่งต่อความรักไปยังผู้ที่ได้อ่านได้สัมผัสแน่นอนค่ะ