วิถีพุทธในหมู่บ้านห้วยต้ม@วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ดิฉันได้มีโอกาสรู้จัก “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” จากกลุ่มกัลยาณมิตรบนภูกระดึงโดยบังเอิญ ในระหว่างทางเดินขึ้นภูกระดึง เพื่อน ๆ กลุ่มนี้ กำลังทำงานเกี่ยวกับการถ่ายทำสารคดี ซึ่งในวันนั้นพวกเขาได้มาถ่ายทำเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตลูกหาบ@ภูกระดึง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางกัน  โดยเพื่อนในกลุ่มดังกล่าวได้แนะนำว่า ชอบท่องเที่ยวสไตล์นี้ต้องไม่พลาด หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดลำพูน คือ บ้านห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ ทุกคนในชุมชนมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก รับประทานมังสวิรัติ สามารถพักอาศัยกับชาวบ้านที่เปิดเป็นโฮมสเตย์ได้

หลังจากนั้นดิฉันได้หาข้อมูลเพื่อการเดินทางไปเยี่ยมเยือน โดยโทรศัพท์ประสานงานการเดินทางกับคุณวิมล สุขแดง 062-4209075 ซึ่งเป็นประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนพระบาทด้วยต้ม  ในช่วงเวลาที่แจ้งว่าจะเดินทางไปนั้น มีปัญหาขัดข้องบางประการโดยชาวบ้านไม่สามารถรับรองเราได้ในช่วงเวลานั้น เนื่องจากเป็นช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย จึงได้แจ้งว่าอาจจะต้องพักโรงแรม/รีสอร์ท ซึ่งหากออกไปจากหมู่บ้านประมาณ 7 กิโลเมตร แต่จะมีรถไปรับมาในชุมชน พวกเราก็ยินดี แต่เมื่อใกล้วันนัดหมาย ทางตัวแทนชุมชน /เจ้าของบ้านพัก (น้องอัปสรสวรรค์) ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า ได้บ้านพักโฮมสเตย์แล้วนะคะ เนื่องจากรู้สึกเห็นใจนักท่องเที่ยว เห็นถึงความตั้งใจมา อยากให้ได้สัมผัสบรรยากาศในชุมชนอย่างใกล้ชิด พวกเราเองรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในช่วงวันหยุดยาว 28-31 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาดิฉันและเพื่อน ๆ ได้เดินทางไปชุมชนแห่งนี้

ชุมชนบ้านห้วยต้ม วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พวกเราเดินทางโดยการนั่งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสายเหนือ (หมอชิต-แม่ฮ่องสอน) จุดลง คือ หน้าธนาคารออมสิน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อรถเดินทางใกล้จะถึงจุดหมาย ขณะนั้นเวลาประมาณตี 3 กว่า ๆ ทางคุณอัปสรสวรรค์ ก็โทรศัพท์มาแจ้งว่าออกมารอแล้ว ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการต้อนรับโดยเจ้าบ้านออกมารอพวกเราล่วงหน้าประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง พอถึงบ้านพักก็อาบน้ำเตรียมตัวไปใส่บาตรเช้า โดยเจ้าบ้านจัดเตรียมชุดอาหารใส่บาตรพร้อมอาหารเช้าให้เรียบร้อย โดยบ้านที่เราได้มีโอกาสพักอาศัยนี้ เป็น 1 ใน 14 บ้านชาวปกาเกอะญอ ที่เกิดความศรัทธาในครูบาวงศ์ (หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) ขณะที่ท่านออกธุดงค์ตามป่าเขา ซึ่งแต่ก่อนชาวปกาเกอะญอจะนับถือผีไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ครูบาวงศ์ได้หาโอกาสสอนพุทธธรรมให้กับพวกชาวเขาด้วยความเมตตา โดยเฉพาะในเรื่องศีล 5 คือการไม่เบียดเบียนผู้อื่นในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็ตาม จนชาวเขาเกิดความศรัทธา เคารพนับถือและเชื่อฟังในคำสั่งสอนของครูบาวงศ์เป็นอย่างยิ่ง  ต่อมาครูบาวงศ์ได้มีการพัฒนาวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ชาวปกาเกอะญอได้อพยพติดตามครูบาวงศ์ออกจากป่าเขามาปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่ใกล้ ๆ บริเวณวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม โดยเริ่มจาก 14 หลังคาเรือน จนปัจจุบันมีการอพยพของชาวปกาเกอะญอจากหลายจังหวัด เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก เป็นต้น จนกระทั่งในปัจจุบันมีประมาณ 2,000 กว่าหลังคาเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้  ครูบาวงศ์ได้สอนไว้ว่า การที่เราเบียดเบียนชีวิตสัตว์ สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเรา เราก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา ถ้าเรากินมังสวิรัติก็จะไม่ได้เบียดเบียนใคร จนเป็นที่มาของหมู่บ้านทานมังสวิรัติ  ชาวปกาเกอะญอมีวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพแบบเรียบง่าย ทำการเกษตร งานฝีมือ จักสาน ทอผ้า จะไม่มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อการฆ่า/การค้า  ในปัจจุบันความเจริญในด้านต่าง ๆ ได้เข้าถึงชุมนแห่งนี้ ส่งผลให้วิถีชุมชนเปลี่ยนแปลงไป  ถึงแม้ชาวบ้านส่วนน้อยจะลดวิถีการทานมังสวิรัติลดลงไปบ้าง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคงสืบสานคำสอนของครูบาวงศ์อย่างต่อเนื่อง

ในทุก ๆ เช้า ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ  และในตอนสาย ๆ ก็จะมีการตักบาตรผัก การตักบาตรนี้จะทำเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะในวันหยุดหรือวันพระใหญ่ จะมีชาวบ้านพากันมาทำบุญมากกว่าในวันปกติ เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ชาวบ้านจะทยอยมาที่วัดพระบาทห้วยต้ม แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง คือ ชุดปกาเกอะญอ มารวมตัวกันที่ศาลาใส่บาตร จะนั่งกันเป็นกลุ่มแบแยกชาย/หญิงหลังจากนั้นแต่ละคนจะกราบขอขมาพระพุทธ จากนั้นจะถวายดอกไม้ อาหารทั้งคาว/หวาน และน้ำที่เตรียมมา โดยวางไว้ใส่ถาดเพื่อเตรียมถวายพระพุทธและพระสงฆ์  เวลาประมาณ 07.00 น. พระสงฆ์จะลงมายังศาลาใส่บาตร นำโดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่จะนั่งบนอาสนะหัวแถว พระสงฆ์สวดมนต์ เมื่อถึงเวลาใส่บาตรข้าวสวยและข้าวเหนียวจะมีการปฏิบัติตามประเพณี คือ นำโดยผู้ชายที่มีอาวุโสที่สุดจะเป็นผู้นำใส่บาตร ไล่เรียงไปเรื่อย ๆ จนถึงเด็กผู้ชาย จากนั้นจึงเริ่มเป็นผู้หญิงที่มีอาวุโสที่สุดไปจนถึงหญิงที่แต่งงานแล้ว หญิงสาวจนจนถึงเด็กผู้หญิง ทุกคนจะต่อแถวใส่บาตรกันอย่างเป็นระเบียบ เมื่อตักบาตรกันครบทุกคนแล้วจึงค่อยกรวดน้ำรับพร และกราบลาพระเป็นอันเสร็จพิธีตักบาตรในช่วงเช้า