เพชรบูรณ์มีที่เที่ยวมากกว่าที่คิด

เคยบอกกับลูกไว้ว่า ถ้าอาจารย์เชษฐ์จัดทริปไปไหน ขอไปด้วยคนนะ แล้วเมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2563  อาจารย์จัดทัวร์โบราณคดีไปเพชรบูรณ์ ทีแรกคิดว่าจะเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่เมื่อไปที่นัดหมาย ผู้ร่วมเดินทางมีถึง 29 คน รวมวิทยากรอีก 2 เป็น 31 คน คุยกันแล้ว ทุกคนเป็นแฟนคลับของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี  และศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์  อยู่ในกลุ่มโบราณคดีสัญจรกันทั้งนั้น …ความรู้สึกทีแรกว่า เราก็ว่าเราชอบ แต่พอไปสัมผัสกับผู้คนกลุ่มนี้ ที่มาจากหลากหลายอาชีพ หลายช่วงอายุ ทำให้รู้สึกว่าเรายังตื้นยังด้อยอยู่มาก เขาสนใจกันจริงจัง อ่านหนังสือมาก่อน อาจารย์บรรยายแล้วมีข้อซักถาม แทบไม่เห็นคนหนีไปถ่ายรูปเลย มีก็รีบถ่ายแล้วรีบเข้ากลุ่มเพราะกลัวจะไม่ทันได้ฟังอาจารย์บรรยาย

วันแรก วิ่งรถไปทิศเหนือของเมืองก่อนเลย ไปที่หล่มเก่า บนรถเจ้าของทัวร์บรรยายว่า เพชรบูรณ์ไม่ได้มีแค่ภูทับเบิก เขาค้อ หรือวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว หรือน้ำหนาวเท่านั้น แต่ทีเพชรบูรณ์เราจะพบโบราณสถานตั้งแต่สมัยทวาราวดี สมัยขอมโบราณ สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยาและล้านช้าง จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว เรานั่งรถกันยาวนานมาก แวะที่แรกก็บ่ายแล้ว คือที่บ้านน้ำเฮี้ยะ ไปที่วัดจอมแจ้ง เป็นวัดของชาวไทหล่ม สร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยศิลปะล้านช้าง ทีวัดมีหอไตรเสาเดียวกลางน้ำ เก็บคัมภีร์ทางพุทธศาสนาให้พ้นจากมดปลวก หอไตรมีขนาดเล็ก สี่เหลี่ยมจตุรัส เท้าแขนเป็นรูปพญานาคทั้งสี่เสา

ออกจากวัดจอมแจ้งไปวัดศรีภูมิหรือวัดใหญ่บ้านติ้ว สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยชาวลาวหลวงพระบาง กราบพระเจ้าใหญ่หลักคำ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยศิลปะล้านช้าง องค์พระน่ะสวยมากกกกก แต่วิหารทีท่านประดิษฐานนั้นทรุดโทรม จากนั้นไปวัดศรีวิชัย มีวิหารประดิษฐานพระเจ้าใหญ่ ศิลปะล้านช้างปางมารวิชัยซึ่งด้านหลังมีอูบมุง หรือกู่มีพระพุทธรูปขนาดเล็กเสมือนพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระคันธกุฎีด้วย วิหารก็เก่าแก่เช่นเดียวกัน แต่กำลังบูรณะอยู่  ต่อจากนั้นไปวัดมหาธาตุ เป็นวัดประจำเมือง มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ตามแบบศิลปะสุโขทัย นมัสการหลวงพ่อเพชรมีชัย ศิลปะพระอู่ทองสมัยอยุธยาตอนต้น

วัดสุดท้ายของวันนี้ คือวัดไตรภูมิ ที่ประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชา พวกเราได้ไหว้องค์จริงด้วย พระพุทธมหาธรรมราชาเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิศิลปะลพบุรี  ตามตำนานกล่าวว่าพบในแม่น้ำป่าสักและเมื่ออัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ พระพุทธรูปยังแสดงปาฏิหาริย์หายไปและกลับไปอยู่ในน้ำทีเดิม จึงเกิดเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องทำพิธีอุ้มพระพุทธรูปดำลงไปในน้ำแล้วโผล่ขึ้นมาจนครบ 4 ทิศ ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี พวกเราไหว้พระแล้วทำบุญกับเจ้าอาวาสที่ไม่ค่อยสบาย แต่ยังรอเปิดศาลา ให้พวกเราได้ไหว้องค์จริง ท่านบอกว่า ตอนนี้ผู้คนที่มาเพชรบูรณ์ไม่ค่อยได้นึกถึงวัดโบราณ ๆ  ส่วนใหญ่จะไปภูทับเบิก วัดผาซ่อนแก้ว และเขาค้อ พวกเราออกจากวัดไตรภูมิก็เกือบสองทุ่มแล้ว แต่ละวัดที่เราไปในวันนี้ มีพระไม่เกิน  5 รูปสักวัดเลย…

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วันรุ่งขึ้น เดินทางกลับลงไปที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ที่มีพื้นที่มากกว่าสองพันไร่ เป็นแหล่งอารยธรรมที่พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาเป็นเมืองที่รุ่งเรืองในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ในสมัยทวาราวดีจนถึงสมัยขอมโบราณ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้พบทำเนียบเก่าบอกรายชือหัวเมือง พบชื่อ เมืองศรีเทพ ปรากฏอยู่ แต่ไม่มีใครทราบว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ที่ใด ต่อมาได้ทรงค้นพบสมุดดำ กล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 2 ไปตามหัวเมืองต่าง ๆ มีเส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงสันนิษฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางลำน้ำป่าสัก  ดังนั้นเมื่อเสด็จเมืองเพชรบูรณ์ในปี 2447 จึงทรงซักถามถึงเมืองโบราณ และได้รับข้อมูลว่ามีเมืองโบราณขนาดใหญ่อยู่ในป่าแดงใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี  เมื่อสอบถามกับพระยาประเสริฐสงคราม ได้ความสรุปว่า ชื่อเมืองศรีเทพเป็นชื่อเก่าของเมืองวิเชียรบุรี  เมืองศรีเทพแบ่งออกเป็นสองส่วน คือเมืองใน และเมืองนอก มีโบราณสถานอยู่มากทั้งสองเมือง สถานที่แรกที่เราแวะคือ เมืองนอก มีเขาคลังนอก เป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในศิลปะสมัยทวาราวดีเท่าที่ค้นพบในประเทศไทย มีลักษณะเป็นสถูปก่อด้วยศิลาแลง แต่ปัจจุบันพังทลายจนเกือบหมด มีปรางค์ฤาษี สระแก้ว

    

 

ต่อจากนั้นจึงเข้าสู่เมืองใน ดูโบราณสถานเขาคลังใน เป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณศรีเทพ สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ในพุทธศาสนาในสมัยทวาราวดีตอนต้นที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 มีลักษณะเป็นฐานศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดโขลงสุวรรณคีรีในเมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี ยังปรากฏลายปูนปั้นสมัยทวาราวดีที่ติดอยู่ที่ฐาน มีอายุเก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ต่อจากนั้นไปดูปราค์สองพี่น้อง เป็นปราสาทอิฐ 2 หลัง สันนิษฐานว่าเป็นของพระศิวะและพระนางปารวตี (พระอุมา) เป็นศิลปะร่วมสมัยศิลปะบาปวนในกัมพูชา

การทัศนศึกษาแบบนี้เราไม่ได้เห็นแต่ก้อนศิลาแลง ก้อนอิฐ รูปยักษ์ ทับหลัง แต่เราได้เห็น timeline บางส่วนของผู้คนในเมืองโบราณ เวลาไปเที่ยวแบบนี้เราคอยจะมีความรู้สึกว่าได้เห็นผู้คนในสมัยโบราณกำลังเดินกันขวักไขว่ กำลังแบกหิน กำลังแกะสลัก กำลังบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ผู้คนที่เราจินตนาการถึงแตกต่างกับผู้คนที่เราจินตนาการถึงที่เสียมเรียบหรือนครวัด หรือผู้คนที่เมืองพุกาม แต่สนุกนะ และหวังอยากให้เพื่อน ๆ ไปเที่ยวแบบนี้ดูบ้าง