ในการจัดโครงการทับแก้วบุ๊คแฟร์ ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ทุกครั้ง จะได้รับมอบหมายให้อยู่ในส่วนงานการเงินและพัสดุ เพื่อดำเนินงานในเรื่องของเอกสาร การติดต่อ/ประสานงานการจัดซื้อและจัดจ้างต่างๆ ของโครงการฯ ในการทำเอกสารทางการเงินของงานจ้างเหมา ที่มีมูลค่า 10,000 บาท นั้น จะต้องมีการออกใบสั่งจ้างเพื่อเป็นข้อตกลงระหว่างผู้จ้าง และผู้รับจ้าง และต้องมีการเรียกเก็บอากรแสตมป์จากผู้รับจ้าง เพื่อติดในเอกสารใบสั่งจ้าง เพื่อให้ใบสั่งจ้างนั้นสมบูรณ์
แล้วอากรแสตมป์ คืออะไร มีหน้าตาแบบไหน วันนี้จะมาแนะนำให้ฟังค่ะ
มีหลายคนที่อาจเข้าใจผิดระหว่าง อากรแสตมป์ กับ แสตมป์ ว่าใช้ได้เหมือนกัน อากรแสตมป์แม้จะเรียกว่าแสตมป์แต่ไม่สามารถซื้อได้ที่ไปรษณีย์หรือร้านค้าทั่วไป และอากรแสตมป์ไม่ใช่ดวงตราไปรษณียากรเราจึงไม่สามารถนำไปปิดซองจดหมายได้
อากรแสตมป์ (Stamp Duty) เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการกระทำ ตราสาร 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เช่น ตราสารเช่าที่กับโรงเรือน เช่าซื้อทรัพย์สิน จ้างทำของ กู้ยืมเงิน ฯลฯ อากรแสตมป์เป็นภาษีอากรที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร โดยคำว่า กระทำ หมายความว่า การลงลาย มือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปัจจุบันอากรแสตมป์ จะมี 3 แบบ 3 มูลค่า คือ
- สีน้ำเงิน มูลค่า 1 บาท
- สีเขียว มูลค่า 5 บาท
- สีแดง มูลค่า 20 บาท
ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ คือ ผู้รับจ้าง โดยผู้ว่าจ้างจะต้องเรียกอากรแสตมป์จากผู้รับจ้าง คิดจำนวนอากรแสตมป์จากทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท จะต้องเสียอากรแสตมป์ 1 บาท และติดอากรแสตมป์ตามมูลค่าของงานจ้าง โดยไม่ต้องนำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมด้วย เช่น ถ้างานจ้างมีมูลค่า 50,000 บาทและมีมูลค่าเพิ่ม (vat) อีก 3,500 บาท ให้ปิดอากรแสตมป์เป็นเงิน 50 บาทเท่านั้น ไม่ใช่ 54 บาท และเมื่อติดอากรแสตมป์ในใบสั่งจ้างแล้วจะต้องทำการขีดฆ่าอากร เพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก
ข้อควรรู้เกี่ยวกับอากรแสตมป์
• อากรแสตมป์เป็นเพียงเครื่องมือในการจัดเก็บภาษี ไม่ใช่กฎหมาย
• สามารถซื้ออากรแสตมป์ได้ที่กรมสรรพากร
• สัญญาปากเปล่าไม่มีหนังสือ ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ (อากรแสตมป์ จัดเก็บจากการทำสัญญาเป็นหนังสือเท่านั้น)
• การไม่เสียอากร ไม่ได้ทำให้ตราสารนั้นไร้ผลทางกฎหมาย แต่มีผลทำให้ตราสารหรือตราสารนั้นใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้
• อากรแสตมป์ไม่ใช่ดวงตราไปรษณียากร ไม่สามารถนำไปใช้ปิดซองจดหมายได้
ข้อมูลจาก : กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/305.html