การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกของศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2558 ดิฉันทราบข่าวการพบซากชิ้นส่วนโบราณวัตถุจากลำน้ำบึงกุ่มบึงบางช้าง จากนายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดี (ปัจจุบันถึงแก่กรรม) การพบโบราณวัตถุครั้งนั้น คณะของเราลงพื้นที่ไปสำรวจและเก็บซากชิ้นส่วนต่าง ๆ ตลอดจนพยายามประสานไปยังหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่และรอเวลาให้เข้ามาดำเนินการ
ล่วงมาถึง พฤษภาคม 2566 กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร โดยการประสานงานผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้เดินทางมาสำรวจเก็บข้อมูลซากเรือโบราณ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ระหว่างรับโอนจากทายาทของนายไพบูลย์ โดยขณะนั้นดิฉันได้ฝากเก็บ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมภูมิภาคตะวันตก กองโบราณคดีใต้น้ำให้ความเห็นว่าซากเรือลำนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งจากลักษณะเทคนิคการต่อเรือ และอายุที่สัมพันธ์กับเมืองนครปฐมโบราณ โดยได้อธิบายว่าเป็นเรือโบราณแบบ Lashed-Lug boat
ต่อมาในเดือน มิถุนายน 2566 ทายาทนายไพบูลย์ พวงสำลี โดยการประสานงานของศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก ได้มอบชิ้นส่วนซากเรือโบราณทวารวดี คือ เรือผูกแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Lashed-Lug boat เพื่อจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
ในปีเดียวกันนั้น โครงการ MAHS แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต โดยผู้ประสานงานประจำประเทศไทย ดร.อภิรดา โกมุท ได้ขอความร่วมมือในการลงสำรวจพื้นที่แหล่งเรือจมดังกล่าวข้างต้น ซึ่งนับเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี ณ บึงกุ่มบึงบางช้าง นครปฐม โดยใช้เทคนิค LiDAR (Light Detection and Ranging) พร้อมเก็บข้อมูลบันทึกภาพโบราณวัตถุที่พบจากแหล่ง เพื่อนำไปศึกษาและกำหนดอายุ
ภายหลังจาก ดร.อภิรดา ได้ลงพื้นที่สำรวจและจัดทำข้อมูล ดิฉันได้รับการประสานงานจากผู้ประสานงานของ Dr. Jun Kimura Junior associate professor นักโบราณคดีทางทะเล อาจารย์ ประจำภาควิชาอารยธรรมทางทะเล มหาวิทยาลัยโตไก ซึ่งท่านมาประชุมที่เมืองไทยได้ ติดต่อเพื่อเข้าเยี่ยมชมพื้นที่แหล่งเรือจม บึงกุ่มบึงบางช้าง นครปฐม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
และขณะนี้ ทางโครงการ MAHS แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้กำหนดพื้นที่นครปฐมเป็นแหล่งสำรวจศึกษาเพิ่มเติมขึ้นอีกแหล่ง พร้อมนี้ได้ให้ความอนุเคราะห์บันทึกภาพซากชิ้นส่วนโบราณวัตถุสะสมของนายไพบูลย์ พวงสำลี เพื่อจัดทำทะเบียนตามระบบเพื่อสะดวกต่อผู้สนใจศึกาาค้นคว้าต่อไป
นอกจากความร่วมมือทางด้านแหล่งโบราณคดีในนครปฐมแล้ว ศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตกยังได้รับเกียรติเข้าร่วมงานกับองค์กรภายนอก กล่าวคือ
ร่วมเป็นวิทยากรในการจัดแสดงนิทรรศการ “” กับสถาบันราชภัฎนครปฐม โดย ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ เรื่อง การเสวนาวิชาการ “ทวารวดีเมืองท่าการค้าและเมืองลุ่มน้ำที่สำคัญในอดีต” และวิทยากรร่วม การเสวนาวิชาการ เรื่อง “เมืองนครปฐมใต้ร่มฉัตรกรุงรัตนโกสินทร์” ณ เซ็นทรัล สาขานครปฐม
และเป็นตัวแทนหน่วยงาน ร่วมเป็นหน่วยงานภาคีเครีอข่าย ให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นโครงการ “ทวารวดีมีชีวิตที่นครปฐม” กับสถาบันราชภัฎนครปฐม