คุณป้าข้างบ้าน

เมื่อผู้คนต้องอดทนกับคำถามอย่างเอาใจใส่ของคนที่อยู่ข้างบ้านแบบชีวิตจริง ถึงเรื่องความเป็นอยู่คือนานา ซึ่งไม่อยากตอบเพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา บางครั้งคนในครอบครัวเช่นแม่ของบางบ้านก็ต้องหาเรื่องไป “ขิง” กับป้าข้างบ้าน เพราะบาดเจ็บกับคำถามมาก่อน

แปลกคือทำไมจึงเป็น ป้า ไม่ค่อยเป็น ลุง ทั้งนี้เพราะเป็นความเชื่อ หลักฐานนี้ได้จากบทความใน BBC ที่แปลมาจากผลงานวิจัยบอกว่า “คนส่วนใหญ่มักมีความเชื่อที่บอกต่อ ๆ กันมาว่า เพศหญิงชอบซุบซิบนินทามากกว่าเพศชาย ชาวบ้านที่มีการศึกษาน้อยและยากจนชอบจับกลุ่มนินทากันมากกว่าคนร่ำรวย ส่วนคนแก่วัยทองก็มักจะปากอยู่ไม่สุขยิ่งกว่าคนหนุ่มสาว ความเชื่อเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริงด้วยวิธีทดสอบทางวิทยาศาสตร์” ส่วนผลของงานวิจัยอ่านแล้วสนุกดีเพราะบอกว่า “ทีมผู้วิจัยพบว่าไม่มีอาสาสมัครคนใดไม่เคยนินทา เลยแม้แต่คนเดียว และโดยเฉลี่ยแล้วกลุ่มทดลองใช้เวลาในการนินทาราว 52 นาทีต่อวัน จากเวลาที่ตื่นอยู่ทั้งหมดวันละ 16 ชั่วโมง” อ่านบทความนี้ต่อได้ที่ https://www.bbc.com/thai/international-48331979 เมื่อหลายปีก่อนพี่เคยเขียนเรื่องการนินทาว่าเป็นการจัดการความรู้ ลองอ่านดู

ส่วนเรื่องคุณป้าข้างบ้านเมื่อไม่นานนักพี่ได้เล่าให้น้อง ๆ ฟังว่า เวลากลางวันที่บ้านพี่จะได้คุณป้าข้างบ้านช่วยดูแลว่าใครไปใครมา เหตุการณ์นี้พบเมื่อกลับไปบ้านในตอนเที่ยงเนื่องจากลืมของไว้ คุณป้าเห็นมีรถมาจอดจึงเดินชะโงกออกมาดูแล้วบอกว่า… นึกว่าใครมาเปิดบ้านตอนกลางวัน พี่รู้สึกดีที่มีคนดูแล ส่วนการถามถึงเรื่องส่วนตัวโดยเฉพาะลูกและสามี เมื่อป้าถามมาพี่ก็ถามกลับ ไม่โกงกัน 5555 เข้าใจว่าหมดเรื่องคาใจที่สงสัย เพราะบางเรื่องป้าก็ไม่อยากตอบเช่นเดียวกับตัวเรา หลัง ๆ บทสนทนาจึงเป็นเรื่องของสุขภาพว่าไปหาหมอที่ไหน เป็นเรื่องน้องหมาที่เลี้ยงกัน และต่างเป็นเพื่อนบ้านที่ดี พี่เคยพูดว่าคุณสมบัติของการทำงานอย่างหนึ่งคือ เราต้องเป็นสายเผือก เราต้องเป็นคุณป้าข้างบ้าน 🤪 เพราะทำให้ รู้จักเขารู้จักเรา

แต่ทั้งคุณป้าข้างบ้านหรือสายเผือก ก็ต้องนำมาใช้อย่างระมัดระวัง มีเอนเนอจี้ของความอยากรู้อยากเห็นในเชิงบวกที่เป็นคุณประโยชน์ต่อชีวิต วันก่อนมีการพูดและแชร์ไอเดียเรื่องความเป็นวิชาชีพบรรณารักษ์ มีความเห็นในเรื่องของทักษะบางประการที่ควรจะมีเช่นในเรื่องของความกระตือรือร้นความใฝ่รู้ต่าง ๆ ซึ่งพี่เป็นพวกวิชาเกินมีความเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะให้เข้าใจง่าย ๆ และสะท้อนตัวตนของพี่คือการเป็นคุณป้าข้างบ้าน ส่วนรูปภาพนี้ถ่ายในฐานะเป็นคุณป้าข้างบ้าน ที่มองบ้านข้าง ๆ ที่เห็นแมวสองตัวซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต กับตุ๊กตาหมึสองตัวเป็นสิ่งไม่มีชีวิตบนราวตากผ้า แต่ภาพกลับให้อารมณ์และความรู้สึกว่าทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีชีวิต จินตนาการทำให้มี story ให้เราได้คิดต่อเสมอ