“มะพูด” ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

 

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีญาติเอาผลไม้มาฝาก เดินผ่านไปผ่านมาอยู่หลายวัน จากสายตาก็มองเห็นว่าเป็นส้ม จนเมื่อจะหยิบมากินนั่นแหละถึงได้รู้ว่าเจ้าลูกกลม ๆ สีส้ม ๆ นั่น มันไม่ใช่ส้ม ต้องหันถามแม่ว่ามันคือลูกอะไร? กินได้ไหม?? กินยังไง??? ต้องปอกเปลือกหรือเปล่า???? จึงได้คำตอบว่า จริง ๆ แล้วมันคือ “ลูกมะพูด” ปอกเปลือกก็กินได้ อย่าเผลอกินเมล็ดมันล่ะ555 จำได้ว่าครั้งนึงช่วงที่โควิด-19 ระบาด เคยได้ยินหัวหน้าหอสมุดฯ พูดถึงต้นมะพูดอยู่ ตอนที่ได้ยินก็ได้แต่นึกในใจว่าต้นไม้อะไร ชื่อแปลก ๆ ผ่านมาหลายปี ถึงจะได้มารู้จักและเห็นตัวจริงสักที

ไปหาข้อมูลอ่านมา… เหตุที่ชื่อมะพูด อาจเป็นเพราะสมัยก่อนหากเด็ก หรือลูกหลานบ้านไหนปากหนัก ไม่ยอมพูดจากับใคร หรือไม่พูดเลย คนเฒ่าคนแก่ ก็จะเด็ดเอาผลสุกของมะพูดมาให้เด็กคนนั้นกิน เด็กจะกลับมาพูดเก่งได้อย่างเหลือเชื่อ และคนไทยแต่ดั้งเดิมมีความเชื่อว่า หากปลูกต้นมะพูดไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา พูดในสิ่งที่ดีงาม พูดจาไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน ซึ่งมักจะนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน

มะพูด ถูกนับว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ผลของมะพูดส่วนใหญ่ จะมีรสชาติเปรี้ยวนำและปนหวานนิดๆ ไม่หวานสนิท นิยมปลูกตามบ้านและตามร่องสวนมาแต่โบราณเพราะเป็นสมุนไพรใช้ได้ในครัวเรือน ซึ่งมะพูดมีประโยชน์และสรรพคุณต่าง ๆ มากมาย แทบจะทุกส่วน เช่น

ผลสุก – กินแก้อาการไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยขับถ่ายโลหิตเสียให้ตก และแก้อาการช้ำใน (มีข้อมูลจากต่างประเทศรายงานว่า ผลมะพูดมีฟอสฟอรัสและคาร์โบไฮเดรตสูง และมีกรดซิตริกที่ให้รสเปรี้ยวในปริมาณมาก ในต่างประเทศใช้น้ำจากผลเป็นยาละลายเสมหะ แก้ไอ รักษาอาการลักปิดลักเปิดหรือโรคขาดวิตามินซี เช่นเดียวกับในประเทศไทย)

ส่วนของราก – มีรสจืด ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการร้อนใน ช่วยลดพิษและขับสารพิษออกจากร่างกาย

เปลือกต้น – มีรสฝาด นำไปต้มกรองใช้น้ำเป็นยาชำระล้างบาดแผลต่าง ๆ ได้  และเปลือกต้นยังสกัดนำไปย้อมสีเส้นไหมได้ โดยจะให้สีเหลืองสด (มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่าน้ำคั้นจากเปลือก มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์)

เมล็ด – นำมาบดผสมกับน้ำส้มหรือผสมเกลือ นำมาใช้ทาแก้อาการบวม

ใบ – นำมาใช้เป็นสีย้อมธรรมชาติซึ่งจะให้สีเขียวสวยงาม เมื่อนำไปผสมกับสีครามก็จะให้สีน้ำตาล ในบางประเทศใช้น้ำคั้นจากเปลือกนำไปย้อมให้สีน้ำตาลทำเสื่อปูรองนั่ง/นอนได้

ขอบคุณที่มาข้อมูลดี ๆ

https://www.thairath.co.th/content/328041

และ  https://www.matichonweekly.com/healthy/article_220468