อาหารประจำเทศกาลตรุษจีน

เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่สำคัญต่อชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นอย่างมาก เพราะเทศกาลตรุษจีนเป็นการเฉลิมฉลองจากปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่อย่างสมบูรณ์ ในเทศกาลนี้มีอาหารที่ใช้ในการไหว้บูชาเทพเจ้าและบรรพบุรุษ และเป็นปีแรกที่ดิฉันได้เตรียมอาหารคาวหวานเพื่อไหว้ในเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 22 มกราคม 2566 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 มีอาหารอะไรกันบ้าง มาดูกันค่ะ

อาหารในเทศกาลตรุษจีน สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

1) อาหารประเภทเส้น หมายถึง อาหารที่ทำจากข้าวหรือแป้ง มีลักษณะเป็นสาย แถว แนว ที่ไม่จำกัดความยาว อาหารประเภทเส้นได้นำมาใช้ในเทศกาลตรุษจีน เพราะมีความหมายเชิงวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับอายุ คือ หมี่ซั่ว หรือ บะหมี่เส้นยาว ชาวจีนมีความเชื่อว่าการรับประทานอาหารประเภทเส้นในเทศกาลตรุษจีนถือเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาวแบบเส้นบะหมี่ ตามความเชื่อนี้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ตี้ซึ่งเป็นผู้เชื่อเรื่องโชคลาภและยาอายุวัฒนะ

2) อาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรือของคาว จำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ซาแซ และ โหวงแซ ซึ่งของที่ใช้ในเทศกาลตรุษจีนนี้ทุกอย่างล้วนมีความหมายมงคลทั้งสิ้น ซาแซ คือ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรือของคาว 3 อย่าง ประกอบด้วย หมู ไก่และเป็ด หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง หมู่อ้วนแสดงถึงความกินดีอยู่ดี หัวหมูเป็นสัญลักษณ์แห่งสมองและปัญญา มักจะใช้หมูสามชั้น หรือ หัวหมู  ชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับหมูเนื่องจากสมัยก่อนครอบครัวชาวจีนที่มีฐานะดีมักนิยมเลี้ยงหมูไว้ในครัวเรือนของตนเอง ไก่ หมายถึง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความรู้งาน ไก่มีหงอนสื่อถึงหมวกขุนนาง แสดงถึงความเจริญก้าวหน้า ความขยันขันแข็ง การตรงต่อเวลา เนื่องจากไก่ต้องขันทุกวันในเวลาเช้า ซึ่งสะท้อนถึงการรู้หน้าที่ตนเอง เป็ด หมายถึง ความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความสามารถที่หลากหลาย และความบริสุทธิ์เหมือนกับขนสีขาวของเป็ด

โหวงแซ  คือ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ หรือของคาว 5 อย่าง ประกอบด้วย หมู ไก่ เป็ด เช่นเดียวกับซาแซ และเพิ่มมาอีก 2 อย่าง คือ ปลา และตับ ปลา หมายถึง ความร่ำรวย เหลือกินเหลือใช้ไม่ขัดสน สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ตับ หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และอำนาจวาสนา

3) อาหารประเภทขนม หมายถึง ของกินที่ไม่ใช่กับข้าว มักปรุงด้วยแป้งหรือข้าวกับกะทิ หรือน้ำตาล ซึ่งขนม หรือของหวานที่นิยมมีอยู่หลากหลาย ขนมมงคล เช่น ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความเฟื่องฟู ขนมแห่งความเจริญงอกงาม ขนมเข่ง หมายถึง ชีวิตหวานชื่นและมีความราบรื่นในชีวิต ขนมเทียน หมายถึง แสงสว่างและความรุ่งเรือง  ขนมกุยช่าย หมายถึง มีอายุยืนและสุขภาพแข็งแรง ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว หมายถึง การมีโชคมีลาภ จันอับ หรือ แต้เหลี้ยว และขนม 5 อย่าง ได้แก่ ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบน้ำตาล ข้าวพอง ซึ่งหมายถึงความเจริญงอกงาม และฟักเชื่อม ซึ่งหมายถึงความร่ำรวยและความหวานของชีวิต เป็นต้น  แต่ชาวจีนที่อยู่ในประเทศจีนนำของไหว้แบบสมัยใหม่ เช่น ลูกอม คุกกี้ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้มีความหมายรวมกัน หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน ความชื่นมื่นและความเจริญงอกงามตลอดทั้งปี

4) อาหารประเภทผลไม้ ผลไม้ที่นำมาไหว้ส่วนใหญ่จะมีหลัก ๆ ทั้งสิ้น 5 อย่าง หรือ 9 อย่าง ตามที่เจ้าของบ้านสะดวกจัดไหว้ ซึ่งผลไม้แต่ละอย่างล้วนมีความหมายมงคลทั้งสิ้น 1) ส้ม หมายถึง ความเป็นสิริมงคลและโชคลาภ ส้มมักจะเป็นผลไม้อันดับต้น ๆ ที่อยู่ในเทศกาลหรืองานมงคลต่าง ๆ 2) สาลี่ หมายถึง ช่วยทำให้ครอบครัวมีโชคลาภ ประสบแต่เรื่องดี ๆ มีเงินทองไหลมาเทมาเหมือนสีทองของสาลี่ 3) แอปเปิ้ล หมายถึง การมีสุขภาพสมบูรณ์ ความสงบสุข สันติสุข 4) องุ่น หมายถึง ความเจริญงอกงาม 5) กล้วย หมายถึง มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองเอาไว้สืบสกุล เช่นเดียวกับกล้วยที่มักจะออกผลจำนวนหลายหวี หรือในอีกความหมายหนึ่งของกล้วย คือ เรียกโชคเรียกลาภเข้ามาหา มักนิยมไหว้ด้วยกล้วยดิบทั้งหวี 6) แก้วมังกร หมายถึง สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ความรุ่งเรื่องมีอำนาจและวาสนา 7) ทับทิม หมายถึง ครอบครัวอบอุ่น มีความสามัคคีกันและไม่มีเรื่องขัดแย้ง 8) สับปะรด หมายถึง เรียกความโชคดีให้มาหา และ 9) ลูกพลับ หมายถึง มีความหนักแน่นมั่นคง จิตใจเข้มแข็ง รอดพ้นจากอุปสรรคต่าง ๆ ชีวิตราบรื่น ทั้งนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าหากมอบลูกพลับให้แก่กันจะเป็นการอวยพรให้แก่ผู้รับว่า ให้ประสบความสำเร็จและมั่งคั่ง

5) อาหารประเภทข้าว อาหารประเภทข้าวที่อยู่ในเทศกาลตรุษจีน คือ ข้าวสวย หมายถึง ข้าวที่หุงสุก ซึ่งข้าวที่ใช้ในพิธีไหว้จะใช้เป็นข้าวสวยหุงใหม่ ๆ และต้องตักข้าวสวยใส่ถ้วยให้พูน ๆ ตามความเชื่อที่ว่าให้ตักข้าวพูนถ้วยจะได้มีเหลือกินเหลือใช้และเพิ่มพูนสิ่งดี ๆ ยิ่งขึ้นไป อาหารประเภทข้าวในเทศกาลตรุษจีนเป็นเรื่องของความเชื่อต้องห้าม นั่นคือ ห้ามรับประทานโจ๊ก เพราะมีความเชื่อว่ารับประทานโจ๊กในวันตรุษจีนเหมือนกับการขัดขวางไม่ให้ตัวเองร่ำรวย เนื่องจากคนจนจะนิยมกินโจ๊ก โจ๊กเป็นข้าวต้มชนิดหนึ่งที่ใช้ปลายข้าวต้มจนเละ นิยมรับประทานกันในหลายประเทศในเอเชีย และมีบางบ้านนิยมนำเหล้าขาวมาเป็นของไหว้ด้วย

ซึ่งในภาพรวมแล้วความหมายเชิงวัฒนธรรมจากอาหารในเทศกาลตรุษจีนจะเห็นได้ว่า มีความหมายไปในทางที่ดีหรือเรียกอีกอย่างว่ามีความหมายที่มงคลทั้งสิ้น อาทิ ความเป็นสิริมงคล ความร่ำรวย มีโชคมีลาภ เจริญรุ่งเรือง สุขภาพแข็งแรง ครอบครัวอบอุ่นและมีทายาทสืบสกุล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ยังคงสืบทอดและรักษาประเพณีในเทศกาลตรุษจีนอยู่จนถึงปัจจุบัน คำมงคลที่เราคุ้นเคย “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่กันทุก ๆ คน ค่ะ

 

บรรณานุกรม

จิตรา ก่อนันทเกียรติ. (2549). ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไซ้ สารพัดเกร็ดความรู้เรื่องตรุษจีน. เนชั่นสุดสัปดาห์, 14(713),  84.

ซิซิน เซียง, สีเหวิน หลิว, ฟูยู มา, ซูเหว่ย หวง, นพรัตน์ น้อยเจริญ, ศุภิสรา เทียนสว่างชัย, และ และปราง ศรีอรุณ. (2565). อาหารที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมวันตรุษจีน: กรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีนกับชาวจีนในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน. วารสารวิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง, 11(1), 168-180. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NBJ/article/view/257240

ศิริพร เรือนสุวรรณ, และ นิธิอร พรอำไพสกุล. (2565). การศึกษาความหมายเชิงวัฒนธรรมจากอาหารในเทศกาลตรุษจีนของชาวไทยเชื้อสายจีน. วารสารพิกุล, 20(1), 365-380. https://so05.tci-thaijo.org/index.php/Phikun/article/view/260271

สุรศักดิ์ แซ่ลี้. (2550). ตรุษจีน. วิทยาจารย์, 106(4), 68-69.