บทความวิจัยมีผู้นิพนธ์หลายคนจะติดต่อใครดี

เคยสังเกตหรือไม่ว่า บทความวิจัย หรือ research article เรื่องหนึ่งหนึ่งมักจะมีผู้นิพนธ์ (Authors) หลายคน มาจากหลายสถาบัน/หน่วยงาน บางครั้งผู้อ่านอาจต้องการติดต่อกับผู้นิพนธ์เพื่อสอบถามข้อมูล หรือเพื่อประสานงานต่าง ๆ แล้วผู้อ่านจะเลือกติดต่อกับผู้นิพนธ์คนไหนดี

ผู้นิพนธ์บทความวิจัยนั้น จะมีการจำแนกตำแหน่งกันไปตามลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงาน หรือ ความเป็นผู้นิพนธ์ (Authorship)  ซึ่งหมายถึงผู้มีส่วนร่วมในเชิงปัญญา ตามเอกสารแนบท้ายประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563 ข้อ 3 ลักษณะการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ หน้า 41 จำแนกตำแหน่งของผู้นิพนธ์ไว้ว่า

  1. ผู้ประพันธ์อันดับแรก (First Author) หมายถึง ผู้ที่มีชื่อในผลงานวิชาการเป็นชื่อแรก รับผิดชอบการทำผลงานวิชาการ และเขียนต้นฉบับ (Manuscript) ชิ้นนั้นด้วยตนเอง
  2. ผู้มีส่วนสำคัญทางปัญญา (Essentially intellectual contributor) หมายถึงบุคคลที่มีบทบาท มีส่วนสำคัญทางปัญญา ด้วยความเชี่ยวชาญจำเพาะในสาชาวิชาของตนเอง และความรับผิดชอบสำคัญในการออกแบบการวิจัย (Research Design) หรือการออกแบบงานวิชาการนั้น ๆ รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) สรุปผลและให้ข้อเสนอแนะ
  3. ผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding author) หมายถึงบุคคลที่มีบทบาทและความรับผิดชอบในการเผยแพร่ผลงานวิจัย หรือผลงานทางวิชาการ ให้เกิดการถ่ายทอดเป็นเรื่องราว แสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางวิชาการที่ประกอบด้วย การแสดงข้อมูล หลักฐาน ข้อคิดเห็น และประสบการณ์ รวมทั้งทำหน้าที่รับผิดชอบติดต่อกับบรรณาธิการ หรือในเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เรียกผู้นิพนธ์กลุ่มนี้ว่า เป็นผู้นิพนธ์หลัก (Senior author หรือ Corresponding author) ที่มีหน้าที่ประสานงาน ตอบข้อซักถาม ข้อวิจารณ์ จากประชาคมด้วย

นอกจากนี้ยังมี ลักษณะของความเป็นผู้นิพนธ์แบบอื่นอีก (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)  คือ Ghost author หมายความถึง ผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นิพนธ์แต่ไม่มีชื่อ ซึ่งอาจเป็นการถูกขโมยผลงาน หรือเป็นการสมยอม /Gift author, Guest author หรือ Honorary author คือ ผู้ที่ไม่ได้คุณสมบัติ แต่ได้เป็นชื่อผู้นิพนธ์ เช่น หัวหน้าภาควิชา นักวิจัยที่มีชื่อเสียง เจ้าของเงินทุนวิจัย เป็นต้น / Co-author หรือผู้นิพนธ์ร่วม คือผู้นิพนธ์อื่นที่ไม่ใช่ผู้นิพนธ์หลัก

ดังนั้น หลังจากงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์แล้ว ผู้นิพนธ์ที่ต้องรับหน้าที่เสมือนเป็นบริการหลังการขาย คือผู้ที่เป็น Corresponding author นั่นเอง เพราะนอกจากจะต้องเป็นผู้ประสานงานกับผู้ร่วมวิจัยท่านอื่น ๆ เพื่อจัดเตรียมต้นฉบับเพื่อการตีพิมพ์ และประสานงานกับบรรณาธิการวารสารเพื่อส่งผลงานไป peer review โต้ตอบและแก้ไข ยังต้องตอบข้อวิจารณ์ ข้อซักถามของผู้อ่านด้วย ในบทความวิจัย จะสังเกตว่านักวิจัยคนใดมีตำแหน่ง  Corresponding author สามารถสังเกตได้จากเครื่องหมาย * กำกับที่ชื่อ และบางครั้งผู้นิพนธ์อันดับแรกจะเป็นคนเดียวกับ Corresponding author ก็ได้

อ้างอิง

ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563. (2563, 23 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 137 ตอนพิเศษ 147 ง.  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/147/T_0020.PDF

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. (2558). คู่มือมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. https://www2.nrct.go.th/e-publish1/ebook/research-guide/mobile/index.html#p=10