วันสำคัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 12 ตุลาคม ซึ่งในพุทธศักราช 2486 เป็นวันที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัดกรมศิลปากร ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” แล้ว วันที่ 15 กันยายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้าย วันเกิดของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี (Silpa Bhirasri)
ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น”บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย” เป็นอีกหนึ่งวันที่บรรดาศิลป์ศิษย์ต่างตั้งตารอการกลับมาเยือนถิ่นศึกษาหน้าพระลานที่ที่อาจารย์ฝรั่งปลูกหน่องามไว้บนแผ่นดินสยาม อันเป็นแผ่นดินที่ท่านรักดุจดังบ้านเกิดเมืองนอนของท่านเอง
และในส่วนของชาววังสนามจันทร์นั้น เรามีวันสำคัญ คือ “วันศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล”
อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องจาก UNESCO หรือ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์
และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้เป็น “บุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นระดับโลก (สาขาการศึกษา วัฒนธรรมวรรณกรรมและการสื่อสาร)” เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของท่านเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2546
ในทุกๆ ปีทางวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์จะจัดงานรำลึกถึงท่าน และหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ก็ได้จัดกิจกรรมคือการนำชมห้องอนุสรณ์ มล.ปิ่น มาลากุลฯ ซึ่งจัดเป็นห้องนิทรรศการประวัติของท่านด้วย
ห้องอนุสรณ์ฯ แห่งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวศิลปากร ด้วยเมื่อ พ.ศ.2542 ภายหลังจากที่
ท่านถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2538 หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ได้รับมอบสิ่งของอันเป็นสมบัติส่วนตัวของท่านจากคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม หลานสาวและทายาทผู้ดูแลทรัพย์สินของท่านผู้หญิงดุษฏีมาลา มาลากุล ผ่านทางคณาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คือ ร.ศ.กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ และ ผ.ศ.วีรฉัตร วรรณดี มาให้ทางมหาวิทยาลัยจัดเป็นห้องอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงท่าน
ในปีเดียวกันนั้นเอง มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับหอสมุดฯ จัดให้มีพิธีทำบุญเลี้ยงพระรำลึกวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 96 ปีของท่านร่วมกับพิธีฉลองเปิดป้ายห้องอนุสรณ์ฯ พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเป็นเกียรติแก่ท่านและนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จึงกำหนดให้ทุกวันที่ 24 ตุลาคม เป็น “วันศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล”
สำหรับการนำชมห้องอนุสรณ์ฯ ของท่าน ปี 2562 นี้ ดิฉันได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ และครั้งนี้มีความพิเศษมากยิ่งขึ้น เมื่อ ร.ศ.กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ ซึ่งเป็นทั้งศิษย์และผู้หนึ่งที่เคยร่วมทำงานกับ มล.ปิ่นฯ ได้เข้าร่วมชมและเชิญชวนให้ผู้ที่เข้าชมทุกท่านร่วมกันร้องเพลงอันเป็นคำกลอนซึ่ง มล.ปิ่นฯ ประพันธ์และมีการนำมาใส่ทำนอง พวกเราได้ร่วมกันขับร้องสร้างความประทับใจแก่ทุกคนในวันนั้น
นอกจากนี้ดิฉันได้เชิญศิษย์เก่าศึกษาศาสตร์ รุ่น 1 คือ อ.ศิรินทร์ บุญโสธรสถิตย์ ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทันได้เรียนในสมัยที่มล.ปิ่นฯ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย อ.ศิรินทร์ ได้ให้เกียรติมาบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับห้องสมุดเสียง ทั้งนี้เมื่อดิฉันแจ้งเชิญอาจารย์ไปตัวท่านเกรงว่าทรงจำในส่วนของตนเองจะคลาดเคลื่อน ท่านจึงได้สอบถามพูดคุยกับเพื่อนๆ ในรุ่นและประมวลบันทึกด้วยลายมือมามอบให้ดิฉัน จึงขออนุญาตถ่ายทอดรู้สึกและความทรงจำที่ดี
ในความรักและเมตตาของ “ครูปิ่นฯ” ที่มีต่อบรรดาศิษย์ทับแก้วในยุคนั้นให้ทุกท่านที่สนใจได้สัมผัสบรรยากาศศิษย์กับครูที่ทับแก้วย้อนไปราวร่วม 50 ปี จากบทสนทนาในกลุ่มเพื่อนไลน์ของ อ.ศิรินทร์ ดังนี้
ศิรินทร์: เรื่องห้องสมุดเสียงที่อยู่ตึก A3 พวกเราเคยใช้ในชั่วโมงเรียน แล้วเวลาเราอยู่หอพัก A2 พวกเรากดฟังได้มั้ย เค้าจำไม่ได้แล้วอยากให้เพื่อนๆ ช่วยรำลึกหน่อย
เปี่ยมจิต: มันต้องกดฟังในห้องเรียนนะ ห้องเรียนที่ตึก A2 ชั้น 1 ชั้น 2 ฟังได้หมด
นพวดี: เราสามารถกดฟังได้จ้า เค้าเคยเล่นบ่อยที่ตึก A2
มณี: จำได้แต่ประโยคของ อ.แลรี่ รึเปล่าที่พูดตอนต้นชั่วโมงว่า “Don’t touch the machine”
นพวดี: ใช่ พูดประจำ
นพวดี: มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติการก่อตั้งวิทยาลัยทับแก้วที่ท่านเล่าเองด้วยนะ ถ้าจำไม่ผิด
เปี่ยมจิต: มีบทละครเรื่องมัทธนพาธาด้วย มีเพลงคลาสสิค มีความรู้ต่างๆ มากมาย
เปี่ยมจิต: ทันสมัยมากๆ
ชุลีพร: ความทรงจำของพวกเราถึงหม่อมหลวงปิ่นฯ คือ การได้เรียนภาษาอังกฤษกับท่าน “Somsak in England” เป็นความทรงจำสมัยท่านเรียนอยู่ที่อังกฤษ เวลาเรียนกับท่าน ท่านจะนั่งอยู่บนโซฟา และพวกเรานั่งกับพื้นเหมือนพ่อสอนลูกเลย
ศิรินทร์: จำได้ว่าท่านพูดเรื่องการเล่นคริกเก็ตอย่างมีความสุข
พรรณวดี: ยังนึกภาพออกเลย ตอนสอนภาษาอังกฤษพวกเรา
เปี่ยมจิต: นอกจากกลุ่มใหญ่ที่ท่านสอน “Somsak in England” แล้ว ท่านยังสอนกลุ่มย่อยที่เอกภาษาอังกฤษด้วย ท่านจะให้ไปเรียนในห้องทำงานของท่านเลย ซึ่งหลังโต๊ะทำงานของท่านจะมี Chart ขนาดใหญ่ ซ้อนๆ กัน แบบดึงขึ้นลงได้ จะเป็นแผนการจัดการศึกษาของ ม.ศิลปากร ในอนาคต ท่านก็จะดึง Chart ขึ้นลง อธิบายให้พวกเราฟังว่าจะทำอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นพวกเราจะรู้หมดว่าท่านจะเปิดคณะอะไรก่อนหลัง ตั้งตรงจุดไหน
เปี่ยมจิต: เวลาอยู่ในชั้นเรียนท่านจะเป็นครูที่มีความเมตตามากจะคอยปรับแอร์ให้ถามว่าเย็นรึยัง คนที่ชอบแกล้งท่าน คือ เจ้าเปิ้ล ประภาศรี พันธนะอังกูร จะบอกยังค่ะตลอด ปรับแอร์เสร็จท่านจะล้างมือทุกครั้ง
เปี่ยมจิต: ท่านให้ความเป็นกันเองกับลูกศิษย์กลุ่มย่อยนี้มาก เรียกเปี่ยมจิตว่าเปี่ยม ประภาศรีว่าประภา ชุลีพร ว่าชุลีด้วยมั้ย
เปี่ยมจิต: พวกเราน่าจะเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่านรึเปล่า
เปี่ยมจิต: ท่านเขียนคำกลอนเกี่ยวกับการศึกษา ครู-ศิษย์ ไว้เยอะ นอกจากกล้วยไม้
ศิรินทร์: ขอบคุณเพื่อนๆ จ้ะ ที่ช่วยกันคุยเรื่องสมัยเรียนกับ มล.ปิ่นฯ ชวนให้คิดถึงอาหารการกินในโรงอาหารด้วย
เปี่ยมจิต: รุ่นเราอยู่กันแบบนี้แบบมีแผนจริงๆ นะ เป็นชีวิตเด็กหอที่ได้รับการฝึกที่ดี อยู่สุขสบายจริงๆ
เปี่ยมจิต: อาหารเช้าสามารถกินได้ตั้งแต่ 6 โมง -10 โมงเช้า เข้าใจชีวิตเด็กหอจริงๆ อาหารก็มีให้เลือกหลากหลาย
เปี่ยมจิต: อาหารกลางวันเป็นถาดส่วนตัว เลิกไม่พร้อมกัน หยิบใส่ถาดตัวเอง (ซึ่งไม่ใช่ถาดหลุม) ได้เลย
เปี่ยมจิต: ตอนเย็นเลิกเรียนหมดแล้ว ให้นั่งโต๊ะๆ ละ 7-8 คน แบบครอบครัว
เปี่ยมจิต: ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ส่งซักได้อาทิตย์ละครั้ง
เปี่ยมจิต: มีช่องรับ จม.เฉพาะ มีร้านสระผม อะไรจะดีขนาดนั้น พวกเราโชคดีจริงๆ
—: แอบหนีไปเที่ยวองค์พระก็ได้อีก
—-: กลับมาเจอ อ.ประยูร ดักรอที่หน้าประตูด้วย จำได้ ต๋อยบอกว่า หนูอยากยิงปืนค่ะ
แป๋ว สกาวรัตน์: รุ่นเราโชคดีที่มีท่าน มล.ปิ่น ดูแล