เอ๊ะ!!

ในชีวิตของการทำงาน อาการคิดยังไงก็คิดไม่ออกนี้มักเกิดขึ้นเสมอมากบ้างน้อยบ้าง ในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ดูแลก็จะบอกบ้าง บ่นบ้าง แนะบ้างแล้วแต่อารมณ์เช่นกัน หากจับใจความได้ก็วน ๆ อยู่ที่ต้องอ่านแยะ ๆ ฟังเยอะ ๆ และก็จะมีปัญหาอีกคือเรื่องของเวลา เรื่องนี้ก็จะตกอยู่ที่ทุกคนในโลกใบนี้มีเวลาเท่ากัน หากตราบใดที่คุณอยู่ใน “Time Zone” เดียวกัน

อ่านถึงตรงนี้เราอาจผ่านคำว่า Time Zone ไป เพราะพอจะคาดเดาว่าหมายถึงอะไร? โดยไม่ “เอ๊ะ” หรือไม่ “เอ๊ะ” ว่าจริง ๆ แล้วคืออะไร แล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป ผลคือเท่าเดิมคือ “พอจะคาดเดาว่าหมายถึงอะไร?”

บางครั้งอาจมีเหตุว่าก็ไม่ได้สนใจ คำถามต่อไปคือ แล้วเราสนใจอะไร? สิ่งไหนที่เราให้เรา “เอ๊ะ” ในหนึ่ง หนึ่งเดือน หนึ่งปี มีอะไรให้เรา “เอ๊ะ” ขยับชวนให้คิดอีกนิดว่า ทั้งชีวิตส่วนตัวเรา และ ชีวิตการงานเรา มีอารมณ์ไหนให้เรา “เอ๊ะ”

การ “เอ๊ะ” จะเป็นเรื่องที่บีบคั้นมาก ถ้าเราถูกบังคับให้ “เอ๊ะ” ในแวดวงการฝึกอบรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรมักชวนให้คน “เอ๊ะ” ด้วย “การระดมสมอง”

ถึงตอนนี้ต้อง “เอ๊ะ” กันค่ะ ว่า “การระดมสมอง” ที่แท้จริงคืออะไร? มีวิธีการอย่างไร? เราที่มีประสบการณระดมสมอง ได้ใช้กระบวนการนี้ถูกต้องหรือไม่ หรือ หยุดชีวิตไว้ที่ เพราะพอจะคาดเดาว่าหมายถึงอะไร? มา “เอ๊ะ” กันดีกว่า

การระดมสมอง มาจากภาษาอังกฤษว่า Brainstorming หมายถึง การสร้างกระแสความคิดหลากหลายให้เกิดภายในกลุ่ม ควรมีสมาชิกระหว่าง 5-12 คน เพื่อจะได้ไม่เป็นกลุ่มใหญ่จนเกินไปจนทำให้บางคนไม่มีส่วนร่วม ขณะเดียวกันขนาดของกลุ่มก็ต้องมีมากพอ เพื่อที่จะสามารถได้ความหลากหลายของความคิด โดยเวลาที่ควรใช้นั้นไม่ตํ่ากว่า 20 นาทีและไม่ควรเกินหนึ่งชั่วโมง โดยการระดมสมองมีกติกาอยู่ 4 คือ 1) ห้ามวิพากษ์ข้อคิดใด ๆ ของเพื่อในกลุ่มในขณะที่ที่มีการระดมสมอง เมื่อเสร็จสิ้นการระดมสมองแล้วเพื่อนร่วมกลุ่มจึงสามารถหยิบข้อคิดเห็น แต่ละเรื่องมาวิเคราะห์และวิจารณ์ได้ 2) เปิดโอกาสให้มีการเสนอข้อคิดได้โดยอิสระ ยิ่งข้อคิดแปลกแหวกแนวแค่ไหนยิ่งดีเท่านั้น 3) จํานวนของข้อคิดที่เกิดขึ้นต้องให้ได้มากที่สุด ยังไม่ต้องพิจารณา หรือประเมินคุณภาพของแต่ละข้อคิด เพราะยิ่งมีข้อคิดมากเท่าใด ยิ่งเพิ่มโอกาสที่ข้อคิดบางข้ออาจจะถูกนําไปใช้ประโยชน์ได้ในเรื่องอื่น ๆ และ 4) ต้องมุ่งหาข้อคิดที่ดีกว่าข้อคิดที่มีการเสนอแล้ว หรือผูกโยงข้อคิดสองอย่างหรือมากกว่าให้เป็น “ข้อคิดใหม่” ไม่ใช่เรื่องเดิมที่มีอยู่หรือทำอยู่แล้ว (ดนัย ปัตตพงศ์, ม.ป.ป.) พอมาอ่านแบบนี้แล้ว ลองทบทวนตัวเองแบบไม่โกงว่า เราทำครบตามกติกาหรือไม่

“เอ๊ะ” ต่อไปคือ เมื่ออ่านข้อความข้างต้นสงสัยไหมว่า คนที่พี่ใช้อ้างอิงเป็นใคร ทำไมพี่จึงอ้างอิงผลงานชิ้นนี้ แล้วมีผลงานชิ้นอื่นอีกไหมที่พูดถึงเรื่องนี้ แล้วคลิกต่อไปอ่านหรือไม่ คำตอบคือ ถ้า “เอ๊ะ” ก็ไปต่อ ถ้าไม่ก็จบโดยไม่ต้องมีเหตุผลเพราะเป็นเรื่องของเรา แต่ชีวิตการทำงานเรื่อง “เอ๊ะ” มีความจำเป็น ให้สังเกตความแตกต่างของคนรอบตัวว่า คนที่ “เอ๊ะ” กับไม่ “เอ๊ะ”

ความรู้สึกของการ “เอ๊ะ จะนำพาให้มีความคิดที่ต่อยอดไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งหมายถึง “เวลา” ที่ต้องใช้ไป

เมื่อเรา “เอ๊ะ บ่อยเท่าไร แสวงหาคำตอบมากเท่าไร เราอาจจำได้ไม่ครบถ้วน แต่สิ่งพวกนี้จะสะสมเพิ่มพูนเป็น keyword เป็นคลังคำ คลังความรู้ที่พร้อมใช้ดึงออกมาใช้ แม้อาจจะไม่ทันที แต่ก็ใช่การเริ่มต้นจาก “ศูนย์” ซึ่งมีอีกคำหนึ่งที่ออกเสียงเหมือนกันคือ “สูญ”

อย่าสัญญาในเรื่องเดิม ๆ ในทุกครั้ง ทุกวัน ทุกปี ที่เราไม่เคยทำได้ตามสัญญา เพราะเรากำลังเริ่มต้นที่ ศูนย์ และเวลาที่ผ่านไปคือ สูญ  เช่น พี่มักสัญญากับตัวเองว่าจะลดน้ำหนัก จะออกกำลังกาย ชีวิตในเรื่องนี้จังมีแต่ “ศูนย์” และสูญ” ขณะที่น้ำหนักก็เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา!!

เอกสารอ้างอิง

ดนัย ปัตตพงศ์. (ม.ป.ป.). การระดมสมอง (Brainstorming). สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2564, http://it.nation.ac.th/faculty/danai/download/mbamadeeasy111.pdf