คณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค PULINET

ผู้เขียนในฐานะตัวแทนหน่วยงานมีโอกาสเข้าร่วมเป็นคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค PULINET จำไม่ถนัดนักว่าประมาณ พ.ศ. 2550 หรืออาจก่อนนั้นไม่นานนัก เลาๆ เหตุการณ์ ว่าคาบๆ เกี่ยวกับระยะเริ่มต้นของการจัดงานทับแก้ว Book Fair

ที่จำได้เพราะระยะแรกนั้น ยังเป็นมือใหม่การจัดงานแฟร์ สิ่งที่ริขึ้นใหม่นั้น ทีมงานก็ยังเก้ๆ กังๆ ตลอดการเดินทางไปประชุมในครั้งหนึ่ง ด้วยภาวะสุขภาพขณะนั้นยังไม่เอื้อให้เดินทางลำพัง จึงจำเป็นใช้พาหนะส่วนตัวโดยมีคุณสามีเป็นสารถีนำพา โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินเอง ระหว่างการเดินทางนั้น การประสานงานจิปาถะจึงเกิดขึ้นทางโทรศัพท์เกือบตลอดเส้นทาง

การเป็นตัวแทนในระยะแรกนั้นอาจกล่าวได้อีกว่าว่าเป็นมวยแทน คือมิได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในส่วนของงานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก หอสมุดพระราชวงัสนามจันทร์ แต่ด้วยพี่ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในวัยอาวุโสสุขภาพไม่เอื้อต่อการเดินทาง โอกาสจึงมาถึงดิฉัน ให้ได้ทำในเรื่องที่รักชอบ ด้วยเต็มใจ

การเป็นคณะทำงานนั้น ขาดช่วงไประยะหนึ่ง เมื่อผู้เขียนต้องทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และพัฒนาทรัพยากรฯ ด้วยผู้มีตำแหน่งโอนย้ายไปปฏิบัติงาน ณ วังท่าพระ และเมื่อขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายฯ ด้วยเหตุผลส่วนตัว ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสมาปฏิบัติงานศูนย์ข้อมูลภาคตะวันตก วาระการเป็นคณะทำงานฯ จึงกลับมาให้ดำเนินอีกครั้งนับจาก พ.ศ. 2555 และยังคงต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะทำงาน ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ Cisco WebEx Meeting เนื่องด้วยวิกฤติ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกไม่เว้นไทยเรา

ในการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญ คือ การเลือกประธานคณะทำงานฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 เนื่องจากประธานท่านเดิม คือ นายชัยวัฒน์ น่าชม หมดวาระลง กับทั้งต้องผันตัวเองไปอยู่ในชุดคณะกรรมการอำนวยการโดยตำแหน่ง

บรรยากาศในการลงมติวันนั้น ผู้ถูกเสนอชื่อทุกท่าน “ต่างไม่พร้อม” ด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆ กันไปในแต่ละปัจเจก dead air จึงแทรกอยู่แทบทุกอณูเวลา ที่ท่านประธานเปิดให้ผู้ถูกเสนอชื่อ และมวลสมาชิกได้พิจารณากันโดยเสรี ความเงียบกระจายอยู่รอบตัว (ปกติก็เงียบอยู่แล้ว ด้วยมีผู้นั่งทำงานร่วมห้องห่างกันเกิน 3 เมตร อยู่อีกเพียง 1 เดียว) ที่ประชุมต่างเงียบสงบทำให้ได้ยินกระทั่งเสียง(ถอน)หายใจของตัวเอง แต่ในที่สุดแล้วแจ็คพอทได้มาตกที่ข้าพเจ้าซึ่งหากว่าไป คือ อาวุโสอันดับ 2 ที่ยังคงอยู่ ในขณะที่ความเห็นส่วนตัวก็ยังคงรู้สึกอยู่เสมอว่า พี่อีกท่านเหมาะสมกว่าด้วยประการทั้งปวงแต่ด้วยพี่ป่วยไม่สามารถทำหน้าที่

และในความเห็นส่วนตัวโดยมิได้โอนเอียงเพื่อให้พ้นภาระจากตนเองอีกเช่นกัน ข้าพเจ้า…คิดว่า “อาวุโส” หาใช่สิ่งจำเป็นในการ “เป็นผู้นำ” หากแต่ศักยภาพ ความพร้อม ความมุ่งมั่น รอบรู้ในงาน อย่างมีวุฒิภาวะ เพื่อประโยชน์แก่งานส่วนรวมโดยแท้จริงต่างหากที่ควรให้ความสำคัญ และในข้อนี้ ก็เป็นคุณสมบัติที่ข้าพเจ้ามองเห็นในคณะทำงานหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะน้องๆ คนรุ่นใหม่ซึ่งได้เห็นฝีไม้ลายมือกันมานานกว่า 10 ปี

อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับธงนำทัพในงาน “ข้อมูลท้องถิ่น” อันพึงใจ เพียงแค่ขยายขอบข่ายของงานกว้างขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือจากพี่ๆ น้อง คณะทำงานทุกสถาบัน ข้าพเจ้าก็เต็มใจและยินดี และที่สำคัญข้าพเจ้ายังอุ่นใจด้วยมีน้องๆ ที่รู้ใจกันดีช่วยปฏิบัติหน้าที่ โดยมีทีมงาน คือ ท่านรองฯ น้องขนิษฐา ทุมมากรณ์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เลขานุการคู่ใจ น้องพัชรินทร์ ช้างทอง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กพส และผู้กุมชะตาคณะทำงานให้อยู่ดีมีสุข คือ น้องพิชญา  สาจันทร์ ผู้แทนรุ่นใหม่ไฟแรงจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำหน้าที่เหรัญญิก

ข้าพเจ้าขอใช้พื้นที่ตรงนี้ ขอบคุณน้องๆ ทีมงาน และคณะทำงานทุกๆ ท่าน
โดยเฉพาะท่านอดีตประธาน ที่ยังคงเป็นกำลังสำคัญให้น้องๆ ได้หารือ…อบอุ่น…เสมอ

ด้วยความใหม่ต่อหน้าที่และมาแบบครึ่งๆ กลางๆ บางครั้งทำบางเวลาหยุด เมื่อต้องมีภาระรับผิดชอบในการสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบัน จึงจำต้องรวบรวม ปะติดปะต่อ เรื่องราวของคณะทำงานเสียใหม่ เพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นภาพรากเหง้าแห่งอดีตอันเป็นมา และกำลังจะดำเนินให้เป็นไปในอนาคตของคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นฯ มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังภาพนี้แล


หมายเหตุ: ติดตามการดำเนินงานด้านต่างๆ ของคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นได้ ดังนี้

ฐานข้อมูล
1) ฐานข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่นบนอินเทอร์เน็ต http://www.pulinet.kku.ac.th/localpulinet/searching

ผลงานของคณะทำงานฯ
1) รายงานโครงการศึกษาดูงาน “การบริหารจัดการการบริการแหล่งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น” ระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว    http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/localpulinet/wp-content/uploads/2016/08/lao.pdf
2) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT Analysis) การดำเนินงานของคณะทำงาน ปีงบประมาณ 2555 http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/localpulinet/wp-content/uploads/2016/08/swot.pdf 
3) รายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2555  http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/localpulinet/wp-content/uploads/2016/08/report.pdf