วิถีมอญนครชุมน์

เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปร่วมงาน “เสวนาสืบค้นภูมิปัญญา และฐานวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน” ณ วัดใหญ่นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นโครงการที่ส่งเสริมและยกระดับทางเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งชุมชนนครชุมน์นั้น มีต้นทุนและมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ปกติจะจัดช่วงสงกรานต์ แต่เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงมีการเลื่อนมาเรื่อย ๆ

เรามาเรียนรู้ว่าวิถีมอญนครชุมน์นั้น ในเรื่องของการกินว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ซึ่งภายในงานมีการทำอาหารมอญหลายอย่าง เช่น แกงส้มผักพื้นบ้านตามฤดูกาล มีแกงบอน แกงไก่กับกล้วยดิบ (ปกติต้องมีแกงมะตาดด้วย แต่ช่วงนี้ไม่มีผลอ่อนมะตาด) และยังมีลูกขนุนอ่อนต้ม กินกับน้ำพริก มีทอดหัวปลี เป็นต้น

ส่วนเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร  มีน้ำดอกอัญชัน น้ำมะตาด โดยหลอดดูดน้ำดื่มสมุนไพรนั้น เป็นวัสดุจากธรรมชาติ คือ ต้นอ้อ และมีอาหารที่สำคัญและขาดไม่ได้คือ ข้าวแช่มอญ การทำข้าวแช่ในงานสงกรานต์แบบมอญซึ่งปกติจัดขึ้นตั้งแต่ตี 4 ของวันที่ 13 เมษายน  ทั้งชาวบ้านที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านและพวกที่กลับมาเยี่ยมบ้านในวันสงการณ์ ก็จะตื่นขึ้นมาทำข้าวแช่ เพื่อนำไปไหว้นางสงกรานต์ ทำบุญที่วัด และไว้กินเอง

การทำข้าวแช่เป็นประเพณีของชาวมอญในชุมชนมอญนครชุมน์ และในงานมีการจัดสำรับข้าวแช่ไว้อย่างสวยงาม ข้าวแช่ลอยด้วยน้ำดอกมะลิหอม ๆ ข้าวแช่ หรือข้าวสงกรานต์ที่คนมอญเมืองไทยเรียกว่า “เปิงซังกราน” ส่วนมอญแท้ ๆ นิยมเรียก “เปิงด้าจก์”  ที่แปลตรงตัวว่า ข้าวน้ำ (องค์ บรรจุน. 2553: 75)

เครื่องข้าวแช่ กับข้าว หรือเครื่องเคียง ที่รับประทานกับข้าวแช่ ส่วนใหญ่รสชาติมักออกไปทางรสเค็ม ๆ หวาน ๆ ได้แก่

  • ปลาผัดหวาน หรือภาษามอญ เรียกว่า ก๊ะเจีย
  • หัวผักกาดผัดกะทิ หรือภาษามอญ เรียกว่า ดั๊บร่าย
  • หมูผัดหวาน หรือภาษามอญ เรียกว่า ซุนเจีย
  • ยำมะม่วง หรือภาษามอญ เรียกว่า อะว้อดเกริ๊ก
  • ยำขนุนอ่อน หรือภาษามอญ เรียกว่า อะว้อดอะเนาะ

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  https://www.facebook.com/suslibrary/photos/a.838110082942613/3970143703072553/

ภายในงานมีการสาธิตการทำขนมข้าวเหนียวแดกงา หรือภาษามอญ เรียกว่า กวานหะเปียง  โดยตำข้าวเหนียวนึ่งสุกใส่ในครกไม้ (สำหรับตำข้าว) ต้องตำพร้อม ๆ กันหลายคน ขณะตำก็ต้องมีคนคอยพลิกก้อนข้าวเหนียวพร้อมโรยเกลือ โรยงาคั่วบดละเอียดลงในครก ตำให้ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ตัดเป็นชิ้น ๆ คลุกน้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลทราย โรยมะพร้าวขูด  พร้อมเสิร์ฟ

นอกจากนั้นยังมีการแสดงต่าง ๆ  เช่นการตีกลอง การรำมอญเพื่อความสนุกสนาน และการรำมอญหน้าโบสถ์ เพื่อเป็นการบวงสรวงเทวดา และเป็นศิริมงคล ซึ่งเป็นการแสดงเล็ก ๆ ที่สวยงามและสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม

กินอยู่ดูมอญ หรือภาษามอญ เรียกว่า เจี๊ยโม่งโร่งโม่นเดิง ในต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรีนั้น โดดเด่นในด้านอัตลักษณ์ เป็นที่น่าชื่นชม เพราะว่าจากการสืบค้น หรือการสอบถามผู้รู้แวดวงมอญหลาย ๆ ท่าน ชุมชนมอญนครชุมน์ ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาได้ต่อ ๆ ไปไม่มีเหตุการณ์ใดเปลี่ยนแปลงยังคงเดิมเหมือนกับทุก ๆ ปีเช่นในอดีต

ภาพประกอบ

กินอยู่ดูมอญ หรือภาษามอญ เรียกว่าเจี๊ยโม่งโร่ง
โม่นเดิง

 

ข้าวแช่ หรือภาษามอญเรียกว่า เปิงซังกราน

 

น้ำลอยดอกมะลิ สำหรับกินกับข้าวแช่

 

ปลาผัดหวาน หรือภาษามอญ เรียกว่า ก๊ะเจีย

 

 

หัวผักกาดผัดกะทิ หรือภาษามอญ เรียกว่า ดั๊บร่าย

 

 

 

 

 

หมูผัดหวาน หรือภาษามอญ เรียกว่า ซุนเจีย

 

 

 

 

ยำมะม่วง หรือภาษามอญ เรียกว่า อะว้อดเกริ๊ก

 

 

 

น้ำสมุนไพร น้ำมะตาด
น้ำดอกอัญชัน

 

 

 

 

 

ตีกลอง และรำมอญ

 

 

รำมอญ

 

 

 

รำมอญ หน้าโบสถ์

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

คมสรร จับจุ.  (2564). ผู้ประสานงานชุมชน. สัมภาษณ์, 27 มีนาคม.

ชลิต ลิ้มพระคุณ. (2564). อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ฝ่ายประถม. สัมภาษณ์, 9, 24 เมษายน.

ฝัก ทุเครือ. (2564). ปราชญ์ชาวบ้าน. สัมภาษณ์, 27 มีนาคม.

องค์ บรรจุน. (2553). “ข้าวแช่ : ติดสินบนเทวดาขอให้ได้ลูก.” ศิลปวัฒนธรรม 31, 11 (กันยายน): 74-78.