อ่านอะไร

เมื่อเรียนเพื่อเป็นบรรณารักษ์  และทำงานในห้องสมุด ผู้คนจะคิดว่าเรารักการอ่าน แต่ความจริงแล้วอาจหาเป็นเช่นนั้นไม่

สำหรับพี่การอ่านเป็นนิสัย เพราะสมัยก่อนไม่มีอะไรจะทำ และยังเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะมีหน้าที่ต้องอ่านหนังสือให้อาม่า (ย่า) ฟังก่อนนอนทุกคืน ถามว่าเบื่อมั้ย ก็เบื่อบ้างไม่เบื่อบ้าง เพราะใจอยากไปดูมังกรหยกจะแย่ และสมัยนั้นไม่มี เฟสบุค ทวิตเตอร์ ไลน์ อินสตราแกรม ฯลฯ จึงว่างแหละ  ต้องขอบคุณบรรพบุรุษจริง ๆ ที่มีหนังสือให้เราอ่านทุกวัน จนทำให้เราติด ถึงขนาดแบบอ่านด้วยการปิดไฟแล้วจุดตะเกียง พอสัปหงกผมไหม้ไปเป็นแถบ จนแม่ต้องสั่งห้ามว่าอย่าทำแบบนั้น อยากอ่านก็อ่านไป แฮ่…

ตัดตอนมาถึงช่วงทำงาน ต้องยอมรับว่าคนที่ทำงานห้องสมุดก็ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือทุกคน คนที่อ่านมาก ๆ คือคนทำงานวิเคราะห์เลขหมู่ หรือดรรชนี  อ่านเพราะต้องทำหน้าที่สกัดเนื้อหาออกมาเป็น “หัวเรื่อง” และพี่พบว่าคนที่อ่านเร็ว อ่านเยอะ จะทำงานเร็ว เพราะมีคลังคำในตัว รอบรู้ และสามารถเชื่อมโยงระหว่าง หัวเรื่องกับเลขหมู่  ส่วนคนที่ช้าก็อยู่ในอาการงก ๆ เงิ่น ๆ อ่านและคิดแบบแยกส่วน จึงช้าและช้ายิ่งขึ้นเพราะความท้อที่สะสมไปกับปริมาณที่ต้องทำ ถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สำหรับพี่คือการ “จด” และ “จำ” ทำคู่มือของตนเอง

ส่วนการอ่านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง พี่ว่าสมัยนี้หาง่ายมาก แค่รู้จักว่าเราควรจะติดตามใคร ที่ใด ที่จะเพิ่มมุมมองให้กับเรา ส่วนตัวพี่คิดว่าเริ่มง่าย ๆ จากสิ่งที่ใกล้ตัวคือ การอ่าน blog ของทุกคนที่เขียนมานี่แหละประเสริฐสุดแล้ว เพราะแต่ละคนจะมีลีลา เรื่องราวที่มาเล่าต่างกัน แม้เรื่องเดียวกันหากต่างมีมุมของตนเอง กับเนื้อหาเพจของหอสมุดฯ เพราะอย่างน้อยเราก็จะได้รู้เรื่องราวของพวกเรา จากนั้นจึงเริ่มต่อไปที่อื่น ๆ หน่วยงานบางแห่งถือว่าการไปปฏิสัมพันธ์ใด ๆ เป็นเรื่อง the must แม้บางคนจะมองว่าเป็นพื้นที่สาวนคัวก็ตาม

ส่วนการอ่านในแง่ของการทำงาน ดูเหมือนคนในสังคมต่างมอบภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ให้ห้องสมุด ซึ่งพี่มีความเห็นว่าเป็นเรื่องของทุกคน ทุกหน่วยงานที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ว่าในทางปฏิบัตินั้นมีการลงมือทำจริงหรือไม่

เช่นเดียวกับการหายไปของสื่อสิ่งพิมพ์ จะมีคนบอกว่าเสียดาย มองถึงผลกระทบต่าง ๆ มากมาย และตกไปอยู่ที่คำว่า technology disruption พี่มีคำถามเบา ๆ ว่า … แล้วซื้อกันมั้ย ? เป็นธุรกิจที่ต้องที่รายได้ เมื่อไม่มีก็ต้องบ้ายบายกันไป นี่คือโลกแห่งความจริง และพี่ก็ยังคงซื้อหนังสืออ่าน เป็นสมาชิกวารสารที่ชอบ หยุดบ้างบางเวลา เพราะอ่านไม่ทัน

22 มกราคม 2557 พี่เขียนสเตตัสไว้ว่า

“บรรณารักษ์มีหน้าที่ดึงสารสนเทศออกมา ไม่ว่าสารสนเทศนั้นจะอยู่ในรูปแบบไหน โดยคำนึงบริบทที่อยู่ในปัจจุบัน กับตระหนักถึงความก้าวหน้าของอนาคต ”

หากเราไม่อ่าน เราก็จะไม่มีวัตถุดิบเพื่อไปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และในที่สุดเราก็คงบ้าย บาย ลาก่อน

ส่วน 22 มกราคม 2564 ในบางส่วนบอกว่า …

พี่มองการทำงานเชิงรุกของห้องสมุดทุกแห่ง
ที่ต่างทำงานจนขาขวิด คิดทำจนสมองบวม
ท่ามกลางเสียงของคำว่า “ไม่รู้”
พี่ชอบ”จำแนก” ว่าเสียงนั้นมาจากใคร
เพราะจะมีคำตอบให้กับคำว่า “ไม่รู้”
ว่า “ความจริง” กับ “ความเป็นจริง” คืออะไร
ใช่ศัพท์หรูแต่เนื้อหาผลักไสให้คนทำงานไปซะทุกอย่างหรือไม่ ใช่หนทางที่จะช่วยกันแก้ปัญหาหรือป่าว

………..

ส่วนพวกเราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานต่อไป
ด้วยความตั้งอกตั้งใจ แรงดีไม่มีถอย
และอย่าลืมให้กำลังใจคนที่อยู่ข้าง ๆ เรา ❤️