TISE6

TISE ย่อมาจากคำว่า The National Conference on Thai Information Science Education หรือ การประชุมวิชาการระดับชาติ การจัดการศึกษาสาขาสารสนเทศศาสตร์ในประเทศไทย เจ้าภาพจะเป็นภาควิชาในสาขาบรรณารักษศาสตร์ /สารสนเทศศาสตร์ ที่สลับกันเป็นภาพในแต่ละปี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สอน และติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวทางวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ส่วนตัวแล้วพี่ชอบนะ เพราะว่าจะได้รับรู้ในส่วนที่เป็นวิชาการ
ในปีนี้ทางภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ พี่สมัครเข้าไปเป็นวิทยากรด้วย เพราะสนใจคำชวนที่บอกว่า “งานนี้ไม่ต้องการวิชาการ ขอแค่ประสบการณ์ และความอยากที่จะมาแชร์”  ขั้นตอนคือให้เขียนบทคัดย่อแล้วส่ง และเมื่อใดที่กด Enter ก็จะลืม เพราะทำให้ไม่คาดหวังและรอ แล้ววันหนึ่งพี่ก็ได้รับคำตอบรับ จึงต้องย้อนกลับไปอ่านว่าตนเองเขียนอะไรไปบ้าง …..

“… วลีปลอบขวัญว่า “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” ความจริงคือความอบอุ่นในใจ ส่วนความเป็นจริงทั้งภาควิชา ผู้สอน นักศึกษา จนไปสู่ชีวิตในวิชาชีพ “บรรณารักษ์  ต่างต้องต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำที่ทุกเบ้าหลอมยังคงความต่าง ทั้งด้านการบริหารงาน งบประมาณ บุคลากร ความเข้มแข็งทางวิชาการและเทคโนโลยี อุดมคติของความยั่งยืนและเท่าเทียมในการเข้าถึงการเรียนรู้และทรัพยากรสารสนเทศคือความปรารถนาของทุกคน การปลุกปลอบตัวเองให้หลุดจากคำว่า “เหลื่อมล้ำ” ด้วยการแยกมองให้เห็นในมิติของความเหลื่อมและความล้ำ สร้างความแข็งแรงเพื่อความดำรงอยู่ของชีวิตและให้อยู่รอดด้วยหัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ  การฟัง-การได้ยิน การมอง-การเห็น ข้อเท็จจริง-ความเป็นจริง บวก-ลบ และความรู้-จินตนาการ แล้วสร้างคุณค่าตามภารกิจหลักที่เป็นตัวตนของห้องสมุดทั้งเรื่องการจัดหา จัดเก็บ และให้บริการ อาจจะช่วยเยียวยาลดเพดานของความ “เหลื่อมล้ำ” ลงไปบ้าง พละกำลังของความพยายามที่ส่งสารไปถึงลูกศิษย์จะเป็นแรงผลักให้พวกเขาก้าวสู่ชีวิตการทำงานด้วยความแข็งแรง ปราศจากความอ่อนแอ ไม่ย่อท้อต่อการเรียนรู้และรู้จักออกแบบจากโอกาสของความเหลื่อมและความล้ำในวิชาชีพบรรณารักษ์อย่างมีน้ำอึดน้ำทน เพราะบททดสอบมีเพียงสี่ปีในมหาวิทยาลัย ส่วนชีวิตจริงของทุกวันคือการสอบไล่”  
จากนั้นเข้าสู่โหมดเตรียมตัวไปเป็นวิทยากร ซึ่งครั้งนี้เป็นการสัมมนาแบบออนไลน์ ไม่ต้องเตรียมสไลด์ใด ๆ เตรียมตัวให้พร้อม นำเสนอในสิ่งที่ตัวเราคิดว่าควรจะเป็น คำว่า “ควรจะเป็น” เป็นการอยู่กับตัวเองสกัดความคิด ได้ที่จากประสบการณ์ การอ่าน และการณ์ต่าง ๆ ที่หล่อหลอมเป็นตัวเรา งานนี้ผู้จัดกำหนดให้พี่เสนองานใน หัวข้อ “ความท้าทายของการผลิตบรรณารักษ์และครูบรรณารักษ์ในยุค 5G” … เห็นหัวข้อแล้วถึงกับต้องงกเงิ่น ๆ ไปดูความหมายของ “5G” คือเยี่ยงไร พูดไปเมื่อ วันที่ 11 มกราคม 2564 เวลา 11 โมงค่ะ ในตอนนำเสนอพี่บอกว่า บรรณารักษ์ต้องทำงานกับมนุษย์ หากอยากรู้ว่ามนุษย์เป็น อยู่ คือ อย่างไร วิธีง่าย ๆ ย่นย่อคือ แนะนำให้ดูซี่ี่ย์เกาหลี เพราะว่าหนังสือ การค้นคว้า การอ่านจะแทรกไปอยู่ในทุกเรื่อง ในหลาย ๆ ฉาก ในหลาย ๆ อาชีพ  และที่สำคัญคือ ยังมี “นางเอก” เป็น บรรณารักษ์ และเป็นอะไรที่คล้ายหรือใกล้เคียงกับเรา
หลังจากพูดจบพี่ขึ้นสเตตัสว่า …
ตราบใดที่เราต้องทำงานกับมนุษย์
หากอยากรู้ว่ามนุษย์ทำงานอย่างไร
ตัวเราจะไปอยู่ตรงไหน
เอาแบบนี้ค่ะ หาทางลัดด้วยการดูซี่รี่ย์เกาหลีค่ะ
ที่เหลือไปใช้วิชาการที่คุณมี และวิชาเกินที่คุณแสวงหา

สิ่งที่ดีใจคือ มีผู้ฟังหลังไมค์มาบอกว่าขอให้นำสิ่งที่พูดไปเขียนเป็นบทความเพราะชอบในมุมมอง … หน้าบานค่ะ