ก็ต้องลงมือสินะ

ช่องทางการประชาสัมพันธ์ของหอสมุดเรา นอกจากจะมีข่าวสารแล้ว ยังมีการเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ การเขียนของพวกเรายังคงเขียนแบบชั้น ๆ ที่คัดลอกหรือเรียบเรียงจากหนังสือ วารสาร และอื่น ๆ แล้วอ้างอิง ซึ่งปัจจุบันการเขียนแบบนี้เรียกกันว่า “ขนมชั้น”  โดยร้อยทั้งร้อยหากนำไปตรวจสอบ ก็คือ ซ้ำทั้งร้อย ซึ่งยอมรับไม่ได้ ต้องนำกลับมาพินิจพิเคราะห์แล้วเรียบเรียงขึ้นใหม่จนเนียน ซึ่งดิฉันเรียกว่า เขียนแบบขนมเปียกปูน จนระบบที่เข้าตรวจสอบไม่สามารถแยกได้ อย่างไรก็ตามยังมีงานวิจัยบางอย่างที่ต้องเขียน ต้องอ้างอิงข้อความออกมา ที่เห็นบ่อย ๆ  ในสาขาประวัติศาสตร์ หรือ ภาษาไทย เป็นต้น และนี่คือความยากของการเขียนผลงานวิชาการ

พี่เคยถกเรื่องเขียนแบบไหนดี  บางทีนะการเขียนซื่อ ๆ ยกข้อความมาหรือเรียบเรียง แล้วอ้างอิง ดูแล้วมีความจริงใจดีกว่าการเนียนจนลืมอ้างอิง

พี่จึงขอให้พวกเราเขียนในลักษณะนี้ เพราะต้องการโยงเรื่องราวที่นำเสนอไปยังตัวเล่ม หรือเว็บไซต์  เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้  การที่ทำงานแบบนี้บ่อย ๆ ก็จะพบว่าในกูเกิ้ล กระทั่งในหนังสือ หรือบทความไม่มีการอ้างอิง ทั้งที่ควรจะอ้าง เวลาพบแบบนี้พี่จะส่งเสียงจิ้จ้ะ  ถามว่าเอามาจากไหน และที่สุดคือ ใครลอกใคร ซึ่งพี่จะดูปีที่เผยแพร่เป็นหลัก เรื่องพวกนี้พี่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก และพยายามไม่ให้พลั้งเผลอ 

คำแนะนำของพี่ที่บอกกับน้อง ๆ หากต้องการทำอะไร เขียนอะไร ต้องมีอ่านข้อมูลอย่างน้อย 3-5 แหล่ง ดูความเหมือน ความต่าง แยกแยะออกมาให้ได้ ไม่หยุดตัวเอง ขยันค้นหา  และแหล่งที่ว่าจะต้องมีการคัดสรร พิจารณาความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เจอปั้บ นำมาใช้ปุ้บ ซึ่งแบบหลังจะง่ายเมื่ออยู่ในโลกของอินเทอร์เน็ต นั้นจึงหมายตวามว่า กว่าที่จะเลือก 3-5 แหล่งข้างต้น แปลว่าต้องอ่านในจำนวนที่มากกว่านั้น เพื่องานที่ออกมาจะได้ดีสมกับเป็น content ที่ออกจากหอสมุดของเรา 

และทุกอย่างคือความเพียร ที่ท้ายสุดคือสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับตัวเรา และส่งต่อไปถึงลูกหลาน ยามเมื่อย้อนกลับไปดูอีกครั้ง เราจะมีเรื่องเล่ามีบทสนทนา ถึงเนื้อหา และวิธีการทำงาน ที่ภูมิใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในทีม

มีคนสนใจการทำงานของพวกเรา สนใจวิธีการ การเลือกเนื้อหา พี่ไม่รู้จะบอกอย่างไรจึงจะครบถ้วน เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องลงมือแล้วจะรู้ว่าเป็นอย่างไร และพี่เชื่อว่าทุกคนบอกได้ว่าเราทำงานกันอย่างไร พี่ชอบให้เครดิตคนทำงานได้พูด ได้แสดงความรู้สึก และให้ช่วยกันคิดโจทย์ พี่ชอบแอบฟังบทสนทนาของน้อง ๆ แล้วชวนให้คิดงานต่อ การฟังเป็นหนึ่งในทักษะที่ทุกคนควรมี โดนเฉพาะการฟังแบบสุนทรียสนทนา เหตุที่ต้องแอบเพราะเราเป็นคนโตและตัวโต เวลาเข้าไปในพื้นที่ของน้อง ๆ อาจทำให้อึดอัด 

เรื่อง “จันอับ” ซึ่งเป็น top post ของเดือนมกราคม ก็เกิดจากการได้ยินน้องแอนอยากรับทาน ขนมชนิดหนึ่ง แล้วไปสู่การค้นหา และการเขียน content รวมถึงการไปตะเวน ๆ หาแหล่ง และองค์ความรู้ในพื้นที่จริง รวมถึงการสร้างภาพประกอบ 1 ภาพ มีเรื่องเล่าหลายพันคำ

ทุกอย่างไม่ใช่เป็นเรื่องของความบังเอิญ พี่มองว่าเป็นเรื่องของความเพียร ความเอ๊ะ!!! ที่ไม่ทิ้งอะไรลงไปข้างทาง การฝึกฝนบ่อย ๆ คือความเฉียบคม 

ในทุก ๆ วันจะมีบทเรียนมาให้เราเรียนรู้เสมอ เพราะที่หอสมุดฯ มีสารสนเทศมากมาย ที่สามารถนำไปสร้างเนื้อหาใหม่ หรือบอกเล่า การสะสมประสบการณ์และองค์ความรู้คือมรดกพกห่อ ส่งให้รุ่นต่อไป ของแบบนี้ IO ยังไปไม่ถึง ไม่ต้องใช้เงินทองที่มีอยู่จำกัด

ในอนาคตจะอย่างไรไม่ทราบ แต่ตอนนี้การร่วมด้วยช่วยกันเป็นเดอะทีมที่แข็งขัน เพราะในที่สุดของการทำงานก็คนใกล้ตัว ๆ ตัวนี่แหละ ที่เข้าใจกัน เกื้อกูลกัน แม้ระหว่างทางจะขรุขระ อยากแวะพักบ้าง แต่จิตใจเรายังยึดมั่นในความเป็น “พี่พร้อม” ที่พวกเราภูมิใจ

พี่ไปสนทนาในคลับเฮ้าส์พอแนะนำตัวไป บทสนทนาที่ได้จากคนที่อยู่ไกล ๆ ตัวเรามากบอกว่าติดตามอยู่ ชอบสิ่งที่นำเสนอ ถามเรื่องการทำงาน บางคนบอกว่ารู้จัก “พี่พร้อม” ได้ฟังแล้วรู้สึกดี กรี้ดกร้าดอยู่ในใจ 

หนึ่งเรื่องที่เขียน ในกลุ่มไลน์เราร้อนแค่ไหน จุ้จุ้

บางทีฟังเรื่อง Upskill Reskill แบบทฤษฎีทำให้พี่ปั่นป่วนใจ 

 

Leave a Reply