เมื่อต้องไปให้สูงขึ้น

วันนี้ 3 กันยายน 2562 เวลาเก้าโมงเช้าถึงเที่ยง มหาวิทยาลัยฯ จัดให้มีการบรรยายเรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการเสนอขอกำหนดระดับตำแหน่ง เพื่อให้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นของพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน” ชื่่อเรื่องยาวหน่อยแต่มีประโยชน์กับทุกคนมาก ดิฉันไปฟังด้วยและน่าจะเป็นครั้งแรกที่ไปฟังเรื่องแบบนี้ การไปฟังนอกจากจะมีประโยชน์กับตัวเองแล้ว สิ่งที่ตั้งใจลำดับแรกคือไปฟังเพราะต้องมีหน้าที่ดูแลน้องๆ และผลักดันให้พวกเขาไปให้ได้ ถึงจะไม่ได้แต่ถือว่าตั้งใจทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว สำหรับเอกสารฉบับเต็มหาอ่านได้จากตัวแทนทุกฝ่าย/งานที่ไปเข้ากิจกรรมนี้ และดิฉันขอสรุปบางส่วนแบบคร่าวๆว่่าตำแหน่งที่สูงขึ้น ต้องมีการประเมินค่างาน กำหนดจำนวน และเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งภาระจะอยู่ที่หัวหน้าหน่วยงาน งานบุคคลในทุกระดับ ตัวของผู้ครองตำแหน่งนั้นๆ ต้องเรียนรู้และวางแผนชีวิตของตนอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง

เส้นทางความก้าวหน้า
1. จากปฎิบัติงานไปสู่ชำนาญงาน ตำแหน่งที่ลงท้ายด้วย “งาน” หมายถึง บรรจุและแต่งตั้งเข้ามาในวุฒิที่ต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับตำแหน่งเป็นขั้นดังนี้คือ ปฏิบัติงาน ชำนาญงาน และ ชำนาญงานพิเศษ ทั้งนี้ทุกตำแหน่ง สามารถเข้าสู่ระดับชำนาญงาน ส่วนชำนาญงานพิเศษ ต้องมีเรื่องของค่างานและการกำหนดจำนวนระดับตำแหน่ง
2. จากปฏิบัติการไปสู่ชำนาญการ ตำแหน่งที่ลงท้ายด้วย “การ” หมายถึง บรรจุและแต่งตั้งเข้ามาในวุฒิระดับปริญญาตรี ตำแหน่งเป็นขั้นดังนี้คือ ปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ทั้งนี้ทุกตำแหน่ง สามารถเข้าสู่ระดับชำนาญการ ตำแหน่งตั้งแต่ชำนาญการพิเศษ เป็นต้นไปต้องมีเรื่องของค่างานและการกำหนดจำนวนระดับตำแหน่ง
และทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมีผลงาน ตามเงื่อนไขของแต่ละระดับ โปรดศึกษาแบบละเอียดยิบ

คุณสมบัติเบื้องต้น
1. เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยประเภทพนักงานประจำ ของพวกเราข้อนี้ผ่านหมด
2. เป็นตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ทั้งนี้ขอให้ทุกคนที่สนใจไปอ่านและทำความเข้าใจทีละข้อและคุยกับหัวหน้า ว่าอันตัวเรานั้น “ถึง” และพร้อมที่จะก้าวต่อไปแล้วหรือยัง
3. มีเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของระดับที่จะแต่งตั้ง คิดว่าทุกคนคงจำได้
4. มีผลการประเมินการปฏิบัติงานใน 2 รอบการประเมิน ก่อนยื่นเรื่องไม่ตำ่กว่าระดับดี (3.5 หรือ 70% ขึ้นไป) เป็นความเพียรพยายามส่วนบุคคล พวกเรามี KPI ประจำกาย แต่ละข้อมีขั้น มีตอน หากเราตั้งใจจะก้าวก็ต้องสู้กันตั้งแต่ตรงนี้ หัวหน้าทุกคนพร้อมช่วยเหลือ และพี่ยินดีพาทุกคนไปสู่เกณฑ์การประเมินข้อ 4 และช่วงเวลานี้เหมาะที่สุดที่จะเริ่ม !!!

ส่งผลงานอะไรบ้าง
1. ชำนาญงานและชำนาญการ ได้แก่ คู่มือปฏิบัติงานหลักอย่างน้อย 1 เรื่อง (เป็นเจ้าของผลงานคนเดียว) หรือ ผลงานเชิงวิเคราะห์/สังเคราะห์ อย่างน้อย 1 เรื่อง (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 % หมายถึง ทำกับเพื่อนได้) หรือ ผลงานวิจัย อย่างน้อย 1 เรื่อง (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 %  หมายถึงทำกับเพื่อนได้) หรือผลงานลักษณะอื่น อย่างน้อย 1 เรื่อง (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 %  หมายถึงทำกับเพื่อนได้) ในเอกสารจะบอกลักษณะของผลงานแต่ละประเภทไว้ อ่านเพิ่มเติมเช่นกัน และผ่านการประเมินในระดับดีขึ้นไป
2. ชำนาญงานพิเศษ ได้แก่ คู่มือปฏิบัติงานหลักอย่างน้อย 1 เรื่อง (เป็นเจ้าของผลงานคนเดียว) หรือ ผลงานเชิงวิเคราะห์/สังเคราะห์ อย่างน้อย 1 เรื่อง (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 % หมายถึง ทำกับเพื่อนได้) หรือ ผลงานวิจัย อย่างน้อย 1 เรื่อง (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 %  หมายถึงทำกับเพื่อนได้) หรือผลงานลักษณะอื่น อย่างน้อย 1 เรื่อง (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 %  หมายถึงทำกับเพื่อนได้) ในเอกสารจะบอกลักษณะของผลงานแต่ละประเภทไว้ อ่านเพิ่มเติมเช่นกัน และผ่านการประเมินในระดับดีขึ้นไป
3. ชำนาญการพิเศษ มี 2 วิธี คือ วิธีที่ 1: ได้แก่ ผลงานเชิงวิเคราะห์/สังเคราะห์ (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 % หมายถึง ทำกับเพื่อนได้) และ ผลงานวิจัย หรือ หรือผลงานลักษณะอื่น (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 %  หมายถึงทำกับเพื่อนได้)  และผ่านการประเมินในระดับดีขึ้นไป วิธีที่ 2ผลงานวิจัยและหรือผลงานลักษณะอื่นรวม 2 เรื่องขึ้นไป  (เป็นเจ้าของและเป็นหลัก ไม่น้อยกว่า 50 %  หมายถึงทำกับเพื่อนได้) และผ่านการประเมินในระดับดีขึ้นไปทั้ง 2 เรื่อง
4. ส่วนเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษไปหาอ่านเอง (อ่านเพลินๆ อย่างจริงใจ เดี๋ยวไข้ขึ้น)

การส่งผลงาน
1. มหาวิทยาลัยจะมีประกาศกำหนดเวลาเพื่อให้ส่งผลงานปีละ 2 ครั้ง กรณีที่ยังไม่มีประกาศเกิดคัดเลือก แต่มีประกาศกำหนดเวลาให้ส่งผลงานล่วงหน้าก่อนมีการเปิดคัดเลือก เราสามารถนำเสนอส่วนงาน (ห้องสมุด) เพื่อขอส่งผลงานล่วงหน้าได้
2. ส่งผลงานตามลำดับขั้น เพื่อให้คณะกรรมการประจำส่วนงาน (ของเราหมายถึงคณะกรรมการประจำสำนักหอสมุดกลาง) พิจารณากลั่นกรองและประเมินผลสัมฤทธิ์ ความรู้ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะ รวมทั้งเห็นชอบคู่มือ แล้วเสนอไปยังมหาวิทยาลัยฯ (เฉพาะตำแหน่ง ชำนาญงานและชำนาญการ ที่ทุกคนสามารถไปได้)
3. ตำแหน่งชำนาญงานพิเศษ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ ต้องกลับไปดูเรื่องการกำหนดจำนวนระดับตำแหน่งก่อนว่ามีหรือไม่และอย่างไร รวมถึงความต้องการของหน่วยงานว่าจำเป็นต้องให้มีตำแหน่งนั้นๆ หรือไม่ (อือออกับตัวเองไม่ได้ค่ะ) ขั้นตอนและวิธีการประเมินที่ประเมินผลงานและทดสอบความรู้ความเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นโดยวิธีสอบสัมภาษณ์ ฯลฯ

ผลเมื่อได้รับตำแหน่งชำนาญงานพิเศษ  ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ 
1. เพดานของอัตราเงินเดือนขยายต่อ (ที่มักชอบพูดว่าตันช้าลง) และยังมีค่าตอบแทนทางวิชาการรายเดือน
2. ให้มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามลักษณะงาน หน้าที่และความรับผิดชอบ คุณภาพและความยุ่งยากของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้จัดทำผลงานที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนางานในหน้าที่ซึ่งผู้นั้นเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นหลัก หรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างน้อยปีละ 1 เรื่อง เรื่องนี้ดิฉันสนใจเพื่อจากเคยพูดและบอกกับผู้ที่ถือครองตำแหน่งนี้ ได้รับคำแนะนำจากวิทยากรว่าให้กำหนดใน KPI ในรอบการประเมินที่ 1 อาจกำหนดว่าควรจะมีเนื้อหาแค่ไหน และให้เสร็จสิ้นในรอบการประเมินครั้งที่สอง และควรทำเป็นเฉพาะราย คำถามต่อมาถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างไร วิทยากรมีความเห็นว่าการประเมินคงอยู่ในระดับไม่เกินพอใช้ ซึ่งเรื่องนี้สายวิชาการกำลังรอข้อบังคับ สายสนับสนุนก็คงตามมาติดๆ เช่นกัน เรื่องนี้จึงอยากฝากให้ผู้ที่ถือครองพิจารณาและเตรียมตัว

เอกสารมีทั้งหมดสองเล่ม เล่มแรกเป็นสไลด์ที่วิทยากรคือรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรุงแสง ลักษณบุญส่งและคุณอัปสร กิจเจริญค้า ส่วนอีกเล่มประกอบสามส่วน คือ ก) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าด้วยการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น พ.ศ.2562 ข) ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าด้วยการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน ให้เข้าสู่ตำแหน่งกลุ่มอำนวยการ กลุ่มตำแหน่งที่ปรึกษา และกลุ่มหัวหน้างาน พ.ศ.2562 ค) ระเบียบมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการประเมินค่างานและคะแนนการประเมินค่างานของตำแหน่ง สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน พ.ศ.2562

เนื่องจากมีผู้ไปเข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายคนจึงอยากให้แชร์ความรู้ความเข้าใจกัน และขอให้กำลังใจน้องๆ ทุกคนให้มีแรงทุกวัน พี่ๆ ทุกคนยินดีช่วยเสมอ สู้สู้