การเขียนบรรณานุกรม

จากการปฏิบัติงานตอบคำถามและให้บริการ เรื่องหนึ่งที่ให้บริการบ่อยคือ การให้บริการด้านบรรณานุกรม ซึ่งในสมัยก่อนถ้าเป็นนักศึกษาไม่ว่าระดับปริญญาตรี หรือโท/เอก เราก็จะยึดเอาตามรูปแบบที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรกำหนดไว้ แต่ถ้าเป็นอาจารย์ก็จะต้องซักถามก่อนว่า อาจารย์ใช้รูปแบบของสถาบันใด ของวารสารใดเป็นหลักหรือไม่

แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาต้องทำงานวิจัยบนระบบ iThesis ซึ่งให้ทำการอ้างอิงด้วยโปรแกรม EndNote  บัณฑิตวิทยาลัยจึงไม่ตรวจรูปแบบบรรณานุกรมอีกต่อไป แล้วทีนี้เมื่อผู้ใช้บริการถามเรา เราจะยึดรูปแบบอะไร…เราเอาผู้ใช้บริการเป็นหลักนะคะ

  • ถ้าเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้ใช้โปรแกรม EndNote ในการทำรายการอ้างอิง สามารถใช้รูปแบบของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ และบอกให้นักศึกษาทราบด้วยว่ารูปแบบที่ใช้เป็นองบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ถ้าเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท/เอก ที่ทำวิจัยบนระบบ iThesis  ต้องใช้โปรแกรม EndNote ในการทำบรรณานุกรม ให้สอบถามผู้ใช้ฯว่าต้องการใช้รูปแบบใด APA หรือ Numbered หรือ เชิงอรรถ ถ้าผู้ใช้ฯไม่ทราบ เราอาจคาดการณ์จากคณะวิชาที่นักศึกษาสังกัด เช่น คณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เภสัชศาสตร์ น่าจะใช้ระบบตัวเลข  คณะอักษรศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ใช้ APA หรือ เชิงอรรถ ซึ่งต้องใช้ Chicago แล้วแต่ภาควิชา  แต่ถ้านักศึกษาไม่สามารถยืนยันความต้องการได้ ต้องให้นักศึกษาสอบถามกับอาจารย์ที่ปรึกษาให้ชัดเจน และทั้งนี้ไม่มีจำเป็นต้องยึดตามรูปแบบของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ถ้าเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ที่ต้องส่งบทความวิจัยไปตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติ ในกรณีนี้ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาจะต้องทราบว่า รูปแบบการเขียนบรรณานุกรม จะต้องทำตามรูปแบบที่แต่ละวารสารที่ต้องการตีพิมพ์กำหนด อาจเป็นรูปแบบที่เป็นมาตรฐานอยู่ เช่น APA หรือ  Numbered หรือเป็นรูปแบบเฉพาะของวารสารนั้น ๆ
  • ถ้าเป็นอาจารย์ ที่ต้องการส่งงานวิจัยไปตีพิมพ์ในวารสารในประเทศ/ต่างประเทศ เช่นเดียวกับกรณีที่ 3 รูปแบบการทำรายการบรรณานุกรมจะต้องเป็นไปตามที่วารสารนั้น ๆ กำหนด แต่ร้อยทั้งร้อยกำหนดให้ทำบรรณานุกรมผ่านโปรแกรม Reference Manager ตัวใดก็ได้ ไม่สามารถทำด้วยมือเขียน ดังนั้นถ้าผู้ใช้ฯมาสอบถามผ่านเรา ก็คงไม่พ้นให้ใช้โปรแกรม EndNote ช่วย ซึ่งเราสามารถช่วยเหลือแนะนำผู้ใช้ฯได้ว่า ในโปรแกรม EndNote มี template บรรณานุกรมของวารสารทั่วโลก ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปสืบหาว่า ต้องเขียนอย่างไร
  • ถ้าเป็นอาจารย์ที่เขียนตำรา ไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรม EndNote และให้สอบทานกับอาจารย์ผู้เขียนก่อนว่าอาจารย์ต้องการใช้รูปแบบใดเป็นพิเศษหรือไม่ หากอาจารย์ไม่ทราบ ให้ดูคณะวิชาที่อาจารย์สังกัด จะสามารถเลือกให้ใช้แบบ APA หรือ Numbered ได้ ดูว่าในตำราของอาจารย์มีการอ้างอิงแบบเชิงอรรถหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องใช้แบบ Chicago เป็นต้น ส่วนรูปแบบการลงรายการสามารถใช้รูปแบบของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรได้