The Letter

 

วันนี้จะมาชวนเพื่อนๆ อ่านหนังสือซึ่งฉันคัดสรรที่ตรงจริตของตัวเอง
โดยมีแรงจูงใจแรกที่สะดุด คือ เป็นหนังสือภาษาไทย แต่ชื่อ The Letter
มีคำขยายตามมาในชื่อเต็มๆ ว่า The Letter  ถึงที่รัก…ก่อนที่เธอจะพักผ่อน
ทั้งนี้อาจเพราะความอิน (คำว่า “อิน” นี้ ต้องขอใส่เครื่องหมายเป็นพิเศษว่า
ใช้ในความหมายที่เข้าใจกันในหมู่คนไทย หากเขียนเป็นภาษาปะกิตคาดว่าฝรั่งมี “ง” 2 ตัว)
ส่วนตัวฉันยังอินกับภาพยนตร์ไทยชื่อสากลเดียวกันนี้แม้จะฉายนานหลายปีแล้วก็ตาม
เมื่อหยิบหนังสือมาฉันอ่านคำนิยมแบบผ่านเร็ว
และเมื่อเลื่อนไปอ่านคำนำจึงตัดสินใจเลือก  ผู้เขียนขึ้นต้นว่า

 

“… หลังจากน้องชายได้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์
แม้จะบวชพระมาก็หลายปี แต่ก็ยังถูกความเศร้าครอบงำจิตใจ
ภาพเหตุการณ์คอยจะผุดขึ้นในใจซ้ำแล้วซ้ำอีก
กระทั่งสติเริ่มจะเตือนให้รู้ตัว…จึงค่อยๆ เขียนจดหมายขึ้นทีละฉบับ เพื่อเยียวยาใจตนเอง
เพราะนอกจากคิดถึงน้องผู้จากไป ใจก็ยังพะวงห่วงใยน้องๆ ที่ยังอยู่…
แม้จะเสียดายที่คนตายไม่ได้อ่าน แต่ก็ตั้งใจเขียนเพื่อให้คนที่ยังอยู่ได้เปิดดูบ้าง”

 

จดหมาย 34 ตอน หากฉันเล่าคาดว่าคงยาวเท่าๆ หรือมากกว่าเนื้อหาต้นฉบับ
ฉันจึงคัดบางบท ไม่สิ ต้องเรียกว่า คัดบางฉบับที่ประทับใจมาเล่าสู่ละกัน

 

ฉบับแรก ใช้ชื่อว่า “เริ่มที่คิดจิตจึงสุข”
โปรยคำในบท กล่าวว่า
“ความสุขของคนเรานั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ไหนหรือมีเท่าไหร่
แต่อยู่ที่…พอใจหรือเปล่า…เท่านั้นเอง”

เนื้อความยกตัวอย่างนิทานเศรษฐีขี้เหนียวกับชายชราที่อาศับบ้านซอมซ่อใกล้ๆ กัน
เศรษฐีนั้นในใจเขารู้สึกไม่พอใจบ้านหลังนี้ชนิดที่ “เห็นทีไรปวดใจทุกที”
เขาส่งคนมาขอซื้อด้วยราคาแพงลิ่วแต่เจ้าของไม่ขาย
ที่สุดเขามาหาชายชราเจ้าของบ้านซึ่งต้อนรับเขาอย่างดี และถามถึงเหตุที่ไม่ขายบ้าน
เหตุผลที่ชายชราตอบเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต ชายชรากล่าวว่า
“ไม่หรอกท่าน ข้าจะหาซื้อบ้านแบบนี้ได้ที่ไหน บ้านที่เปิดหน้าต่างทีไรก็ให้ความสุขได้ทุกวัน
เพราะบ้านข้ามีวิวทิวทัศน์อันงดงามด้วยภาพปราสาทที่ใหญ่โตโอฬาร…”

ชายชราพูดถึงบ้านของเศรษฐีนั่นเอง

 

ฉบับที่ 2 ใช้ชื่อว่า “ขำๆ” 
โปรยคำในบท กล่าวว่า “คิดเสียว่าเป็นเรื่อง ขำๆ เก็บจำไปก็ช้ำใจเปล่า”
เนื้อความเล่าเรื่องที่ผู้เขียนบอกว่า เป็นเรื่องขำๆ สมมติว่าเป็นเรื่องของตนเอง
เมื่อเขาต้องไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
โดยใช้เวลาเดินทางพอสมควร เขามีอาการลมเดินในท้องแต่ต้องกลั้นมาตลอดทาง
กระทั่งจะขึ้นลิฟต์ที่มหาวิทยาลัยและเห็นว่าถ้าไม่ปล่อยเสียตอนนั้นจะไม่มีโอกาสอีก
ครั้นจะปล่อยตั้งแต่เข้าลิฟท์ไปก็ต้องทนกลิ่นไปลำพังจนถึงชั้น 6
เขารอจนถึงชั้น 5 จึงปล่อยออกมาเต็มที่
ทั้งเสียงและกลิ่นตลบ จากชั้น 5 – 6 เขากลั้นใจไม่นานนัก
…แต่พอประตูลิฟท์เปิดออก…
มีนักศึกษากลุ่มใหญ่ยืนรอและเข้าไปทันทีที่เขาออกมาและเชื่อว่ากลิ่นยังไม่จางหาย
เรื่องนี้เขาให้มุมคิดว่าอารมณ์ขันเป็นยาบรรเทาทุกข์ โดยทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่า
เวลาที่เราหัวเราะร่างกายจะหลั่งสารสุขออกมา ดังนั้นสิ่งที่เกิดในชีวิตแล้ว
ก็ให้คิดว่าเป็นเรื่องขำๆ  เพราะเก็บจำไปก็ช้ำใจเปล่าๆ

 

ฉบับสุดท้ายที่ประทับใจ ใช้ชื่อว่า “บางทีไม่ต้องยุติธรรมทุกครั้งก็ได้” 
โปรยคำในบทกล่าวว่า “ถ้าเราฟัง เราจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าเราพูด คนอื่นก็จะได้ประโยชน์”
เนื้อความผู้เขียนเกริ่นนำโดยยกเรื่องความยุติธรรมทางการเมือง
ที่เขามักได้ยินน้องพูดและอยากแลกเปลี่ยนคิดเห็น แต่ก็นิ่งฟังเหตุและผลของน้อง
และทราบว่าน้องของเขาได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนและรับฟังผู้อื่นด้วย
ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะได้ทำความเข้าใจความคิดเห็นคนอื่นๆ ด้วย
ผู้เขียนให้ทัศนะทางการเมืองว่าเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์
ที่มีปัญหาเพราะแย่งชิงแบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัว ประเด็นการเมืองจบไว้เพียงเท่านั้น

แล้วจึงยกตัวอย่างนิทานชาวนาให้ลูกสองคนแบ่งแตงโมที่ซื้อมาให้ทาน
และสังเกตลูกๆ ว่าจะตกลงแบ่งให้เท่าๆ กันอย่างไร
เด็กทั้ง 2 ตกลงกันว่าคนผ่าแตงโมต้องเป็นคนเลือกทีหลัง
เพราะหากเลือกก่อนก็อาจผ่าไม่เท่ากันและเลือกเอาชิ้นใหญ่กว่าไป
แต่เมื่อคนพี่ผ่าให้น้องเลือกก่อนก็ต่างคนต่างกินด้วยความสุข
เรื่องจบลงแต่ผู้เขียนยังมีความคิดต่อเนื่อง
ซึ่งเขาคิดไปว่าการแบ่งแตงโมนั้นอาจแบ่งไม่เท่าก็ได้

หากคนพี่เห็นแก่น้องอยากให้น้องได้ชิ้นใหญ่น้องมีโอกาสเลือกก็จะหยิบชิ้นใหญ่ไป
เหมือนคนในสังคมที่เอื้อเฟื้อโอกาสแก่คนที่ด้อยกว่า หรือในทางตรงข้าม
ถ้าผู้เป็นน้องเลือกก่อนและประเมินว่าตัวเองกินน้อยเลือกชิ้นใหญ่จะกินไม่หมด
พี่ตัวใหญ่กว่าน่าจะได้ชิ้นใหญ่ การเห็นใจกันและกัน
ไม่ว่าส่วนแบ่งนั้นจะเท่าหรือไม่แต่ก็มีความพึงพอใจ
จึงเกิดความเท่าเทียมกันได้ด้วยธรรมะในใจนั้นเอง

 

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นพระภิกษุ ใช้นามปากกาว่า ธรรมรตา
ท่านสนใจและมีความพยายามในการเขียนจนเป็นผลสำเร็จ
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นและจัดพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจน้องชายเป็นครั้งแรก
แง่คิดและมุมมองที่ถ่ายทอดเป็นแนวทางช่วยให้เรียนรู้
โดยทำความเข้าใจกับทุกข์ ในมุมต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกข์ที่อาจเกิดขึ้น
การอ่านนอกจากช่วยผ่อนคลายแล้ว ยังช่วยเพิ่มมุมมองในการทำความเข้าใจขีวิตในมิติต่างๆ
สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้จริงเพียงแต่ตั้งสติให้รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น

 

หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ให้บริการหนังสือเล่มนี้ มีเลขเรียกคือ PL4209.6.ธ44 ถ62
นอกจากนี้ยังมีหนังสือของผู้แต่งคนเดียวกันนี้อีก 2 ชื่อเรื่อง
คือ วิชาความสุข และ อย่าคว้าดวงดาวด้วยสายตา

Leave a Reply