ด้วยความตั้งใจเป็นผู้ให้ จึงสัญญากับตัวเองไว้ว่าหากร่างกายพร้อม จะบริจาคโลหิตเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยและต่อชีวิตให้กับผู้อื่น มีหลายครั้งที่ตั้งใจไปบริจาคแล้วไม่สามารถบริจาคได้ เนื่องจากความเข้มข้นของเลือดไม่พอ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ล้มเลิกความตั้งใจ กลับทำให้หันมาดูแลตัวเองเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การพักผ่อน หรือการทานธาตุเหล็ก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบริจาคครั้งต่อไป
โลหิต คือ ของเหลวสีแดงที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดในร่างกาย ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเม็ดเลือด และพลาสมา อวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด คือ ไขกระดูกที่อยู่ในโพรงกระดูกทั่วร่างกาย โดยปริมาณโลหิตในร่างกายจะมีประมาณ 4,000-5,000 ซีซี
ส่วนประกอบและหน้าที่สำคัญของโลหิต
- เม็ดเลือด จะมีอยู่ประมาณ 45% ของโลหิตทั้งหมด มี 3 ชนิด คือ เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell) เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell) และ เกล็ดเลือด (Platelets)
- พลาสมา (Plasma) คือ ส่วนประกอบของโลหิตที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองใสซึ่งประกอบไปด้วยสารโปรตีน ได้แก่ อัลบูมิน (Albumin) โกลบูลิน (Globulin) อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาปริมาณน้ำภายในหลอดเลือด ต่อต้านเชื้อโรคและช่วยในการแข็งตัวของเลือด ตามลำดับพลาสมา จะมีอยู่ประมาณ 55% ของโลหิตทั้งหมด
ความจำเป็นต้องใช้โลหิต
- ผู้ป่วยที่เกิดภาวะสูญเสียโลหิตเฉียบพลัน ได้แก่ อุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดหลังคลอดบุตร หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผู้ป่วยโรคเลือด ได้แก่ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากสาเหตุอื่นๆ โรคเกล็ดเลือดต่ำ หรือโรคขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (ฮีโมฟีเลีย)
ขั้นตอนในการบริจาคโลหิต
- กรอกข้อมูลลงในใบสมัคร และคัดกรองสุขภาพตามความเป็นจริง เพื่อความปลอดภัยทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ”
- วัดความดันโลหิต โดยเกณฑ์ความดันที่สามารถบริจาคโลหิตได้ คือ
– ความดันตัวบน อยู่ที่ 100-160 mmHg
– ความดันตัวล่าง อยู่ที่ 50-100 mmHg
– ชีพจร อยู่ระหว่าง 50-100 ครั้ง/นาที
- ลงทะเบียน ผู้บริจาคโลหิต
นำใบสมัครผู้บริจาคโลหิต ติดต่อ ณ จุดลงทะเบียนผู้บริจาคโลหิต พร้อมแสดงบัตรประชาชน หรือบัตรผู้บริจาคโลหิต
- วัดความเข้มข้นโลหิต ผู้บริจาคจะได้รับการตรวจค่าความเข้มข้นของโลหิต ก่อนการบริจาคโลหิตทุกครั้ง โดยจะต้องมีเกณฑ์ความเข้มข้นโลหิตที่สามารถบริจาคโลหิตได้ ดังนี้
♀️ ผู้หญิง ต้องมีค่าความเข้มข้นโลหิต ระหว่าง 12.5 – 16.5 กรัม ต่อเดซิลิตร
♂️ ผู้ชาย ต้องมีค่าความเข้มข้นโลหิต ระหว่าง 13.0 – 18.5 กรัม ต่อเดซิลิตร
- คัดกรองสุขภาพ ผู้บริจาคจะได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพจากทีมแพทย์/พยาบาล เพื่อประเมินสุขภาพก่อนการบริจาค ***โปรดตอบคำถามตามความเป็นจริง*** เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของตัวผู้บริจาคโลหิตและผู้ป่วยที่จะได้รับโลหิต
- ผู้บริจาคจะได้รับการเจาะเก็บโลหิต ปริมาณ 350-450 CC
- เมื่อบริจาคเสร็จให้นอนพักบนเตียง 5 นาที หลังจากนอนพักบนเตียงแล้ว หากไม่มีอาการผิดปกติ นั่งพักต่ออีกสัก 10-15 นาที ที่ห้องพักผู้บริจาคโลหิต พร้อมดื่มกับน้ำและขนมแสนอร่อย
- เช็กความดัน ก่อนกลับบ้าน
การบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง บริจาคครั้งละ 350 – 450 ซีซี ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค คิดเป็น 10 -12% ของปริมาณโลหิตทั้งหมดในร่างกาย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต สามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน
ข้อมูลจาก : สภากาชาดไทย