รับยา 16 โรคไม่มีค่าใช้จ่าย
ระหว่างการเดินทางไปทำงาน ในช่วงที่รถติดไฟแดง สายตาได้เหลือบไปเห็นป้ายขนาดใหญ่ติดอยู่หน้าร้านขายยา มีข้อความว่า “รับยา 16 โรคไม่มีค่าใช้จ่าย” ด้วยความสงสัย จึงได้ลองหาข้อมูลอ่านเพื่อคลายสงสัยและนำมาแบ่งปันต่อเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจค่ะ…
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เพิ่มบริการ “เภสัชกรรมปฐมภูมิ” โดยเภสัชกรร้านยาในชุมชนร่วมดูแล ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่ไหน สามารถปรึกษาเภสัชกรและรับยาตามอาการได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใน 16 กลุ่มอาการ ประกอบด้วย
- ปวดหัว (HEADACHE)
- เวียนหัว (DIXXINESS)
- ปวดข้อ (PAIN IN JOINT)
- เจ็บกล้ามเนื้อ(MUSCLE PAIN)
- ไข้ (FEVER)
- ไอ (COUGH)
- เจ็บคอ (SORE THROAT)
- ปวดท้อง (STOMACHACHE)
- ท้องผูก (CONSTIPATION)
- ท้องเสีย (DIARRHEA)
- ถ่ายปัสสาวะขัด,ปัสสาวะลำบา,ปัสสาวะเจ็บ (DYSURIA)
- ตกขาวผิดปกติ(VAGINAL DISCHARGE)
- อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน (SKIN RASH/LESION)
- บาดแผล (WOUND)
- ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับตา(EYE DISORDER)
- ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู (EAR DISORDER)
บริการนี้ช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น เพราะในแต่ละพื้นที่จะมีร้านยามากกว่า 1 แห่ง และกระจายตัวอยู่ในชุมชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายกว่าการไปโรงพยาบาล เพราะสามารถเลือกไปใช้บริการตามเวลาเปิด-ปิดของร้านยาได้ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องลางานเหมือนกับไปโรงพยาบาล การที่ประชาชนสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการที่ร้านยาแทนการไปโรงพยาบาล ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษา เพราะเป็นการรักษาที่เริ่มตั้งแต่มีอาการ ไม่ใช่ระยะที่อาการลุกลามหนัก และเมื่อโรงพยาบาลลดความแออัดลง บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลก็ไม่ต้องทำงานหนัก มีเวลาในการดูแลรักษาผู้ป่วยนานมากขึ้น ดูแลผู้ป่วยได้ละเอียดมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อการรักษา
ขั้นตอนรับบริการ
1. ตรวจสอบรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/page/List_of_retail_pharmacies หรือสังเกตจากสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย
2. ไปที่ร้านยา และใช้บัตรประชาชน (ตัวจริง) เภสัชกรจะคัดกรองอาการเบื้องต้น ให้ยาพร้อมคำแนะนำการใช้ยา (หรือแนะนำให้พบแพทย์ ในกรณีที่พบว่ามีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์)
3. เภสัชกรติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา
ขอบคุณข้อมูล https://www.nhso.go.th/home
และ https://www.thecoverage.info/news/content/4260