ม.ล.ปิ่น มาลากุล…ข้าราชการ 4 แผ่นดิน

ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นบุคคลตัวอย่างที่กล่าวได้ว่าท่านเป็นข้าราชบริพารผู้จงรักภักดี รับใช้แผ่นดินสนองใต้เบื้องพระยุคลบาทถึง 4 แผ่นดิน ท่านสืบเชื้อสายจากราชสกุล มาลากุล อันมีต้นสกุลเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา
กรมพระยาบำราบปรปักษ์

เมื่อยังเยาว์วัย อายุเพียง 8 ขวบ บิดาได้นำเข้าถวายตัว เป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ม.ล.ปิ่นฯ ทำงาน
รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท รัชกาลที่ ๖ ทรงพระเมตตาส่งไปศึกษาเล่าเรียน ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อสำเร็จการศึกษากลับคืนสู่ประเทศไทย พ.ศ.2474 ก็ล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 7 แล้ว ท่านได้เข้ารับราชการแทบจะในทันทีที่คืนสู่มาตุภูมิในวันเสาร์คล้ายวันเกิด
เพียงพักในวันอาทิตย์ 1 วัน โดยท่านได้รับคำสั่งให้บรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำกองแบบเรียน กรมวิชาการ ท่านทำงานรับใช้แผ่นดิน
เพียง 1 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475

ต่อมา พ.ศ.2480 สมัยรัชกาลที่ 8 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้ท่านตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในขณะที่ไม่มี
แม้แต่งบประมาณ สถานที่ และบุคลากร ท่านจึงแก้ปัญหาด้วยการยุบชั้นโรงเรียนหอวัง ซึ่งมีการย้ายทั้งครูและนักเรียนจาก
โรงเรียนวัดหัวลำโพง มาตั้งเป็นโรงเรียนหอวัง เพื่อใช้ฝึกหัดสอนแก่นิสิตฝึกหัดครูและมีการปรับอีกครั้งเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ในเวลานั้นสถานการณ์การเมืองโลก เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนของฝรั่งเศสขึ้น ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา ทั้งได้รับคำสั่งให้ตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ขณะที่ข่าวสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็รุกคืบเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อญี่ปุ่นส่งกองทัพเข้าโจมตี Pearl Harbor พ.ศ.2484 พร้อมกับบุกเข้าไทย ทางกรุงเทพฯ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ได้รับผลกระทบจากการถูกญี่ปุ่นบุกยึดอาคารเรียนทั้งหมด และผลกระทบนี้ยังมีไปถึงโรงเรียน Prince Royal ที่เชียงใหม่ ซึ่งได้รับคำสั่งด่วนให้โรงเรียนเตรียมฯ ย้ายมาใช้เป็นที่มั่นแทน แต่ในที่สุดเชียงใหม่ก็ถูกเครื่องบินโจมตีจนต้องปิดโรงเรียน

พ.ศ. 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติพระนคร ทรงเสด็จฯ เยี่ยมเยียมประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ พร้อมกันนั้น
ทรงให้ผู้เชี่ยวชาญต่างสาขาวิชาเข้าเฝ้ารายคน เพื่อทรงรับฟังและเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของประเทศไทย ม.ล.ปิ่นฯ ได้เข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 กราบบังคมทูลประเด็นสำคัญทางการศึกษา คือ การฝึกหัดครู เพื่อเป็นการแก้ไขบรรเทาสถานการณ์บ้านเมืองในยามนั้น ทรงรับสั่งกับ ม.ล.ปิ่นฯ ว่า “อย่าทิ้งการศึกษา” แต่เป็นที่น่าเสียใจ เพราะเพียงอีก 9 วันต่อมา ก็เสด็จสวรรคต

เดือนกันยายน พ.ศ. 2489 ต้นสมัยรัชกาลที่ 9 ม.ล.ปิ่นฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อการศึกษาของชาติขยายเพิ่มมากขึ้น พ.ศ.2495 ท่านจึงตั้งกรมวิชาการขึ้น ตามด้วยกรมการฝึกหัดครู ใน พ.ศ. 2497 โดยท่านเป็นอธิบดีกรมทั้งสอง และเริ่มตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู ซอยประสานมิตร (มศว.ประสานมิตร) พร้อมทั้งเปิดโรงเรียนสาธิต ประสานมิตร นับเป็นโรงเรียนสาธิต แห่งที่  2 ถัดจากโรงเรียนมัธยมหอวัง

พ.ศ.2500 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านถูกเชิญให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม กระทั่งเข้าสู่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ท่านถูกเชิญไปพบกรณี กรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันมีเรื่องทะเลาะ
เบาะแว้งกันอยู่เสมอ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรไปพร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ

พ.ศ.2511 ท่านได้เปิดสอนอักษรศาสตร์ ณ วิทยาลัยทับแก้ว โดยใช้ระบบวิทยาลัยเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด แต่ใช้ระบบวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยได้เพียง 3 ปี ก็ต้องยุติลง แต่สิ่งซึ่งท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ห้องสมุดเสียง บริการเสียงปาฐกถาของบุคคลสำคัญ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เสียงภาษาต่าง ๆ เสียงเพลง ตลอดจนการละเล่นพื้นบ้าน และอื่น ๆ ที่ให้ทั้งนักศึกษาและผู้ที่สนใจสามารถเรียกฟังได้จากทางไกล โดยได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องรับเสียงจากวิทยาลัยทับแก้ว ทรงเก็บบนพระตำหนักจิตลดาฯ 1 เครื่อง และพระราชทานโรงเรียนจิตรลดา 1 เครื่อง กับทั้งทรงรับสั่งว่า ต่อไปใครมาขอพระราชดำรัส จะไม่พระราชทาน
…เพราะจะเก็บไว้ที่นี่(ทับแก้ว) แห่งเดียว…

เรื่องราวของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล…ข้าราชการ 4 แผ่นดิน ในฐานะบุคคลสำคัญด้านการศึกษาของโลก ซึ่งได้รับยกย่องจาก UNESCO
มีรายละเอียดความสำคัญอย่างไร ติดตามรับฟังเพิ่มเติม จากรายการ SNC Library Podcast ตอน
ม.ล.ปิ่น มาลากุล…ข้าราชการ 4 แผ่นดิน : SNC Library Podcast S4 Eps. 174


บรรณานุกรม
อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. (2539). กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว.