การใส่เลขหน้าในการอ้างอิงนามปี

วันหนึ่ง…ได้รับคำถามส่งต่อจากน้องแอน ให้ตอบข้อสงสัยของผู้ใช้บริการให้ที ข้อความว่า

สวัสดีค่ะ ขอสอบถามเกี่ยวกับการอ้างอิงแทรกในเนื้อหาวิทยานิพนธ์ค่ะ ปัจจุบัน การอ้างอิง apa 7 ไม่ต้องใส่เลขหน้าแล้วใช่มั้ยคะ เช่น เมื่อก่อน apa 6 ใช้ (พรชัย เตชะ, 2564, น. 15-20) พอเป็น apa 7 ก็เหลือแค่ (พรชัย เตชะ, 2564)

ก่อนที่จะเล่าให้อ่านว่า ได้ตอบไปอย่างไร ก็จะอธิบายก่อนว่า การอ้างอิงนามปี คือ การอ้างอิงที่อยู่ในเนื้อหาของงานวิจัย โดยส่วนมากตามรูปแบบที่มหาวิทยาลัยศิลปากรใช้อยู่ก็จะเป็นรูปแบบการเขียนบรรณานุกรมแบบ APA ที่เห็นเป็นเครื่องหมายวงเล็บคร่อมชื่อผู้แต่งและปีที่พิมพ์อยู่ท้ายข้อความที่นำมาเขียนหรือสรุปไว้ในเนื้อหางานวิจัย แต่ถ้าเป็นรูปแบบการเขียนบรรณานุกรมแบบ Numbered (รูปแบบตัวเลข) หรือแบบ Chicago (รูปแบบเชิงอรรถ) ที่จะเห็นตัวเลขลำดับของการอ้างแทนที่จะเป็นเครื่องหมายวงเล็บ ถ้าสังเกตลักษณะการอ้างอิงนามปีในงานวิจัยต่าง ๆ เราอาจจะพบว่า บางครั้งก็มีการระบุเลขหน้าที่ปรากฎข้อความที่นำมาใช้ บางครั้งก็ไม่ปรากฎเลขหน้า ซึ่งตามที่ผู้ใช้บริการถาม เนื่องจากไม่แน่ใจรูปแบบใหม่ของ APA 7th แล้วเมื่อใดต้องใส่เลขหน้า หรือไม่ต้องใส่เลย (ตามสันนิษฐานของผู้ใช้บริการ)

ในกรณีนี้ได้ตอบผู้ใช้บริการไปว่า การที่จะใส่เลขหน้าอ้างอิงในการอ้างอิงในเนื้อหาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการนำข้อมูลของแหล่ง (sources) มาใช้ในเอกสารของเรา

-ถ้าเป็นการ quote ข้อความ คือการนำข้อความของผู้อื่นมาอ้าง โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงคำพูด (วิธีการ quote ยังมีวิธีการหลายอย่าง) เมื่อเขียนอ้างอิงในเนื้อหา ก็จะต้องใส่เลขหน้าของแหล่งด้วย เพื่อให้ผู้อ่านตามไปอ่านเพิ่มเติมได้

-ถ้าเป็นการ paraphrase คือการอ่านเนื้อหาของแหล่ง ด้วยความเข้าใจ โดยอาจจะอ่านจากแหล่งหลายแหล่ง แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ ด้วยภาษาของตนเอง ในกรณีนี้การเขียนอ้างอิงในเนื้อหา ก็จะใส่เฉพาะชื่อผู้แต่งและปี ไม่ต้องใส่เลขหน้า และใส่ทุกรายการที่อ่านมา

ในเว็บไซต์ของ APA Style ได้ระบุ Author-Date Citation System ไว้ เป็น 2 กรณี คือ Parenthetical citation และ Narrative citation โดยไม่ได้มีการระบุว่าต้องใส่เลขหน้า ดังนี้ (มีหลักการ Author-Date Citation System โดยละเอียด ใน Manual บทที่ 8)

https://apastyle.apa.org/style-grammar-guidelines/citations/basic-principles/author-date

ส่วนในการอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ที่อยู่บนระบบ iThesis ต้องใช้โปรแกรม EndNote ในการทำบรรณานุกรม ซึ่งเมื่อ insert citation จะไม่ปรากฏเลขหน้า ในกรณีนี้ให้นักศึกษาสอบถามกับอาจารย์ที่ปรึกษาว่า อาจารย์ต้องการอย่างไร แล้วจึงมา insert เลขหน้าด้วยโปรแกรม EndNote การใช้ APA6th หรือ APA7th สามารถปรับได้ด้วยโปรแกรม EndNote

อธิบายให้นักศึกษาทราบดังนี้แล้ว นักศึกษาก็เข้าใจแนวความคิด และนำกลับไปใช้ในการทำวิทยานิพนธ์ได้

บางครั้งอาจมีความเข้าใจผิดว่า เมื่อเราอ่านข้อมูลจากแหล่งหลาย ๆ แหล่งแล้ว นำมาเรียบเรียงใหม่ ไม่จำเป็นต้องอ้างอิง ก็ต้องพิจารณาว่า ข้อความ เนื้อหาที่เราเรียบเรียงนั้น ยังคงใจความสำคัญของเอกสารต้นแหล่งเพียงใด ส่วนใหญ่แล้ว นอกจากข้อมูลที่เราได้จากองค์ความรู้จากการทดลอง (โดยมีทฤษฎีที่ใช้อ้างอิง) แล้วเกิดความรู้ใหม่ หรือมีประเด็นที่เกิดการเปรียบเทียบกับองค์ความรู้เดิม และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ การสัมภาษณ์ การลงพื้นที่จริง แล้วเขียนจากประสบการณ์ จากเหตุการณ์จริง แล้ว เราถึงสามารถเขียนรายงานได้โดยไม่ต้องอ้างถึงทฤษฎีใด ๆ แต่ถ้าเป็นการเรียบเรียงโดยการ paraphrase จากแหล่งอื่น ๆ เช่น หนังสือ บทความ ฐานช้อมูล เหล่านี้ ก็จะต้องอ้างอิงเสมอ ด้วยวิธีการ quote หรือ paraphrase เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่า plagiarism