สงกรานต์ไทย: ตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ปี ๒๕๖๖ ประเทศไทยเสนอให้ประเพณีสงกรานต์ของไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโก โดยยูเนสโกจะพิจารณาขึ้นทะเบียนภายในเดือนธันวาคมนี้

ด้วยเหตุที่ประเพณีสงกรานต์มีการเฉลิมฉลองทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตามภูมิหลังทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน อันบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีจุดร่วมกันเพียงหนึ่งเดียว สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ภายใต้แนวคิด สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล โดยมีแนวทางในการ สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ด้วยการจัดกิจกรรมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่ทรงคุณค่าสาระอันดีงาม ตามแบบประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่นซึ่งมีภูมิหลังวัฒนธรรมที่แตกต่าง

ส่งเสริมการแสดงความกตัญญูต่อครอบครัว บรรพบุรุษ บิดามารดา ผู้มีพระคุณ รวมถึงศาสนา ตลอดจนสร้างค่านิยมในการเคารพมาตรการรักษาความปลอดภัยช่วงประเพณีสงกรานต์ รวมทั้งการเคารพในสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และมีแนวทางในการ ร่วมสานใจ สู่สากล โดยการเผยแพร่คุณค่าสาระที่ดีงามของประเพณีสงกรานต์ในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ตามแบบประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสมอันเป็นอัตลักษณ์ที่แท้จริง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นทุกภูมิภาคของไทยสู่สายตาชาวต่างชาติ

ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และต่างประเทศ สร้างความตระหนักรู้และความหวงแหนแก่ชาวไทย ในฐานะที่ประเพณีสงกรานต์จะได้รับการพิจารณาจากยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เชิญร่วมด้วยช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนประเพณีสงกรานต์วิถีไทย Soft Power ด้านการอนุรักษ์ สู่การเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ติดตามรับฟังเรื่องราวจากรายการ SNC Library Podcast ในตอน สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล: SNC Library Podcast S4 Eps.149  กดลิ้งค์ติดตามรายการได้เลยค่ะ

ขอบคุณข้อมูล
– กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (2566). แนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรมเนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล”. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. Retrieved เมษายน 12, 2566.
– วรณัย พงศาชลากร. (2566, เมษายน 11). “การละเล่นสาดน้ำ” ในวันสงกรานต์ มาจากพิธีกรรมขอฝนในฤดูร้อนและแล้งของตระกูลไทลาว. Retrieved เมษายน 13, 2566, from EJeab Academy: https://www.facebook.com/EJeab.Academy