เฉลวความลับของหมอยาไทย

เฉลว ออกเสียงว่า ฉะ-เหลว พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  หน้า ๓๓๙ อธิบายว่าเป็นคำนาม หมายถึง “เครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทําด้วยตอกหักขัดกันเป็นมุม ๆ ตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป สําหรับปักหม้อยา ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของซึ่งจะขาย ปักบอกเขต หรือปักบอกเขตด่านเสียค่าขนอน, ฉลิว หรือ ตาเหลว ก็ว่า”

ความเชื่อในเรื่องเฉลวนี้ ผู้เขียนพบบทความ เรื่อง เฉลว-สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของคนตระกูลไต จาก https://www.sarakadee.com/2018/04/16/cha-lew/ กล่าวว่า “ในโลกทัศน์ของกลุ่มคนไทย-ไต เครื่องหมายที่เกิดจาก “ตอก” คือเส้นไม้ไผ่ที่จักให้บางเป็นเส้นแล้วสานหักขัดไขว้กัน ถือเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ป้องกันอำนาจชั่วร้ายและขับไล่ภูตผีปีศาจได้ จึงปักไว้ที่ปากหม้อต้มยาไทย เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของตัวยา ไม่ให้สิ่งไม่ดีต่าง ๆ เช่นภูตผี หรือคุณไสย มาแผ้วพานให้ยาเสื่อมสรรพคุณ ซึ่งก็สอดรับกับบทนิยามคำว่า “เฉลว” จาก “อักขราภิธานศรัพท์” พจนานุกรมยุคต้นรัชกาลที่ ๕ ของหมอบรัดเลย์ ที่ว่า “เปนเครื่องสำรับกันวิชาอาคมต่างๆ, สานด้วยไม้เปนตาตราง, เหมือนที่เขาปักไว้ที่ด่าน เปนต้น”

สำหรับแฟนละครจอแก้วคงผ่านหูผ่านตาเครื่องจักสานชนิดนี้ จากละครหมอหลวงที่มีผู้ติดตามกันทั่วบ้านทั่วเมือง ละครเรื่องนี้นับว่าให้ความรู้หลากหลายเกี่ยวกับองค์ความรู้การรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย ได้เรียนรู้ทั้งคำศัพท์ ทั้งสรรพคุณ ของสมุนไพรต่าง ๆ โดยเฉพาะแฟนเพจเฟซบุ๊คของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ก็จะได้ใกล้ชิดประหนึ่งดูละครรายวันกับสารพัดคลังคำ คลังความ ที่พี่พร้อมนำมาฝาก

กล่าวถึงการแพทย์ของไทย หากย้อนไปในสมัยอยุธยาก็ยังคงเป็นการแพทย์แบบแผนโบราณ ที่มีการใช้ยาสมุนไพร ประกอบกับการรักษาที่ยังคงไว้ซึ่งความเชื่อทางไสยศาสตร์และโชคลาง สังคมไทยสมัยก่อนเมื่อใครไม่สบายไปหาหมอ หมอจะเจียดยาสมุนไพรให้ สมุนไพรชนิดใดต้องนำไปต้มดื่มก็มักจะต้มในหม้อดินเผา ที่ปากหม้อยาต้องหุ้มปิดด้วยใบตอง ในสมัยที่ยายของผู้เขียนยังมีชีวิต ยายเป็นหมอตำแยและเป็นหมอยาไทยที่สืบต่อมาจากทวด บางครั้งก็เห็นยายบ้าง แม่บ้าง ใช้ผ้าขาวบาง (ซึ่งอาจเป็นการใช้ในยุคปัจจุบัน…แต่ก็นานโขหลายสิบปีแล้ว) มาปิดปากหม้อแทนใบตองด้วยในเมืองไม่มีต้นกล้วย หากจะใช้ใบตองต้องซื้อหามาทั้งมัดใหญ่ที่เขาวางขาย การใช้ใบตอง หรือ ผ้าขาวบางปิดปากหม้อนั้น จะปิดช่องราวสักสามในสี่ส่วนของปากหม้อ เหลือช่องเปิดแต่เพียงน้อยสำหรับรินเพื่อให้ยาไหลออก แต่กักสมุนไพรใบรากต่าง ๆ ไม่ให้เล็ดลอดออกมาด้วย ที่ปากหม้อก็จะมีตอกไม้ไผ่ที่หักขัดกันเป็นรูปดาวแฉกที่เรียกว่าเฉลวปักไว้ แต่ระยะหลัง ๆ เวลาแม่ต้มยาไทยไม่เห็นแม่ปักเฉลว อาจเพราะว่าที่บ้านมีทั้งหิ้งพระ หิ้งเจ้า ตี่จู่เอี๊ย แทบจะทั้ง 3 ชั้น ป้องกันอำนาจชั่วร้ายแล้วกระมัง…หยอกๆ 🙂

ในส่วนการแพทย์ของไทยนั้น เมื่อล่วงเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการแบ่งหมอออกเป็นสองประเภท คือ หมอหลวง เป็นหมอที่รับราชการในราชสำนัก รักษาผู้ป่วยตามพระบรมราชโองการเท่านั้น ส่วนหมออีกประเภท คือ หมอราษฎร์ หรือ หมอพื้นเมือง ซึ่งเป็นคนทั่วไปที่มีความรู้เกี่ยวกับยาและการรักษาโรค แต่บางครั้งก็มีผู้ที่พยายามตั้งตัวเป็นหมอเช่นกัน

และสำหรับการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น เริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในเมืองไทยเป็นครั้งแรก เรื่องราวของหมอไทยสมัยโบราณวิวัฒนาการมาเป็นหมอยุคปัจจุบัน อีกทั้งเฉลวของหมอยาไทยมีความลับอย่างไร เชิญผู้สนใจติดตามรับฟังได้จากรายการ SNC Library Podcast ในตอน เฉลวความลับของหมอยาไทย: SNC Library Podcast S4 Eps.146 กดลิ้งค์ติดตามรายการได้เลยค่ะ

……

ขอบคุณข้อมูล
– การแพทย์ไทยสมัยโบราณ โดย นายชรัตน์ สิงหเดชากุล
เผยแพร่ทาง:  https://www.finearts.go.th/promotion/view/13545-การแพทย์ไทยสมัยโบราณ
– เฉลว-สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของคนตระกูลไต   เผยแพร่เมื่อ 16 เมษายน 2018
เผยแพร่ทาง: https://www.sarakadee.com/2018/04/16/cha-lew/
– ประทีป ชุมพล. (16 มีนาคม 2547 ). เฉลวหรือตาเหลวความเร้นลับของหมอยาไทย. ชีวจิต (131), 66-67.