ศึกษาดูงานห้องสมุดในมหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือ

วันที่ 23 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อไปดูบริการและวิทยาการต่าง ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยศิลปากรของเรา

โดยการเดินทางเริ่มตั้งแต่เวลา 05.30 น. จากหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ (วันที่ 23 พ.ย. 65) เราเดินทางด้วยรถทัวร์ 2 ชั้น และแวะจอดรับเพื่อน ๆ จากวิทยาเขตวังท่าพระที่บริเวณวิทยาเขตตลิ่งชัน จากนั้นก็มุ่งตรงไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งพวกเราถึงที่หมายเวลา 14.00 น. โดยประมาณ จากนั้นก็ได้เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับงานต่าง ๆ ของแต่ละฝ่ายงานและได้เดินชมรอบ ๆ ห้องสมุด สิ่งที่น่าสนใจในระหว่างที่เดินชมเห็นจะเป็น โซนเทปและหนังสือธรรมะท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค, โซนอ่านหนังสือ 24 ชั่วโมง, ตู้ล็อกเกอร์เก็บสัมภาระสำหรับนักศึกษา, มุมวารสารและหนังสือพิมพ์ที่สวยงาม น่านั่งอ่าน เป็นต้น

หลังจากที่เยี่ยมชมห้องสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้แวะไปนมัสการวัดดังประจำจังหวัดอย่างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนที่จะไปรับประทานอาหารเย็นและกลับเข้าที่พัก เมื่อเราได้มีโอกาสออกนอกสถานที่กับเพื่อน ๆ แบบนี้ ยามเย็นเราจึงชักชวนกันออกไปแวะเดินหาของกินที่ถนนคนเดินพิษณุโลก แต่พอไปถึงกลับพบว่าตลาดนั้นปิดไปแล้ว เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 สุดท้ายพวกเราก็แวะร้านสะดวกซื้อแล้วเดินคอตกกลับโรงแรมกัน

 

เช้าวันต่อมา (วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566) พวกเราตื่นมารับประทานอาหารกันตั้งแต่ 05.30 น. เนื่องจากเราต้องออกเดินทางกัน เวลา 06.00 น. เพื่อไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวันนี้เราจะเดินทางไป มหาวิทยาลัยพายัพ เมื่อเดินทางถึงมหาวิทยาลัยพายัพ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านบริการด้านสารสนเทศกัน สิ่งที่น่าสนใจสำหรับมหาวิทยาลัยนี้คือ ตู้สะสมของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ กล้องถ่ายรูป หรือข้าวของเครื่องใช้ในสมัยก่อน และถึงแม้ว่าจำนวนของบุคลากรห้องสมุดที่นี่มีน้อย แต่ก็สามารถให้บริการนักศึกษาได้อย่างเต็มที่ ให้ความรู้สึกเหมือนห้องสมุดของศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้บริการต่าง ๆ ไปจนถึงบรรยากาศภายในห้องสมุด

 

เย็นวันนี้เราแวะไปทานอาหารกันแถวถนนนิมมาน และเดินเล่นกันต่อเล็กน้อยก่อนกลับที่จะกลับเข้าที่พัก เมื่อถึงที่พักมีน้องคนหนึ่งที่เดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้ได้อวยยศร้าน ๆ หนึ่งไว้ว่าเป็นร้านเด็ดที่ขึ้นชื่อเรื่องสุกี้นั้นคือ ร้าน “สุกี้ช้างเผือก” ว่าแล้วเราก็พากันขึ้นรถแดงที่เป็นรถโดยสารประจำทางในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอัตราค่าโดยสารนั้นมีราคาเดียวไม่ว่าคุณจะนั่งระยะทางใกล้หรือไกลแค่ไหนก็จ่ายเพียง 30 บาทตลอดสาย พวกเรานั่งรถวนไปวนมาเพราะขึ้นรถผิดฝั่ง แต่ที่เศร้าไปกว่านั้นคือเราไปผิดสาขา แถมเมื่อถึงที่หมายแล้วพบว่า “ร้านปิด” เราเดินวนไปวนมาหมายจะหาร้านที่ถูกใจร้านใหม่ จนมาพบกับร้านไอศกรีมผัด “Ice Rolls” พิกัดประตูช้างเผือก ร้านนี้มีจุดเด่นตรงที่มี “ตุ๊กตาชัคกี้” ในหลากหลายคาแรคเตอร์ หน้าร้านมีโมเดลไอติมผัดหลากหลายเมนูให้เราได้เลือกสรร เมื่อเราทานเสร็จก็เดินทางกลับที่พัก

เช้าวันที่ 3 (วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566) หลังจากรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมเรียบร้อยแล้วเราก็เตรียมตัวออกเดินทาง วันนี้เราจะต้องเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ห้องสมุดของที่นี่มีหลากหลายโซน ทั้งโซนที่ทำใหม่เป็น co-working space ที่ให้อารมณ์เหมือนกับคาเฟ่อย่างไรอย่างนั้น เราสามารถนั่งทำงาน อ่านหนังสือ พร้อมจิบกาแฟ และทานของว่างไปด้วยในโซนนี้ หลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเรียบร้อยแล้ว ก็มีการเดินชมห้องสมุดเช่นเดียวกับทุกที่ที่เราเดินทางไปก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่สะดุดตาและชอบมากที่สุดของที่นี่คือ “หลุมนอน” ที่เป็นเหมือนแอ่งขนาดใหญ่ให้นักศึกษาสามารถลงไปนอนพักระหว่างเรียน หรือนอนอ่านหนังสือได้ เป็นการสร้างบรรยายที่สบาย ๆ และชวนให้เข้ามาใช้บริการที่ห้องสมุดได้เป็นอย่างดี

 

ในช่วงบ่าย เราเดินทางไปต่อกันที่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อไปถึงพบว่าที่นี่กำลังมีงานมีงานบุ๊คแฟร์พอดี จึงถือโอกาสเดินเที่ยวงานและศึกษาการจัดงานไปในตัว เพราะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ของเรา ก็จะจัดงาน “ทับแก้วบุ๊คแฟร์ ครั้งที่ 15” ระหว่างวันที่ 6 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 และก็ไม่พลาดที่จะได้ของติดไม้ติดมือกลับมาอีกเช่นเคย ในขณะที่เดินชมห้องสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็รู้สึกว่าชอบที่นี่ที่สุด เนื่องจากห้องสมุดที่นี่มีทั้งความสวยงามและอุปกรณ์ความอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย บรรยากาศค่อนข้างคึกคักต่างจากทุกที่ที่ไปมา สิ่งที่ประทับใจห้องสมุดที่นี่มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโซนที่เป็นห้องสำหรับนั่งเล่นบอร์ดเกมโดยเฉพาะ ห้องนี้ที่ได้รับการสนับสนุนมาจากบริษัททรู คอร์เปอเรชั่น มีโซนที่สามารถนั่งถามคำถามพี่ ๆ บรรณารักษณ์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องเจอหน้ากันโดยตรง มีหุ่นยนต์คอยให้บริการในการนำทางและแนะนำห้องสมุด นอกจากนี้ยังมีโซนที่สามารถให้นักศึกษาพักผ่อนได้ตามอัธยาศัยในทุก ๆ ชั้น มีการจัดเตรียมที่นอน หมอน ทำให้รู้สึกว่าห้องสมุดกลายเป็นที่ที่มากกว่าห้องสมุด เราสามารถทำอะไรได้มากมายหลายอย่าง โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาอ่านหนังสือเท่านั้น จึงทำให้กลับมาคิดว่าถ้าห้องสมุดของเรามีบริการที่พร้อมขนาดนี้คงจะดีต่อผู้ใช้บริการไม่น้อยเลยทีเดียว

เย็นนี้หลังจากทานมื้อเย็นเสร็จและกลับเข้าที่พัก เราก็ยังคงไม่ลดละความพยายามที่มีต่อ “สุกี้ช้างเผือก” เรานั่งรถแดงอีกครั้งเพื่อไปกินสุกี้ร้านนี้ ครั้งนี้เราไปถูกสาขาแล้วนั่นคือสาขาหลังมอ เมื่อไปถึงปรากฏว่าคนเยอะมาก ดูแล้วน่าจะรอไม่ต่ำกว่า 30 นาที จึงได้แต่สูดกลิ่นไปอย่างเดียวและไปหาร้านอื่นแทน ถือเป็นการท่องราตรีคืนสุดท้ายก่อนกลับ

สิ่งที่ได้จากการไปศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยเขตภาคเหนือในครั้งนี้ คือ การที่เราได้เปิดโลก ทำให้มีไอเดียในการนำกลับมาปรับใช้กับที่ห้องสมุดของตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นการกระตุ้นนักศึกษาให้เข้ามา ใช้บริการมากขึ้น เป็นทั้งที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นที่ที่มากกว่าแค่สถานที่อ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว