คอนเทนต์ APA7th

แม้ว่าในการทำงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทและเอกของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ต้องใช้โปรแกรม EndNote ในการทำบรรณานุกรม ซึ่งอาจมีข้อแม้สำหรับรายการอ้างอิงที่เป็นภาษาไทยอยู่บ้าง ดังนั้นเมื่อมีนักศึกษาที่ทำวิจัยหรือเขียนรายงานและต้องการเขียนบรรณานุกรมเอง  และไม่ทราบวิธีการเขียนบรรณานุกรมตามรูปแบบที่อาจารย์ที่ปรึกษาต้องการ นอกจากนั้นรูปแบบการเขียนบรรณานุกรมรูปแบบ APA ซึ่งใช้กันเป็นส่วนใหญ่ ยังปรับจาก APA6th เป็น APA7th ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหลายประการ หอสมุดฯ โดย ‘พี่พร้อม’ จึงเปิด content เรื่อง APA 7th ขึ้น เพื่อให้เป็นแนวทางในการเขียนบรรณานุกรม  และสรุปวิธีการเขียนบรรณานุกรมของแหล่งสารสนเทศประเภทต่าง ๆ ตามแบบของ  American Psychological Association ประชาสัมพันธ์ผ่านแฟนเพจหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ทุกสัปดาห์

การสรุปใจความสำคัญของเนื้อหาจาก Publication  Manual of the American Psychological Association 7th edition (APA 7th edition) การนำเสนอเนื้อหาใช้วิธีการนำเสนอเป็นรูปภาพที่เข้าใจง่าย มีการอธิบายรายละเอียดขององค์ประกอบแต่ละส่วนว่ามีรูปแบบการลงรายการอย่างไร อธิบายการใช้เครื่องหมาย การเว้นวรรค  องค์ประกอบแต่ละส่วนจะใช้สีที่แตกต่างกัน ช่วยให้สังเกตและแยกแยะข้อมูลได้ง่าย รวมทั้งมีการยกตัวอย่างที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและสามารถเขียนตามได้ (ขอขอบคุณน้อง ๆ จา แอน มาร์ช ที่สร้างสรรค์รูป และลง content ให้)

ในการสรุปรูปแบบการเขียนบรรณานุกรมแต่ละแบบ มีปัญหาที่พบคือ การเทียบเคียงลักษณะของแหล่งสารสนเทศที่จะนำมาเขียนบรรณานุกรมของไทยกับคู่มือต้นฉบับ (Publication  Manual of the American Psychological Association 7th edition) หลายกรณีหาตัวอย่างเทียบเคียงยาก เช่น การเขียนบรรณานุกรมของราชกิจจานุเบกษา, การเขียนบรรณานุกรมของเอกสารที่อยู่ในภาษาอื่นแล้วเทียบเคียงเป็นภาษาอังกฤษ หรือรูปแบบของการแสดง วัน เดือน ปี ในคู่มือจะเป็นรูปแบบของทางยุโรป คือ ปี, เดือน วัน แต่ของไทย เรามักจะใช้ วัน เดือน ปี แต่เมื่อเป็นการยึดตามคู่มือของ American Psychological Association จึงใช้ รูปแบบของวันที่โพส เป็น ปี, เดือน วัน ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดความรู้สึกลักลั่น และบางเรื่องทำให้เกิดความลังเลในการตัดสินใจ