วัดพระธาตุช่อแฮ แพร่

วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ คู่บ้าน คู่เมืองจังหวัดแพร่และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขาเตี้ยสูงประมาณ 28 เมตร องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ ศิลปะเชียงแสน แบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำ และชุดท้องไม้แปดเหลี่ยมซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้นจนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังค์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนามีรั้วเหล็ก รอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม

ทุกปีจะมีประเพณีการไหว้พระธาตุช่อแฮเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เดิมจะจัด 5 วัน 5 คืน ได้เปลี่ยนแปลงเป็น 7 วัน 7 คืน วันแรกของงาน จะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 6 เหนือ เดือน 4 ใต้ ของทุกปีซึ่งถือว่าการจัดงานไหว้พระธาตุช่อแฮยึดถือตามจันทรคติเป็นหลัก ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ แห่ตุงหลวง ในการจัดงานมีขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ประกอบไปด้วยริ้วขบวนของ ทุกอำเภอ การฟ้อนรำ ขบวนช้างเจ้าหลวง และเครื่องบรรณาการ ขบวนแห่กังสดาลขบวนแห่หมากเป็ง ขบวนต้นผึ้ง ขบวนแห่ผ้าห่ม องค์พระธาตุ 12 ราศี ซึ่งประกอบด้วยขบวนตุง 12 ราศรี ขบวนข้าวตอกดอกไม้ ต้นหมาก ต้นผึ้ง ต้นดอก ขบวนแห่ผ้าห่มองค์พระธาตุ 12 ราศรี ขบวนกังสดาล ขบวนตุงขบวนฟ้อนรำมีการเทศน์และมีการเทศน์และฟังเทศน์มหาชาติ มหาเวสสันดรชาดกทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน

พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีเกิดปีเสือ (ปีขาล) พระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุ 1 ใน 12 ราศี คือ เป็นพระธาตุประจำปีเกิด สำหรับคนที่เกิดปีเสือ (ปีขาล) หากนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ การสวดและไหว้ ให้เริ่มต้นนะโม 3 จบ แล้วสวดตามด้วยคาถาบูชาพระธาตุ 5 จบ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น พระธาตุช่อแฮ หมายถึง เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและประดับบูชาด้วยผ้าแพรอย่างดี

หลวงพ่อช่อแฮเป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย สันนิฐานว่า สร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว มีอายุหลายร้อยปี หน้าตักกว้าง 3.80 เมตร สูง 4.50 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทองพระเจ้าทันใจและไม้เสี่ยงทาย

พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้น ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูงประมาณ 2 ศอก (กว้าง 80 ซม. สูง 1.20 ซม) เป็นพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่สร้างขี้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ผู้สร้างคือ ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) สร้างพระพุทธรูปองค์นี้แทนพระพุทธรูปองค์เดิมที่หล่อด้วยจืน (ตะกั่ว) ที่ถูกลักไป พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ (ทางเหนืออ่านว่า พระเจ้าตันใจ๋) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมมากราบไหว้บนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใครมาขอพรแล้วจะได้สิ่งนั้นอย่างสมประสงค์ ด้านหลังซุ้มพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่ มีไม้เสี่ยงทายทำด้วยไม้รวก หรือไม้สัก มีความยาวเกิน 1 วา คาดว่าใช้แทนไม้เซียมซี เมื่อผู้ใดต้องการเสี่ยงทายสิ่งใดก็จะนำไม้ดังกล่าวมาทาบกับช่วงแขนที่กางเหยียดตรงไปจนสุดแขนทั้งสองข้าง ความยาวของวาอยู่ตรงจุดใดของไม้ก็จะทำเครื่องหมายไว้แล้วนำไม้มาอธิษฐานเบื้องหน้าพระเจ้าทันใจว่าสิ่งที่ตนประสงค์นั้นจะสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จก็ขอให้ความยาวของตนเลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ออกไป เมื่ออธิฐานเสร็จแล้วก็นำไม้เสี่ยงทายขึ้นมาวางอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธโลกนารถบพิตร และวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะลานนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในปี 2534 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เป็นประธานเททองหล่อและเบิกพระเนตร องค์พระขนาด หน้าตักกว้าง 3.60 เมตร สูง 7 เมตร สร้างด้วยโลหะทองเหลือง ลงรักปิดทอง

พระเจ้าไม้สักสร้างด้วยไม้สักทอง หน้าตักกว้าง 33 นิ้ว สูง 87 นิ้ว เป็นศิลปสมัยล้านนา

พระเจ้านอนเป็นพระพุทธรูปที่ชาวจังหวัดแพร่เคารพนับถือ ก่อนจะขึ้นไหว้องค์พระธาตุช่อแฮ ชาวบ้านมักจะแวะไหว้พระเจ้านอนก่อนเสมอ สร้างเมื่อขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 2459 เป็นพระเจ้านอนศิลปะพม่าขนาดยาว 3.70 เมตร สูง 1.35 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง

ธรรมมาสน์โบราณ มีความสวยงามวิจิตรบรรจง ลวดลายไทยผสมศิลปะทางล้านนา ซึ่งมีนางแก้ว ทองถิ่น สร้างอุทิศให้นายคลอง ทองถิ่น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2492 ก่อสร้างด้วยไม้สักแกะสลัก ลงรักปิดทอง

กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย บรรจุอัฐิธาตุส่วนที่ 5 จากจำนวน 7 ส่วนของครูบาศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกบุญคุณที่ท่านได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา

บันไดนาคโบราณ ภายในวัดพระธาตุช่อแฮมีบันไดนาคอยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ 1 ด้าน รวม 5 บันได ซึ่งล้วนมีความยาวและจำนวนขั้นไม่เท่ากัน

เจ้ากุมภัณฑ์ มีความเชื่อว่านาคที่เฝ้าบันไดกุมภัณฑ์ ด้านทิศตะวันออกขององค์พระธาตุช่อแฮ ชอบหนีออกไปเล่นน้ำที่ลำน้ำแม่สาย หมู่บ้านในเป็นประจำ ชาวบ้านจึงสร้างเจ้ากุมภัณฑ์นั่งทับขดหางนาคไว้ เพื่อมิให้หนีไปเล่นน้ำอีก

แผ่นศิลาจารึก ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระเจ้าทันใจ จารึกเรื่องราวการสร้างบันไดด้านทิศตะวันตก

สวนรุกขชาติช่อแฮ ตั้งอยู่ที่ดินของวัดมีพื้นที่ 52 ไร่ เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาพันธุ์ไม้ มีต้นไม้นานาพันธุ์กว่า 1,000 ชนิด

การเดินทางวัดพระธาตุช่อแฮ

เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่งอำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจ กลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮและตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักรหมู่บ้านแตหมู่บ้านมุ้งสถานที่ตั้งของ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงอยู่ในบริเวณ เขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่

บรรณานุกรม

วัดพระธาตุช่อแฮ. (2565, ตุลาคม 30). ใน วิกิพีเดีย. https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระธาตุช่อแฮ

30 จุดเช็คอิน เที่ยว กิน แพร่. (2565, มิถุนายน 25). จาก https://www.paiduaykan.com/travel/ที่เที่ยวแพร่