เรื่องของ Meme

        

สื่อสังคมออนไลน์ นับเป็นสื่อแห่งยุคสมัย ณ เพลาปัจจุบัน Application ตัวหนึ่งที่ยังคงทรงอิทธิพลเป็นที่ยอมรับอันดับ 1 ของโลก คือ Facebook ดังที่ We Are Social และ Hootsuite เผยผลสำรวจ “Global Digital 2019” ที่อัปเดตสถานการณ์การใช้งานดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2019 จากทั่วโลก รวมทั้งไทย ให้ข้อมูลว่า มีผู้ใช้งาน Facebook กว่า 2,200 ล้านคน รองลงไปอันดับ  2 คือ YouTube มีผู้ใช้ 1,900 ล้านคน ส่วนอันดับ 3 คือ Whats App มีผู้ใช้ 1,500 ล้านคน

ซึ่งแน่นอนว่าความเป็นที่ 1 ของ Facebook บนโลกออนไลน์ เมื่อมีประเด็นใดเกิดเป็นกระแส ทุกมุมวงสนทนาในพื้นที่ที่กระแสนั้นๆ ไปถึง เฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแล้วก็จะยิ่งเกิดแรงกระเพื่อมสูง ดังเมื่อราวกลางเดือนธันวาคมปลายปี 2562 ที่ผ่านมา หลายๆ คนที่เล่น Facebook น่าจะไม่พลาดที่ได้ผ่านตาหน้าฟีดการ์ตูนแม่-ลูก  2 ช่องจบ โดยการ์ตูนช่องแรกแม่ถามว่า  “จะไปไหน?” ช่องที่สอง ก็ถามอีกว่า “กลับมาทำไม ?” ส่วนตัวลูกก็จะจุดประเด็นที่คำตอบช่องแรกว่าจะไปไหนพร้อมลากกระเป๋าเดินออกจากบ้าน และตบมุขด้วยคำตอบที่ช่องสองว่าทำไมจึงกลับมาพร้อมลากกระเป๋ากลับเข้าบ้าน

เจ้าการ์ตูน 2 แม่ลูก จบใน 2 ช่องนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือการ์ตูนสัญชาติอเมริกัน ที่เสียดสีสังคมการเมือง เรื่อง Without Reservations ที่ผู้วาด คือ Ricardo Cate เป็นชาวแม็กซิกัน การ์ตูนเรื่องนี้กล่าวถึงการครอบงำของวัฒนธรรมอเมริกันต่อชาวอินเดียนแดง เสียดายจังที่ห้องสมุดดิฉันทั้ง 3 วิทยาเขต ไม่มีหนังสือเล่มนี้

ทั้งนี้ ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา มีศิลปินชาวฟิลิปปินส์ คือ Chino de Chavaz ได้นำการ์ตูนของ Ricardo Cate  มาปรับรูปแบบเป็นสามมิติ ดัดแปลงลักษณะของอินเดียนแดงให้ดูทันสมัยขึ้น จนกลายเป็น Meme ที่มีชื่อเรียกว่า “mag-ina” หรือ “คุณแม่” ซึ่งนับเป็นไวรัลสุดฮิตของฟิลิปปินส์ในขณะนี้ โดยเขาเริ่มเผยโฉมแม่-ลูก บนโซเชียลมีเดียครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งต่อมาได้มีการนำมาปรับมุขใหม่ๆ จากผู้เล่นในโซเชียล กระทั่งสถานทูตฟิลิปปินส์ในอิรัก นำมาทำประชาสัมพันธ์เตือนชาวฟิลิปปินส์เกี่ยวกับนายหน้าเถื่อน ที่เข้ามาหาคนไปทำงานในต่างประเทศ

ก็แล้วเจ้าการ์ตูน 2 แม่ลูก ทำไมจึงมากระเทือนวงการในเมืองไทย ถึงขนาดที่คนไทยในโลกออนไลน์อย่าง Facebook แห่กันเข้าไปขอเป็นเพื่อนต่างแดนกับศิลปินชาวฟิลิปปินส์ท่านนั้นล้นหลาม จนเจ้าของโพสต์ฮอตฮิตแห่งปี ต้องออกมาบ่นดังๆ บนหน้าฟีดตัวเองดังภาพ เห็นแล้วก็ขำๆ เป็นว่าไม่พูดมากนะคะ เจ็บปาก…ให้ภาพเล่าความดีกว่า…

เห็นภาพแล้วก็เชื่อว่าหลายคนคงถึงบางอ้อ…ที่ไม่ใช่บ้านของน้องเอกอนงค์ชาวหอสมุดของพวกเรานะคะ

และแน่นอน เมื่อเจ้า Meme แม่-ลูก หลุดมาถึงมือพี่ไทย ก็หายห่วงค่ะ คนไทยเราสร้างสรรค์บรรเจิดไม่แพ้ชาติไหน ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนสิ้นปีที่ผ่านมา ท่านที่เล่น Facebook จึงได้เห็นเจ้าหนูน้อยเดินลากกระเป๋าไปๆ มาๆ ทั้งวัน ชนิดว่าถ้าเป็นตัวเป็นๆ เดินเต็มหน้าฟีดชาวบ้าน ขนาดนั้นตกกลางคืน คงหลับเป็นตายช้างปลุกก็ไม่ตื่นแน่

ด้วยความเป็นคนรุ่มรวยอารมณ์ขัน อารมณ์กะละมังของพี่ไทย บทสนทนาถามตอบ 2 คำถาม ของแม่ลูกคู่นี้ในเวอร์ชั่นของไทยจึงมีความฮาที่เชื่อว่าหลายๆ มุข อ่านแล้วป้าๆ มีฮาน้ำหมากกระจาย และแน่นอนว่าหลายๆ วงการก็อาศัยช่วงชุลมุน ยืมแก๊กของ 2 แม่ลูกไปใช้ทำการตลาดกันสนุกสนาน ไม่เว้นแม้แต่หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ของดิฉัน

อุบัติการกระเพื่อมวงการโซเชี่ยลครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ ไม่นานนัก ตัวดิฉันเองเกิดสะดุด และสนใจคำอยู่ 2 คำ
ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งสำหรับใครบางจำนวนอาจจะทราบอยู่แล้ว แต่บังเอินดิฉันอยู่ในใครอีกบางจำนวนที่ยังไม่ทราบจึงจำต้องหาคำตอบมาเพิ่มรอยหยัก เบาๆ

คำที่ดิฉันติดใจ คือ Meme อ่านว่า มีม เห็นคำนี้ครั้งแรก จากเหตุการณ์นี้ก็ให้สงสัยละเจ้ามีม ชื่อน่ารักนี้มันคืออะไร มีตัวตนแบบไหน จับต้องได้หรือเปล่า โลกออนไลน์ช่วยไขข้อข้องใจให้ดิฉันง่ายดาย

คำตอบคือ Meme เป็นพฤติกรรม คำพูด การกระทำ ที่คนคนหนึ่งทำขึ้นมา แล้วเกิดการเลียนแบบ แพร่ไปทางสื่อออนไลน์อย่างรวดเร็ว ดังมุขลากกระเป๋าตบหัวด้วยถาดของ 2 แม่-ลูกนี้นั่นเอง

ส่วนคำอีกคำที่ดิฉันติดใจ คือ Viral คำนี้อ่านแบบไทยๆ ได้ประมาณ ไวรัล หรือหากจะออก accent ก็จะประมาณ ไว’เริล
ซึ่งตามศัพท์หากเป็นคำนาม แปลว่า เกี่ยวกับหรือเกิดจากเชื้อไวรัส แต่เมื่อมาเป็นศัพท์แสงทางสังคมออนไลน์จะแปลว่าอย่างไร ความรู้ปลายนิ้ว…ดิฉันถามจากอากู๋ไม่เคยผิดหวัง ดังมีผู้อธิบายไว้ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ดังนี้

กระแสไวรัล คือการพูดถึงหรือการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก เป็นการรวมของ 2 คำ คือ “Virus” ที่แปลว่า เชื้อโรคหรือหมายถึงการแพร่กระจาย และ “ออรัล” ที่แปลว่าปาก เมื่อมารวมกันและถูกนำมาใช้เป็นภาษาทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า ไวรัล
โดยสรุป คำนี้ก็จะประมาณ การสื่อสารโดยผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook, Twitter ฯลฯ โดยแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เมื่อเรื่องใดเกิดเป็นกระแสขึ้นมา และมีการแชร์กันไปในทุกทิศทางอย่างรวดเร็ว แบบที่ชาวบ้านมักพูดว่า บอกกันปากต่อปาก

อ่านถึงตรงนี้อาจยังไม่แจ่มชัด แต่หากจะยกตัวอย่างสัก 2-3 เหตุการณ์ เชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ในสังคมออนไลน์จะรู้เร็ว หรือ รู้ช้า ก็จะต้องรู้ และกระแสต่างๆ เหล่านั้น บางสิ่งบางอย่างที่เกี่ยวข้อง แม้ว่ากระแสต้นเรื่องสร่างซาไปแล้วแต่ยังคงหลงเหลือ คำ ความ วลี ทิ้งไว้จนปัจจุบัน ดังคลิปดังที่เรามักคุ้นเคย ตัวอย่างเช่น

เรื่อง เหนี่ยวไก่หาย ซึ่งเป็นที่มาของคำอุทาน ที่แม้แต่นักร้องนักดนตรีสายดาร์คยังเอามาอยู่ในเนื้อร้อง โดยเรื่องเกิดจากน้องคนหนึ่งซื้อข้าวเหนียวไก่ทอด ทิ้งไว้ในตะกร้ามอเตอร์ไซต์ และน้องได้เข้าไปในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง แต่เมื่อน้องกลับออกมากลับไม่เจอเหนียวไก่ น้องจึงได้อัดคลิปตามหาคนขโมยเหนียวไก่ โดยมีคำพูดประมาณว่า “แค่เหนียวไก่ 30 บาท ไม่มีปัญหาซื้อเองหรอ เxยดแหม่” ซึ่งต้นเหตุของความไวรัลก็คือ คำอุทาน “เxยดแหม่” ที่ผนวกกับสำเนียงใต้ของน้อง จึงทำให้คนที่ได้ดูคลิปอดขำอดแชร์กันปากต่อปากไม่ได้ และวลีเด็ดนี้ ทุกวันนี้ก็ยังคงทิ้งไว้เป็นมรดกคำแห่งยุคสมัย

อีกตัวอย่างที่จะยกมา เชื่อว่าแม้แต่ลูกเด็กเล็กแดง ก็ยังจำวลีทองจากคลิปในยูทูปของผู้ใช้ชื่อ Chintakoza ได้ ไวรัลที่มาจากคลิปชื่อ “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” เป็นเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งที่โดนเพื่อนชื่อไอ้บอลเตะออกจากกลุ่ม ม.1/9 บนFacebook แล้วเกิดความอัดอั้นตันใจ แค้นไอ้บอลมากๆ เลยอัดคลิป พร้อมขู่ว่า “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่”

ตัวอย่างถัดไป เชื่อว่าหลายๆ คนยังจำภาพ เด็กผู้ชายใส่แว่นโป๊ท่อนบน แอบแม่ร้องเพลงลิปซิงค์  “เสียใจแต่ไม่แคร์” ของน้องหวาย-การ์มิกาเซ่ จนเป็นคลิปที่ดังมากๆ ในเวลาคืนเดียว เชื่อว่าคนที่ได้ดูไม่มีใครที่จะไม่โพสไม่แชร์ส่งให้คนอื่นดู ความฮาจนเป็นกระแสของคลิปนี้นอกจากท่าทางลิปซิงค์ของน้องแล้ว ท่าทีที่น้องต้องหันไปดูประตูตลอดว่าแม่จะโผล่เข้ามาตอนไหนเชื่อว่าหลายคนเห็นแล้วก็ต้องอดไม่ได้ที่จะขำทั้งเอ็นดูทั้งเวทนาเจ้าหนูขี้ใจน้อย

ตัวอย่างสุดท้าย ลุงเนลสัน บางท่านอาจยังไม่เคยคุ้นชื่อลุง หากขยายความหลายท่านอาจร้อง อ๋อออออ ลุงเนลสัน เป็น
ชาวต่างชาติ ที่บอกเล่าประสบการณ์การมาประเทศไทยครั้งแรกผ่าน YouTube ซึ่งเขารู้สึกอึ้งสุดๆ กับคำด่าของคนไทย

เช่น การที่เอาชื่อพ่อมาเป็นคำด่า หรือ ความครีเอทีฟสุดๆ ที่สามารถใช้คำบางคำไปผสมคำกับทุกสิ่งอย่าง เช่น xครก xเข้ xเป็ด เป็นต้น

คิดว่าตัวอย่างชัดเจนนะคะ มาถึงตรงนี้เข้าใจว่าทุกๆ ท่านที่อ่าน จะเริ่มเข้าใจคำว่า Meme (มีม) ที่สร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมบนโลกโซเชียล ปากต่อปาก จนแทบจะเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วแล้วนะคะ

ข้อมูลประกอบการเขียนจากหลากเรื่องราวบนโลกโซเชียล ดังนี้ นะคะ

– Social Media และ Social Network
จาก http://www.thailibrary.in.th/2012/01/10/social-media-social-network
โดย Boonlert Aroonpiboon เมื่อ January 10, 2012

– ล้วง Insight การใช้งาน “ดิจิทัล” ทั่วโลก 2019 “คนไทย” ใช้เน็ต 9 ชั่วโมงต่อวัน-มือถือมี 99 แอปฯ!!
จาก https://www.marketingoops.com/reports/global-and-thailand-digital-trend-2019
โดย  WP เมื่อ February 23, 2019

– เรื่อง Data ร้อนๆมาแล้วจ้า อัพเดทสถิติดิจิทัลล่าสุดจาก We Are Social ประจำเดือนเมษายน 2019
จาก https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/digital-stat-2019-we-are-social
โดย  Nattapon Muangtum เมื่อ 27/04/2019

– เรื่อง BKK 1st Time : ตอนโดนคนไทยด่าครั้งแรก
จาก https://www.youtube.com/watch?v=ve0WYVb-4po
โดย Thanachart Siripatrachai เมื่อ 22 มี.ค. 2014

– เรื่อง ไวรัลออนไลน์ (VIRAL ONLINE) สื่อบอกต่อ ไม่ต้องง้อ TV
จาก http://www.norden.co.th/blog/วรัลออนไลน์-viral-online-สื่อบอกต
เมื่อ 19 ก.ค.2018

– เรื่อง 10 ไวรัลคลิปสุดปังในอดีต ยังจำกันได้ไหม
จาก  https://www.mangozero.com/10-funny-viral-clip
โดย aey Ch เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2559

Leave a Reply