การสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ข้อมูลใหม่จากโบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ดิฉันกับลูกชายได้ไปเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ข้อมูลใหม่จากโบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม ที่หอประชุมใหญ่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ นอกจากจะเป็นการทวนถามความสนใจของลูกชายแล้ว ยังเป็นการเปิดสมองของดิฉันด้วย เพราะได้เรียนรู้ว่า นักโบราณคดี นักอักษรศาสตร์เขาทำอะไรกันบ้าง มีความสำคัญและน่าสนใจเพียงใด… ช่วงเข้าจะเป็นส่วนของกรมศิลปากร ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ทวารวตีวิภูติ จารึกวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม และ การเสวนาเรื่อง หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์จากการขุดค้นแหล่งโบราณสถานวัตดพระงาม โดย วิทยากรจากกรมศิลปากร

ในช่วงเช้านี้ ที่จะกล่าวถึงคือ การเล่าถึงเรื่องการอนุรักษ์จารึกวัดพระงาม ของ นายสรรินทร์ จรัลนภา นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ สำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ คุณสรรินทร์เล่าถึงกรรมวิธีอนุรักษ์แผ่นจารึกที่มีสภาพที่แตกหักมาก ใช้เทคนิคอะไรสักอย่างจำไม่ได้แล้ว ช่วยจำลองขนาดที่สมบูรณ์ของจารึก ได้ว่ามีขนาดกว้าง 48 เซนติเมตร ยาว 97 เซนติเมตร สูง 10 เซนติเมตร และเนื่องจากแท่งจารึกแตกหักเป็นแผ่น ๆ ทำให้สันนิษฐานตอนต้นว่าเป็นหินชนวน แต่เมื่อส่งตรวจองค์ประกอบแล้วพบว่าเป็นหินเถ้าภูเขาไฟ มีขั้นตอนในการอนุรักษ์ที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะต้องระวังไม่ให้จารึกชำรุดเสียหาย และยังต้องเสริมความแข็งแรงด้วยการทำความสะอาดช่องโพรงภายในด้วยแอลกอฮอล์และอะซีโตนเพื่อกำจัดความชื้นจากนั้นจึงฉีดวัสดุอุดผสมสารยึดเหนี่ยวเจือจาง สุดท้ายจึงเริ่มทำการต่อชิ้นส่วนของจารึกที่แตกหลุดออกมา ซึ่งยากและต้องทำไปพร้อมกับการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณ และจากการที่จารึกมีชิ้นส่วนหลุดร่อนมาก ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบองค์ประกอบและลักษณะของจารึก เช่น ได้ตรวจสอบลักษณะหน้าตัดของตัวอักษร ที่พบว่าร่องตัวอักษรมีลักษณะเป็นรูปตัววี และตัวยู มีความลึก กว้างสม่ำเสมอ บ่งบอกถึงฝีมือ และการเลือกใช้เครื่องมือของช่าง

ส่วนตอนบ่ายเป็นการเสวนาเรื่อง ศิลาจารึกสมัยทวารวดี จากโบราณสถานวัดพระงาม : การศึกษาวิเคราะห์และการตีความศิลาจารึกวัดพระงาม ซึ่งวิทยากรหลักที่ดิฉันขอกล่าวถึงคือ อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ อาจารย์ได้เล่าว่า เคยคิดไว้ว่า จะไม่รับงานขึ้นเวทีแล้วเนื่องจากอายุมาก แต่พอได้เห็นภาพจารึกที่มีผู้ส่งไปให้ดู ก็ตื่นเต้น และได้มาดูจารึกตัวจริงที่พิพิธภัณฑ์องค์พระปฐมเจดีย์ และพบว่าเป็นอักษรปัลลวะที่สวยงามที่สุดที่เคยพบเห็นมา และทุ่มเทในการอ่านตัวอักษรปัลลวะนั้น อาจารย์ก่องแก้วเล่าว่า มีหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดเป็นตัวอักษรไทย (ร่วมกับอาจารย์เทิม มีเต็ม อายุกว่า 90 ปีแล้ว) แล้วจึงส่งตัวอักษรนั้นให้ ผศ.ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา เป็นผู้แปลเป็นภาษาสันสกฤต ในรูปของอักษรโรมัน และแปลกลับเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง (ซี่งดิฉันรู้สึกทึ่งกับความสามารถพิเศษและความเป็นที่หนึ่งของอาจารย์รุ่นเก่า ๆ มาก) สรุปคำแปลของจารึกเท่าที่ปรากฏอยู่ว่า เป็นการสรรเสริญพระราชา ที่ได้ชัยชนะในการทำสงคราม ทำความเจริญให้กับบ้านเมือง และได้ถวายสิ่งของไว้กับพระศิวะ ได้แก่ ต้นมะม่วงทอง 30 ต้น แม่โค 400 ตัว และลูกนกคุ่ม 156 ตัว (อาจารย์ก่องแก้วเล่าว่า เนื่องจากจากรึกแตกหัก หลุดร่อนมาก ทำให้อ่านผิดในครั้งแรก โดยอ่านเป็นลูกนกกระจอก แต่เมื่อกลับไปคิดว่า ทำไมเป็นนกกระจอก นกกระจอกมีความสำคัญอย่างไร เมื่อหาเหตุผลไม่ได้ จึงกลับไปอ่านใหม่ และด้วยความสามารถของคุณสรรินทร์ นำชิ้นส่วนหนึ่งที่เข้าได้กลับตรงคำที่จะเป็นลูกนกกระจอกมีแทรกได้พอดี จึงพบว่ามีอักษรที่ตกหล่นไป จึงอ่านใหม่ ได้เป็นลูกนกคุ่ม ซึ่งนกคุ่มนั้น มีความสำคัญที่เป็นพระชาติของพระพุทธเจ้า หรือ วัฎฎกาชาดก ปัจจุบันคือคาถานกคุ่มกันไฟ)

ช่วงสุดท้ายเป็นเวทีของ คณะโบราณคดี (รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี, ดร.อุเทน วงษ์สถิต และรศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง) ตอนนี้เสวนาเรื่องของยักษ์ อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน กล่าวถึงองค์ประกอบของประติมากรรมรูปยักษ์ว่า แต่ละส่วน และเครื่องประดับมีที่มาจากศิลปของที่ใดบ้าง เช่นอินเดีย หรือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สามารถประเมินช่วงอายุของประติมากรรมรูปยักษ์ได้ และสันนิษฐานว่าเป็นทวารบาล นั่งเฝ้าประตูทางเข้าศาสนสถาน ท้ายสุดสันนิษฐานว่า จารึกวัดพระงามนี้น่าจะถูกนำมาจากที่อื่น เพราะนอกจากลักษณะของหินไม่ได้เป็นหินในแถบนี้แล้ว อายุของสิ่งของประกอบต่าง ๆ ที่พบก็เป็นคนละยุคสมัย จารึกนี้น่าจะถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของฐานเจดีย์เท่านั้นเอง

ส่วนตัวแล้ว ดิฉันสนใจเรื่องของโบราณคดีแบบไม่ลึกซื้ง  แต่เพียงได้ฟังสิ่งที่วิทยากรทุกท่านพูดกันแบบไม่มีสคริปต์แล้ว ทำให้รู้สึกทึ่ง และอยากเรียนรู้ อยากฟัง อยากเก็บไว้เล่าต่อให้เด็กรุ่นหลังได้  มีสิ่งของให้ดู และทำให้ได้เห็นว่า เรื่องของโบราณคดีที่เราอาจคิดว่าไม่ค่อยมีใครสนใจนั้น เป็นอันคิดผิด เพราะนอกจากงานนี้มีคนลงทะเบียนเต็ม 300 คนภายใน 2 วันแล้วยังมีชื่อสำรองขึ้นไว้อีก วันสัมมนาจริงแม้จะมีคนไม่เต็ม 300 แต่ก็เต็มห้องประชุม ผู้สนใจส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีเด็กนักเรียนคนเดียว ซึ่งอาจารย์ทุกท่านยังแสดงความชื่นชม และตั้งความหวังว่า ดีใจที่มีเด็กสนใจ จะได้เป็นกำลังรุ่นต่อ ๆ ไป