คอนเทนต์เจ้าชายน้อย

ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมโครงการ Digital Content จัดโดยสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มาสู่การเริ่มลงมือเขียน ในใจคิดว่าจะเขียนคอนเทนต์เรื่องอะไรดี ก่อนหน้านั้นพี่ปองหยิบเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นมาให้ดูเรื่องนี้น่าสนใจนะ จึงทำเรื่องนี้ อันดับแรกไปหยิบเจ้าชายน้อยมาอ่านก่อนว่าเนื้อเรื่องเป็นอย่างไร ทำไมถึงเป็นวรรณกรรมคลาสิกที่หลายคนต่างหลงรักเจ้าชายน้อยและเก็บสะสมกันเป็นจำนวนมาก หลังจากอ่านตัวเล่มจบ เข้าใจเรื่องราวของเจ้าชายน้อยแล้ว จากนั้นลองค้นจากอินเทอร์เน็ตว่ามีคนเขียนถึงเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น โดยคุณสุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ ผู้คิดและจัดทำเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นขนาดไหน โอ้โห มีคนเขียนเยอะมาก เราต้องเขียนในมุมที่ต่างจากที่มีอยู่ จากนั้นคิดคำถามที่จะเตรียมสัมภาษณ์และนัดวันเวลากับคุณสุพจน์ โดยใช้หอสมุดวังท่าพระ กรุงเทพฯ เป็นสถานที่นัดคุยและเก็บภาพ

การได้คุยครั้งนี้ทำให้ได้เห็นสิ่งสวยงามหลายอย่างที่คุณสุพจน์มีต่อเจ้าชายน้อยที่นอกเหนือจากวลีเด็ดของเรื่องแล้ว เช่น “หนังสือจะโตตามคนอ่าน” การตีความในแต่ละช่วงวัยจะต่างกัน โดยส่วนตัวคิดและเห็นด้วยกับประโยคนี้ แม้กระทั่งในช่วงวัยเดียวกัน แต่อ่านคนละช่วงเวลา สิ่งที่ได้ สิ่งที่คิดย่อมต่างกันไปขึ้นอยู่กับการเปิดรับและสิ่งที่ตัวเราต้องการหาจากเจ้าชายน้อย ได้เห็นหัวใจแห่งการให้ การแบ่งปันให้กับคนในชุมชนได้เข้าถึงเจ้าชายน้อยฉบับภาษาถิ่น ความมุ่งมั่นในการทำแม้ว่าแต่ละเล่มแต่ละภาษาที่ทำจะมีความต่างทั้งในเรื่องของเหตุที่มาของแต่ละภาษา เบื้องหลังการได้มาเป็นรูปเล่ม การส่งต่อไปยังชุมชนและต่อยอดไปเพื่อประโยชน์อื่น ๆ ที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ ได้เห็นรอยยิ้มที่แต่งแต้มบนใบหน้าขณะเล่าไปยิ้มไป ทำให้อดยิ้มตามไม่ได้ นอกจากในส่วนของเนื้อหาแล้ว การเขียนครั้งนี้ทำให้เราได้เทคนิคการเขียน การใช้ภาษา คลังคำเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสามารถใช้คำที่หลากหลายมากขึ้น และที่สำคัญได้เห็นข้อควรระวังในเรื่องการเว้นวรรค โดยเฉพาะชื่อหน่วยงาน หรือ องค์กร ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง