คนสำคัญวันละคน

ใน 1 ปีจะมีจำนวนวัน 365 หรือ 366 วัน เราเคยพบข้อมูล หรือหนังสือเกี่ยวกับวันนี้ในอดีต ที่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ว่า ในแต่ละวันในอดีตมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง  แต่เราไม่ค่อยจะได้นับหรอกว่า วันที่ที่เรากำลังอยู่นี้ เป็นวันลำดับที่เท่าไหร่ของปี ดิฉันเคยซื้อหนังสือเรื่อง คนสำคัญวันละคนให้ลูก และได้บันทึกไว้ที่หน้าปกว่า ซื้อเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 ดิฉันเคยหยิบมาอ่าน แต่เป็นการเจาะอ่านเฉพาะบุคคลที่อยากรู้ ไม่ได้อ่านทีละวัน พอดูเข้าจริง ๆ แล้ว เป็นการรวบรวมที่น่าทึ่งมาก เพราะสรรหาบุคคลในประวัติศาสตร์โลกทั่วโลกมาได้ถึง 365 คน และเพราะเป็นหนังสือรวมชีวประวัติของผู้คนที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น กลุ่มผู้นำ ปรัชญาเมธี ผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ วายร้าย นักประพันธ์และศิลปิน กบฏและนักปฏิรูป และศาสดาของศาสนาต่าง ๆ  ทำให้อ่านไปได้แบบไม่ราบเรียบ ขอยกตัวอย่างบุคคลสำคัญสัก 3 คน คือ

คนที่ 1 คือคนสำคัญประจำวันที่ 1 มกราคม คือ คูฟู (ราว 2609-2566 ปีก่อนคริสต์กาล) เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณ มหาปิระมิดของคูฟู เป็นพีระมิดแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้น ที่กีซา

คนที่ 151 พระเจ้าซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด (Ivan the terrible) หรือ พระเจ้าซาร์อีวาน ที่ 4 (ค.ศ.1530-1584) เป็นโอรสของพระเจ้าวาซิลีที่ 3 แห่งราชวงศ์รูริค ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่อายุ 3 พรรษา ดังนั้นเมื่อต้องปกครองอยู่ภายใต้ขุนนาง ทำให้ขุนนางแตกแยกกันเป็นกลุ่ม ๆ มีการต่อสู้กับขุนนาง จนเมื่อพระมเหสีองค์แรกสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็เริ่มเสียสติ มีการสังหารขุนนาง สังหารประชาชนชาวรัสเซียไปมากถึง 60,000 คน ก่อสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน และสังหารพระโอรสของตนเองด้วยคฑา

และในวันนี้ คือ วันที่ 21 สิงหาคม เป็นวันลำดับที่ 233 เป็นชีวประวัติของ อาเธอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันที่มีแนวคิดที่แปลกแยก มองโลกเป็นเรื่องเศร้าหมอง ทั้งที่เป็นศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของเยอรมัน แต่หนังสือของเขาก็ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เช่น  The world as will and representation  ซึ่งบรรยายถึงโลกว่าเป็นสถานที่วุ่นวาย หรือ เรื่อง On the will in nature  แต่หลังจากเขาเสียชีวิตในวัย 72 ปี แนวความคิดของเขาจึงได้รับการยกย่อง ว่าเป็นนักคิดคนสำคัญของเยอรมนีในยุคศตวรรษที่ 19

คนสุดท้ายของปี คือคนที่ 365 เป็นชีวประวัติของ นางเบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) (ค.ศ.1953-2007) เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในปากีสถาน เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในประเทศที่ปกครองโดยทหาร เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และถูกปลดโดยกองทัพทั้ง 2 ครั้ง เบนาซีร์ อธิบายว่า แม้จะต้องประสบกับความล้มเหลวและสูญเสียความเป็นส่วนตัว การรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้เพื่อหัวใจและจิตวิญญาณของปากีสถาน และยังเป็นการต่อสู้เพื่อคนในโลกมุสลิมที่เหลือ และคนส่วนใหญ่ในโลก เธอถูกลอบสังหารในขณะการหาเสียงเพื่อการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3

หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าอ่านสำหรับผู้ที่สนใจชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลก ที่นอกจากจะได้ความเพลิดเพลินแล้ว เรายังได้เรียนรู้ถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของบุคคลต่าง ๆ ด้วย

คิดเดอร์, เดวิด เอส. และออพเพนเฮ็ม, โนอาห์ ดี. (2556).  The Intellectual devotional biographies: revive your mind, complete your education, and acquaint yourself with the world’s greatest personalities (ประเวศ หงส์จรรยา และนันทิกา พฤทธิกานนท์, ผู้แปล). อมรินทร์.