ทำบุญ “วันเข้าพรรษา”

วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันหยุดที่ตื่นเช้าตรู่ เพื่อไปทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนา ดิฉันได้เตรียมอาหารคาว หวานไปทำบุญตักบาตร ณ วัดอริยวงศาราม (หนองน้ำขาว) ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านหนองน้ำขาว ตำบลดอนกระเบื้อง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี  ซึ่งเป็นวัดใกล้ ๆ บ้าน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 นาที เมื่อไปถึงนำอาหารเตรียมถวายพระ พร้อมตักบาตรถวายข้าวพระพุทธ นำดอกไม้ธูปเทียนกราบไหว้สักการะบูชาพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธาน และหลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต พระเกจิชื่อดังแห่งวัดอริยวงศาราม (หนองน้ำขาว) ท่านเป็นผู้ก่อตั้งวัดอริยวงศาราม (หนองน้ำขาว) และอดีตเจ้าอาวาสในศาลาการเปรียญ จากนั้นทำบุญติดพุ่มผ้าป่า พร้อมทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝน เมื่อได้เวลาประมาณ 7.30 น. เตรียมตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 17 รูป เมื่อเสร็จเรียบร้อยกลับเข้ามานั่งในศาลาการเปรียญเพื่อรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระอุดมคัมภีรญาณ (มานพ จาครโต ป.ธ.๗) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอริยวงศาราม (หนองน้ำขาว) องค์ปัจจุบัน

การทำบุญ คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องมีความขยันหมั่นเพียรในการประพฤติและปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรม หมั่นทำความดี มีการทำบุญ ตักบาตรเมื่อเราทำบุญแล้วรู้สึกอิ่มบุญ จิตใจผ่องใสเบิกบาน และการให้ทานฝึกให้เป็นอุปนิสัย ต้องรักษาศีล บำเพ็ญศีล 5 ฟังเทศน์ สวดมนต์ เจริญภาวนา และมีการฝึกสมาธิ ทำแบบสบาย ๆ โดยการกำหนดลมหายใจ เข้าออก ฝึกทำอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง ต้องละบาป บำเพ็ญบุญชำระจิต ฝึกจิตให้สงบ ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจะทำให้ชีวิติพบแต่ความสุขความเจริญ

สำหรับ (ศศิธร เหล่าเท้ง, ลาวัลย์ พุ่มพฤกษ์, และ ศุภศิริ ศรีตระกูล, 2556: 658) กล่าวว่า การทำบุญเป็นสิ่งที่ทำแล้วส่งผลให้ตนเองและคนอื่นเกิดประโยชน์ มีความสุขใจ สบายใจ จิตใจสงบ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เป็นการให้ทาน สร้างความดี เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร ซึ่งเกิดจากเจตนาที่ดี การทำบุญเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ดังนั้นการทำบุญจึงหมายถึง การให้ การแบ่งปัน การทำความดี ทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ การทำบุญทำได้ทุกที่ และการทำบุญเป็นวิธีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ส่วนในเรื่องของการทำเทียนพรรษานั้น เป็นงานศิลปะที่เกิดจากภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจและความเชื่อศรัทธาจากประเพณีเข้าพรรษา เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน เทียนพรรษาปรากฎสุนทรียธาตุทั้ง 3 ประการ คือความงดงาม แปลกตาและความน่าทึ่ง (สุรพันธ์  สุวรรณศรี, จรัส ลีกา, เอี่ยม อามาตย์มุลตรี,  และ สุริยา นทีศิริกุล, 2564: 37)

 

ภาพประกอบ

             

 

อ้างอิง

ศศิธร เหล่าเท้ง, ลาวัลย์ พุ่มพฤกษ์, และ ศุภศิริ ศรีตระกูล. (2556). การให้ความหมาย ที่มาของความหมาย และรูปแบบการทำบุญของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร. Veridian E-Journal,Silpakorn University (Humanities, Social Sciences and arts), 6(3), 658-670. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/31514

สุรพันธ์  สุวรรณศรี, จรัส ลีกา, เอี่ยม อามาตย์มุลตรี, และ สุริยา นทีศิริกุล. (2564). เทียนพรรษา : วัฒนธรรมแห่งภูมิปัญญาศิลปะ. วารสารบัณฑิตศึกษามหาจุฬาขอนแก่น, 8(1), 37-48. https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jg-mcukk/article/view/246907