เอกลักษณ์ “แมวไทย”

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสร่วมเล่าเรื่องหนังสือที่สวน พี่พร้อม ตอน “แมว แมว” กับพี่พร้อมอีก 5 คน เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี และน่าจดจำ เพราะตอนนั้นดิฉันตื่นเต้น และประหม่ามาก ๆ ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องหนังสือและพูดคุยแบบนี้เป็นครั้งแรก แต่ก็ได้รับกำลังใจจากพี่พร้อมทุกคนเป็นอย่างดี ทำให้ลดอาการประหม่า และผ่านมาได้ด้วยดีค่ะ

ที่บ้านดิฉันได้เลี้ยงแมวเพศผู้ ขนสีน้ำตาลทั้งตัวและมีสีขาวแซมเล็กน้อย ชื่อว่า “สองสี” ดิฉันมีความคุ้นชินกับเจ้าสองสีมาก เมื่อต้องเล่าเรื่องหนังสือ จึงทำการบ้าน เก็บข้อมูล อ่านเพิ่มเติม ทำให้เห็นมุมน่ารัก ๆ ของแมวมากขึ้น


ในวงการสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะคนที่รักแมวนั้นย่อมทราบกันดีว่า “แมวไทย” นับเป็นหนึ่งในแมวพันธุ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่งทีเดียว นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่นายโอว์เอิน กูลด์ (Owen Gould) นำแมววิเชียรมาศคู่หนึ่งกลับอังกฤษแล้วไปจดทะเบียนเป็น Royal Siamese Cat จนเกิดตื่นตัวในหมู่ฝรั่งตั้งสมาคมกันใหญ่โตในเวลาต่อมา

มีร่องรอยว่าสมัยนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงเลี้ยงแมวไทยไว้ในวังหลวงอยู่สองชนิดคือ แมววิเชียรมาศที่มีแต้มอยู่ตามตัว และขาวมณี ที่มีสีขาวตลอดทั้งตัว

แมว ภาษาบาลี มีชื่อเรียกไพเราะว่า พิฬาร วิฬาร หรือ มัชชาร สมัยโบราณ แมว ถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมทั้ง เกิด แต่ง ตาย เช่น การนำแมวคราว ขนาดเขื่อง (แมวตัวผู้ขนาดใหญ่ที่อายุมากแล้ว) ใส่ลงไปในเปลเด็กในพิธีลงอู่ แมวคราวเปรียบเหมือนแมวที่นอนอยู่ติดบ้าน ไม่เที่ยวเตร่ หรือแมวขาวตัวผู้ในพิธีปูที่นอนงานแต่งงาน หมายถึง อยู่กับเย้าเฝ้ากับเรือน ไม่ไปไหน กรณีหาไม่ได้อนุโลมให้ใช้ตุ๊กตาหรือรูปปั้นเซรามิคแทนได้ โดยจะเลือกตัวที่นอนขด ให้มีลักษณะคล้ายกับแมวที่นอนเฝ้าบ้านนั่นเอง ส่วนในประเพณีการตาย ก็ต้องคอยระวังมิให้แมวกระโดดข้ามศพ มีความเชื่อว่า ถ้าแมวดำข้ามศพ วิญญาณนั้นจะเฮี้ยนมาก ปัจจุบันเมื่อเวลาเปลี่ยนไป พิธีเก่า ๆ ก็เริ่มห่างหายไป หาดูได้ยาก ถึงแม้ว่าไม่ได้ใช้แมวจริง ๆ ในพิธีกันแล้วก็ตาม

แมวไทยโบราณมี 23 ชนิด แบ่งเป็นแมวมงคล 17 ชนิด และแมวให้โทษ 6 ชนิด โดยบรรยายลักษณะรูปร่าง สีสันของแมวชนิดต่าง ๆ ออกเป็น 2 ประเภท คือลักษณะคุณของแมวดี หรือแมวมงคลจะให้คุณแก่ผู้เลี้ยง จะทำให้ผู้เลี้ยงมีโชคลาภ มีฐานะร่ำรวย ค้าขายได้กำไร เจริญยศศักดิ์สูงขึ้น เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป หรือได้รับสิ่งอันเป็นสิริมงคล และโทษของแมวร้าย คือจะให้โทษแก่ผู้เลี้ยงหรือเจ้าของ จะนำความทุกข์ ความเศร้าหมองมาให้ และมักเกิดสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ได้

1. แมวมงคล 17 ชนิด ประกอบด้วย แมวนิลรัตน์ แมววิลาศ แมวศุภลักษณ์หรือแมวทองแดง แมวเก้าแต้ม แมวมาเลศหรือ
ดอกเลา แมวเซมเศวต แมวรัตนกัมพล แมววิเชียรมาศ เมวนิลจักร แมวมุลิลา แมวกรอบแว่นหรืออานม้า แมวปัดเศตรหรือปัดตลอต แมวสิงหเสพย์ แมวกระจอก แมวการเวก แมวจตุบท และแมวโกญจา

แมวมงคลแต่ละชนิดมีลักษณะโดยสรุป ดังนี้ 1) แมวนิลรัตน์ มีสีกายดำสนิท หางเรียวยาวโน้มไปจนจรดหัว ฟัน ตา เล็บ และลิ้น มีสีดำเหมือนสีนิล เลี้ยงไว้เชื่อว่าจะมีความเจริญ มีทรัพย์ ปราศจากอันตราย 2) แมววิลาศ สีกายดำ แต่มีแนวเส้นสีขาวตามยาวจากท้อง ปาก หน้าผาก หางทั้งส่วนล่างและบน ผ่านลำตัวไปจนถึงสองหู และเท้าทั้งสี่ข้าง เชื่อว่าเลี้ยงไว้แล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคน มีเงินทองมากมาย 3) แมวศุภลักษณ์ สีพื้นเป็นสีทองแดงทั่วตัวและหาง ตาสดใสเป็นประกาย 4) แมวเก้าแต้ม มีสีพื้นขาวแต่มีแต้มสีดำ 9 แห่ง ทั่วตัว คือ หัวจรดหู 1 ต้นขาหลัง 2 ขาหน้า 2 สะโพก 1 และไหล่ทั้ง 2 ข้าง และโคนหาง 1 เชื่อว่าเลี้ยงไว้แล้วจะรุ่งเรืองทางการค้าขาย 5) แมวดอกเลา หรือมาเลศ มีสีพื้นเป็นสีดอกเลาทั้งกายและหาง โคนขนเป็นสีมอแต่ตอนปลายสีขาว ดวงตาออกเป็นน้ำค้างใสคล้ายหยดน้ำบนใบบัว 6) แมวแซมเศวต สีขนเป็นสีขาว มีขนดำแซมทั่วตัว รูปร่างสันทัดแบบบาง และดวงตามีสีเหลืองคล้ายแสงของหิ่งห้อย 7) แมวรัตนกัมพล มีขนสีขาวคล้ายเปลือกหอยสังข์ ช่วงรอบอกมีสีดำคล้ายผ้าแถบวงรอบลำตัว และมีนัยน์ตาสีทองแวววาว เชื่อว่าเลี้ยงแล้วจะมียศ ผู้อื่นย่ำเกรง 8) แมววิเชียรมาศ พื้นกายเป็นสีขาว มีแต้มดำ 8 แห่ง คือ เท้าทั้ง 4 ปากบน 1 เรียวหาง 1 เละใบหู 2 ส่วนนัยน์ตาเป็นสีทอง 9) แมวนิลจักร มีสีดำทั่วกาย แต่มีสีขาวบริเวณรอบคอ (คล้ายมีปลอกคอ) เชื่อว่าเลี้ยงแล้วจะมีทรัพย์มาก 10) แมวมุลิลา มีสีพื้นดำทั่วตัว (ยกเว้นบริเวณใบหู 2 ข้าง ที่เป็นสีชาว) และมีนัยน์ตาสีเหลืองคล้ายดอกเบญจมาศ เชื่อว่าแมวชนิดนี้เหมาะกับนักบวชเลี้ยง เพราะช่วยให้มีการเล่าเรียนดีสมปรารถนา 11) แมวกรอบแว่น หรือ แมวอานม้า มีพื้นขนสีขาว แต่บริเวณส่วนกลางหลังมีแผ่นสีดำคล้ายลักษณะของอานม้า รอบวงลูกนัยน์ตาเป็นสีดำ (พินิจดูคล้ายแมวสวมแว่น) เชื่อว่าแมวชนิดนี้เลี้ยงแล้วให้เกียรติยศแก่เจ้าของ 12) แมวปัดเศตร หรือ ปิดตลอด มีพื้นกายสีดำ แต่แนวหน้าผากไปจรดสันหลังและปลายหางเป็นแถบสีขาว นัยน์ตาเป็นสีเหลืองทอง (บุษย์น้ำทอง) หากเลี้ยงไว้มีความเจริญมากกว่าคนในสกุลเดียวกันและได้ลาภยศ 13) สิงหเสพย์ มีสีพื้นกายเป็นสีดำ และมีสีขาวล้อมรอบปากและบริเวณคอ ตามีสีดั่งรง เลี้ยงแล้วมีสิริมงคล 14) แมวกระจอก ตัวกลมสีดำทั่วกาย รอบบริเวณปากมีสีขาวคล้ายสีเมฆ เลี้ยงแล้วเชื่อกันว่าจะได้ที่ดินเงินทอง ไพร่ก็จะได้เป็นเจ้านายคน 15) แมวการเวก ตัวสีดำ ยกเว้นเฉพาะสันจมูกเป็นสีขาว และมีนัยน์ตาเป็นสีทอง เชื่อกันว่าภายใน 7 เดือนที่ได้มาเลี้ยงจะได้ยศศักดิ์และลาภจำนวนมาก 16) แมวจตุบท ร่างเป็นสีตำ บริเวณส่วนคางจรดแนวอก ท้อง ถึงโคนหางเป็นสีขาว เท้าทั้งสี่มีสีขาวคล้ายสวมรองเท้า ส่วนนัยน์ตาเป็นสีเหลืองอ่อนคล้ายสีดอกโสน เชื่อว่าให้คุณกับคนเลี้ยง และ 16) แมวโกญจา ขนสีดำทั่วกายขนละเอียด ปากและหางเรียว ลักษณะการวางเท้าของมันเป็นลักษณะการเหยียดตรงคล้ายเท้าของสิงห์ และมีนัยน์ตาดั่งสีดอกบวบ รวมเป็นแมวดี 17 ชนิด

2. แมวร้าย 6 ชนิด ประกอบด้วย แมวทุพพลเพศ พรรณพยัคฆ์หรือลายเสือ ปิศาจ หินโทษ กอบเพลิง และเหน็บเสียด
แต่ละชนิดมีลักษณะโดยสรุป ดังนี้ 1) แมวทุพพลเพศ เป็นแมวสีขาวที่มีนัยน์ตาเป็นสีโลหิต มักจะขโมยปลากินอยู่ทุกค่ำคืน 2) แมวพรรณพยัคฆ์ เป็นแมวที่มีลวดลายคล้ายเสือโคร่ง ขนหยาบ ตาสีเปือกตมและมีเสียงร้องน่ากลัวคล้ายกับเสียงของผีโป่งตามดงลึก 3) แมวปิศาจ เป็นแมวที่มีหางคดงอดั่งงูดินเมื่อคลอดชอบกินลูกของตัวเอง มีขนสาก และหนังยาน 4) แมวหินโทษ เป็นแมวที่มักจะให้ลูกตายคาท้องเมื่อคลอด 5) แมวกอบเพลิง เป็นแมวที่มักจะซุ่มอยู่ตามยุ้งหรือตามซอกบ้าน หากเห็นคนก็จะวิ่งหัวซุกหัวซุน และ 6) แมวเหน็บเสียด เป็นแมวที่มีรูปร่างพิกลหลายประการ แมวดั่งนี้ไม่ควรเลี้ยงไว้จะเกิดความเสื่อมและได้รับภัยพิบัตินานา

สมัยก่อน ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะชื่นชอบแมวชนิดที่มีขนเรียบเป็นมัน หรือขนปุยอย่างแมวไทย (SIAMESE CAT) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทั้งนี้ยังมีแมวไทยที่มีชื่อเสียงอีกสายพันธุ์ คือพันธุ์สีสวาด โดยเมื่อ พ.ศ. 2502 นางยืน จอห์นสัน ชาวสหรัฐอเมริกาได้นำแมวสีสวาดหรือดอกเลา กลับไปสหรัฐอมริกา 2 ตัว ชื่อนาราและดารา ในปี พ.ศ. 2508 ได้มีการก่อตั้งสมาคม ผู้เลี้ยงแมวไทยพันธุ์สีสวาดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและจดทะเบียนเป็นสัตว์ประจำชาติไทยในปี พ.ศ. 2552

ในด้านความสำคัญของแมวไทยในเชิงสัญลักษณ์สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะพันธุ์แมว “วิเชียรมาศ” ถูกใช้เป็นแมสคอทตัวนำโชคในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2528 ที่กรุงเทพฯ และ กีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ แมววิเชียรมาศตัวหลังนี้มีชื่อว่า “สวัสดี”

ปัจจุบันแมวสายพันธุ์ต่าง ๆ กำลังสูญหายเป็นจำนวนมาก คงเหลือไว้ 5 สายพันธุ์ คือ 1. แมววิเชียรมาศ 2. แมวมาเลศ หรือสีดอกเลา ปัจจุบันเรียกว่า แมวไทยพันธุ์โคราช ซึ่งบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่คนไทยมักเรียกว่า แมวสีสวาด 3. แมวศุภลักษณ์ หรือทองแดง 4. แมวโกญจา และ 5. แมวขาวมณีหรือแมวขาวปรอด (ตัวนี้ไม่ปรากฏในสมุดข่อยเพราะปรากฏขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5) ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์แมวไทยสายพันธุ์โบราณยังคงมีความพยายามในการผสมพันธุ์แมว เพื่อให้ได้แมวที่มีลักษณะตรงตามที่บันทึกไว้ในตำรา เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

และเป็นที่น่ายินดีว่าตำราดูลักษณะแมว ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทฺธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 6 มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ประจำปี 2561

ภาพประกอบ “แมวที่บ้านดิฉัน”  

แมวที่บ้าน ชือว่า “สองสี” ภาพจาก: น้องพัฒน์

 


บรรณานุกรม

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (2562). ตำราดูลักษณะแมว ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสรมหาเถร พ.ศ. 2407-2499). วารสารปาจารยสาร, 3(1), 13-47.

ผู้จัดการออนไลน์ (2561, ตุลาคม 17). ชู “ตำราดูลักษณะแมว” วัดอนงคาราม เป็นมรดกภูมิปัญญา กทม.ปี 2561 สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน. https://mgronline.com/politics/detail/9610000103873

ไพบูลย์ แพงเงิน. (2547). แมวไทย…จากอดีตจนถึงปัจจุบัน. เทคโนโลยีชาวบ้าน, 16(336), 92-93.
ภรัตติยา. (2535). แมวที่หายาก. ไฮ-คลาส, 9(100), 126-132.
แมวไทยที่สุดของแมวโลก. (2548). มิติชุมชน, 1(2), 32-33.