ส้มตำ…มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติ


เมื่อวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564
Google มีการเปลี่ยนภาพโลโก้ ที่เรียกว่า google doodle
เป็นภาพ วันเฉลิมฉลองส้มตำ
เพื่อร่วมฉลองโอกาสพิเศษเป็นการให้เกียรติกับคนไทย

ว่าด้วยเรื่อง google doodle นี้
ครั้งแรกๆ ที่เห็นข้าพเจ้าสนุกสนานไปกับการติดตาม
เรื่องราวของโลโก้ที่เปลี่ยนไปตามวาระโอกาสสำคัญ
เช่น วันเกิดบุคคลสำคัญ เทศกาล เหตุการณ์สำคัญ
หรือระยะหลังๆ มานี้ บางครั้งก็มีโลโก้ดุกดิก
เป็นเกมบ้าง เป็นภาพเคลื่อนไหวได้บ้าง
เช่น การแข่งกีฬาโอลิมปิคก็มีการ์ตูน
มาสปริงบอร์ดโดดน้ำ ให้เราได้จิ้มดู จิ้มเล่น พอเพลิน

แรกๆ ที่ยังตื่นตากับโลโก้ที่เปลี่ยนไปตามวันเวลา
ได้เขียนเล่าเรื่องไว้บน Blog เฟสแรกของหอสมุดฯ
ใช้ชื่อหลักว่า “วันเวลาบน google”
ชื่อตอนก็เปลี่ยนไปตามโอกาส รวม 7 ตอน
ครั้งแรกเผยแพร่เมื่อ ปี 2010 วันนี้ นำลิงค์ตอนแรก คือ
วันเวลาบน Google | Sanamchandra Palce Library’s Blog (1) (su.ac.th)
และตอนสุดท้าย
วันเวลาบน Google ภาค 7 : Gregor Mendel’s 189th Birthday | Sanamchandra Palce Library’s Blog (1) (su.ac.th) มาฝากท่านที่สนใจ

กลับมาเรื่อง วันเฉลิมฉลองส้มตำ
ซึ่งจะว่าไปเชื่อว่านอกจากต้มยำกุ้ง เมนูอาหารไทยที่โกอินเตอร์แล้ว
อีกหนึ่งเมนูในใจที่ชาวต่างชาติจะนึกถึงเมื่อพูดถึงประเทศไทย
ก็จะมีส้มตำเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

ส้มตำ นับเป็นอาหารที่มีความสำคัญ
แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย
ด้วยรสชาติที่แตกต่างชาวต่างชาติที่ได้ลิ้มรสจึงต่างประทับใจ
กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า
ด้านอาหารของไทยที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

ในปี 2555 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญา จำนวน 70 รายการ ใน 7 สาขา
และ ส้มตำ ได้รับการประกาศอยู่ในสาขา
ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
ประเภทอาหารและโภชนาการ
อันเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติ

เชื่อว่าสาวกส้มตำคงแอบปลื้มกับความอร่อยของอาหารมรดกแห่งชาติ
แต่สงสัยกันมั้ยคะว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ซึ่งภาษาอังกฤษใช้ว่า Intangible Cultural Heritage นั้น คืออะไร

เดิมทีคำนี้ มีการเสนอคำแปลกันหลากหลาย
แต่เมื่อแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษก็ยังถกเถียงกันอยู่
ต่อมาเมื่อ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติให้ใช้
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แทนคำภาษาอังกฤษข้างต้น
ด้วยเห็นว่า มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
อาจทำให้เกิดการตีความที่ไม่ตรงกัน
และในทางปฏิบัติคำทั้งสองก็มีความหมายไม่ต่างกัน

ทั้งนี้ นิยาม มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์
และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
หมายถึง การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก
ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์
และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านั้น
ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และในบางกรณีปัจเจกบุคคล
ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน

เชื่อว่าหลายคน รวมทั้งข้าพเจ้าอ่านนิยามแล้วก็ยังไม่กระจ่างใจ

มาดู ขอบเขต ลักษณะของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ซึ่งยูเนสโกกำหนดไว้ 5 สาขา คือ

  1. ประเพณีและการแสดงออกที่เป็นมุขปาฐะ รวมถึงภาษาในฐานะพาหะ
  2. ศิลปะการแสดง
  3. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล
  4. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
  5. งานช่างฝีมือดั้งเดิม

แต่ประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ได้ระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิทุกแขนง
เห็นว่าเรามีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์
จึงจำแนกสาขา พร้อมกำหนดประเภทของแต่ละสาขา
ให้สอดคล้องกับบริบทวัฒนธรรมของไทย แบ่งเป็น 7 สาขา คือ

  1. ศิลปะการแสดง
    1.1 ดนตรีและเพลงร้อง เช่น ปีพาทย์ ซอสามสาย เพลงโคราช
    1.2 นาฎศิลป์และการละคร เช่น โขน มโนราห์
  1. งานช่างฝีมือดั้งเดิม
    2.1 ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า เช่น ผ้าทอนาหมื่นศรี ผ้าขาวม้า
    2.2 เครื่องจักสาน เช่น เครื่องจักสานไม้ไผ่ เครื่องจักสานย่านลิเภา
    2.3 เครื่องรัก เช่น เครื่องมุกไทย
    2.4 เครื่องปั้นดินเผา เช่น เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง
    2.5 เครื่องโลหะ เช่น เครื่องทองเหลือง
    2.6 เครื่องไม้ เช่น เรือกอและ เรือนไทยพื้นบ้าน
    2.7 เครื่องหนัง เช่น รูปหนังตะลุง รูปหนังใหญ่
    2.8 เครื่องประดับ เช่น เครื่องไทยโบราณสกุลช่างเพชรบุรี
    2.9 งานศิลปกรรมพื้นบ้าน เช่น งานช่างดอกไม้สด
    2.10 ผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น เครื่องแต่งกายมโนราห์
  1. วรรณกรรมพื้นบ้าน
    3.1 นิทานพื้นบ้าน เช่น นิทานสังข์ทอง นิทานขุนช้างขุนแผน
    3.2 ตำนานพื้นบ้าน เช่น ตำนานพระร่วง
    3.3 บทสวดหรือบทกล่าวในพิธีกรรม เช่น บททำขวัญช้าง
    3.4 บทร้องพื้นบ้าน เช่น เพลงแห่นางแมว
    3.5 สำนวน ภาษิต เช่น ผญาอีสาน
    3.6 ปริศนาคำทาย เช่น คำทาย ปัญหาเชาวน์
    3.7 ตำรา เช่น ตำราศาสตรา ตำราพิชัยสงคราม
  1. กีฬาภูมิปัญญาไทย
    4.1 การเล่นพื้นบ้าน เช่น หมากเก็บ ว่าวไทย
    4.2 กีฬาพื้นบ้าน เช่น หมากรุกไทย ตะกร้อ แข่งเรือ
    4.3 ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น มวยไทย กระบี่กระบอง
  1. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล
    5.1 มารยาท เช่น การแสดงความเคารพแบบไทย
    5.2 ขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง เทศน์มหาชาติ
  1. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
    6.1 อาหารและโภชนาการ เช่น สำรับอาหารไทย ต้มยำกุ้ง ผัดไทย
    6.2 การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน เช่น การนวดไทย
    6.3 โหราศาสตร์และดาราศาสตร์ เช่น โหราศาสตร์ไทย
    6.4 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ข้าวหอมมะลิ
    6.5 ชัยภูมิและการตั้งถิ่นฐาน เช่น ดอนปูตา
  1. ภาษา
    7.1 ภาษาไทย
    7.2 ภาษาท้องถิ่น
    7.3 ภาษาสัญลักษณ์

มาถึงบรรทัดนี้ มีใครยังสงสัยเหมือนข้าพเจ้าอีกมั้ยว่า
ก็แล้วส้มตำ ที่กำหนดเข้าหมวดหมู่ที่ 6.1
คือ อาหารและโภชนาการ เครือๆ เดียวกับ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย นั้นเล่า
มันคือ ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล อย่างไรหนอ
เป็นว่าอิฉันจะไปควานหาองค์รู้มาเล่าสู่วันหน้าดีกว่า
ยืดยาวไปกว่านี้ก็จะได้หน้า หลังไม่เหลือ จำอันใดมิได้เสียสิ้น

ท่านที่สนใจฟังข้อมูลเสียง ส้มตำ…มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติ
ติดตามรับฟังได้ใน รายการ SNC Library Podcast
…รายการวิทยุออนไลน์ที่จะร้อยเรียง สาระ 1000 เรื่องราว สรรหามาเล่า
โดย หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
ซึ่งออกอากาศเมื่อ 18 ธันวาคม 2564
กดติดตามจากลิงค์นะคะ https://anchor.fm/snclibrary/episodes/ep-e1bsjji

………………..

ขอบคุณข้อมูลจาก
สืบที่มา “ส้มตำ” เมนูยอดฮิตเข้ากรุงเทพฯ เมื่อไหร่
คนกรุงสมัยก่อนกินส้มตำที่ไหน
โดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์
เผยแพร่ทาง: https://www.silpa-mag.com/culture/article_5140

วธ.ประกาศ ส้มตำ ปลาร้า หมากเก็บ ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาฯ
เผยแพร่ทาง: https://mgronline.com/qol/detail/9550000151877

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559:
การรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
โดย เปรม ถาวรประภาสวัสดิ์ วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=54975&filename=house2558