พูดยังไง ให้เข้าใจ

ในปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารนั้นมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารหลากหลายช่องทาง ด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วทันใจ เลือกการติดต่อสื่อสารได้ตรงตามวัตถุประสงค์  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการติดต่อสื่อสารกันด้วยการ “พูด” คุยผ่านโทรศัพท์เป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารที่สามารถทำได้โดยตรง ในเวลาอันรวดเร็ว และบางครั้งทำให้เข้าใจในเรื่องที่จะต้องการจะสื่อสาร ด้วยน้ำเสียงและคำพูด ซึ่งเข้าใจในสิ่งที่สื่อสารได้ง่ายกว่าการอ่านจากข้อความ

แม้ว่าการติดต่อสื่อสารกันด้วยการพูดคุยผ่านโทรศัพท์ จะดูเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน แต่หากผู้พูดและผู้ฟัง ขาดทั้งการสื่อสารและการฟังที่ดี ก็อาจทำให้การสื่อสารเกิดการคลาดเคลื่อนได้

มีครั้งหนึ่งที่ได้รับสายโทรเข้าจากบริษัทขนส่งรายหนึ่ง แจ้งว่าจะเข้ามาส่งพัสดุให้ จึงถามกลับไปว่าตอนนี้ถึงตรงไหนแล้วคะ  ได้รับการตอบกลับว่า “อยู่สโตร์” ซึ่งเราก็เข้าใจว่าอยู่สโตร์สินค้า และยังแอบยังบ่นในใจว่ายังอยู่สโตร์ ทำไมรีบโทรมาบอก จึงไม่ได้ออกไปรอรับพัสดุ ซึ่งความจริงแล้ว ในตอนที่เราถามไปว่าถึงตรงไหนแล้ว ขนส่งแจ้งเราว่าถึง “U Store” ซึ่งเป็นร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Apple) ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ไกลจากหอสมุดฯ จึงทำให้บริษัทขนส่งต้องเสียเวลาในการรอเราออกไปรับสินค้า

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่จะเล่าให้ฟังไม่ได้เกิดจากการคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร แต่เกิดการขำขันจากเพื่อนที่ฟังอยู่ข้าง ๆ ซะมากกว่า เรื่องมีอยู่ว่า.. ทางเราซึ่งเป็นต้นเรื่องได้ติดต่อหน่วยงานภายในแห่งหนึ่งภายในมหาวิทยาลัย เพื่อแจ้งเรื่อง ID Line ที่ใช้สำหรับประสานงานในการส่งข้อมูล ซึ่งต้องแจ้ง ID เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ  คำว่า  “SEI…” ทางปลายสาย ได้ทวนตัวอักษร โดยใช้คำศัพท์ต่อท้ายเพื่อยืนยันความถูกต้อง เมื่อเรา บอก S ปลายสายจึงทวนกลับมาว่า S = Singapore นะคะ และเมื่อเรา บอก E  ครั้งนี้เราจึงบอกต่อไปว่า E = EGG ไข่ และเรายังต่อไปว่า I = ICE CREAM ซึ่งเป็นการสื่อสารที่จริง ๆ แล้วเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย แต่เพื่อนที่ฟังข้าง ๆ กลับหลุดหัวเราะออกมา เมื่อวางสายจึงถามเพื่อนว่าขำอะไร? หรือว่าเราพูดอะไรผิดออกไป??  เพื่อนบอกว่าไม่ได้ผิดอะไรแต่ทำไมเวลาบอกตัวอักษรภาษาอังกฤษ ไม่บอกเป็นหมวดเดียวกันล่ะ เค้ามา S = Singapore เป็นประเทศแล้ว ทำไมไป E = EGG ไข่ได้ 5555 เมื่อฟังแล้วก็ได้แต่เขินเพื่อน และพูดแก้เขินไปว่ามันเป็นศัพท์ที่ติดหู ติดปากมาจากสอนการบ้านลูกไง ก็เป็นเรื่องที่พูดแล้วเพื่อนยังแซวมาจนทุกวันนี้