เมื่อหลายปีก่อน ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรม/สัมมนาเกี่ยวกับ Service design ในห้องสมุดมาบ้าง 2-3 ครั้ง และได้นำเรื่องราวมาบอกเล่าไว้ในเรื่อง “Service design กับห้องสมุด” มาวันนี้หลังจากได้มีโอกาสศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองเพิ่มเติมจากการเข้าอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (HRD : e-Learning) ของสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงานก.พ. ในหัวข้อ “การออกแบบนวัตกรรมบริการ” ซึ่งพบว่ามีเนื้อหาบางส่วนที่แตกต่างไปบ้าง อาจเป็นเพราะในปัจจุบันเน้นเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการออกแบบบริการมากขึ้น จึงนำมาเล่าสู่กันฟังว่าเรื่องราวที่ได้ศึกษาเรียนรู้ครั้งนี้เป็นอย่างไร
นวัตกรรมบริการ เป็นนวัตกรรมใหม่ เป็นวิธีคิดแบบใหม่ หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เป็นการปรับปรุงคุณภาพบริการหรือสร้างบริการใหม่ ที่ใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบตามเส้นทางความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึง 3P ได้แก่
People – พึงพอใจสูง / ใช้อย่างต่อเนื่อง / พนักงานทำงานสะดวกขึ้น ลดปัญหา
Planet – ทำให้ดูแลสิ่งแวดล้อม
Profit – อยู่รอดในสถานการณ์การแข่งขัน / ผลักดันการนำเทคโนโลยีมาใช้
นวัตกรรมบริการเกิดจากพฤติกรรมของผู้รับบริการที่เปลี่ยนไป เช่น
การซื้อทรัพย์สิน เป็น การเช่าทรัพย์สิน
สนใจด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้มีบริการต่าง ๆ เกิดขึ้น
อาหารสด เป็นอาหารแช่แข็ง เกิด Food delivery
เดินไปซื้อของเอง เป็นการซื้อของออนไลน์
บริโภคนิยม เป็น อนุรักษ์นิยม
ใช้นาน เริ่มเป็นเปลี่ยนบ่อย ใช้ของมือสอง ใช้เทคโนโลยี
องค์กรที่ต้องทำนวัตกรรมบริการ
องค์กรภาครัฐ
ภาคเอกชน
องค์กรไม่แสวงหากำไร มูลนิธิ สมาคม
องค์กรใดๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับลูกค้าหรือผู้รับบริการ
การวิเคราะห์ความต้องการของผู้รับริการ
Journey map เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้รับบริการ เพื่อเข้าไปสู่กระบวนการหรือขั้นตอนของการออกแบบบริการ แล้วมีจุดประทะหรือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (Touch point) ระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ด้วยการสร้างแผนภาพลำดับพฤติกรรมของผู้รับบริการ
Touch point เป็นจุดที่ผู้ให้และผู้รับบริการมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ไม่จำเป็นต้องเป็นทางกายภาพ อาจเป็น Touch point บนอินเทอร์เน็ตก็ได้
Unmet need เป็นเรื่องที่ลูกค้าหรือผู้รับบริการยังไม่รู้ว่าตนเองมีความต้องการนั้นอยู่ หรือยังไม่รู้ความต้องการที่แท้จริง ซึ่งในการออกแบบนวัตกรรมบริการต้องเข้าใจปัญหาของลูกค้าหรือผู้รับบริการ หาความคิดใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหา และนำไปทดสอบกับลูกค้า เพราะหากจะยืนยันผลที่ได้จะต้องลองเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้รับบริการ
การเก็บข้อมูลความพึงพอใจ ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย รวมถึงการใช้แบบสอบถาม เพื่อเอาสิ่งที่รวมรวมได้มาเป็นแนวคิดของนวัตกรรมบริการได้
องค์ประกอบของทีมงานที่ร่วมออกแบบบริการ
– พนักงานผู้ให้บริการ
– ลูกค้า
– นักออกแบบบริการ
– นักกลยุทธ์ และนักเทคโนโลยี
อุปกรณ์ที่ใช้ในการออกแบบบริการ
– เทมเพลท Journey map
– Post-it
– จอโปรเจคเตอร์ และคอมพิวเตอร์
พฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการออกแบบบริการ
– ร่วมออกความคิดเห็น
– คิดนอกกรอบ มองกว้างออกไปจากบริการที่มีอยู่
– ประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่รอบตัว
– ก้าวข้ามความขัดแย้งเดิม
การทำ Brainstorming
– อย่าไปตำหนิคนอื่น
– อย่าไปตัดสินคนอื่น
– ให้ได้ความคิดให้มากที่สุด
– ระบุให้ชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
– อย่าเปลี่ยนหัวข้อมในการพูดคุย
วิธีที่ดีเพื่อทดสอบบริการใหม่
– เชิญลูกค้าหรือผู้รับบริการเข้ามารับฟัง
– เก็บรวบรวมความต้องการเพิ่มเติม
ความเสี่ยงของบริการใหม่
– ลูกค้าไม่กลับมาใช้บริการ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลง ควรให้คนกลุ่มหลักเป็นคนรีวิว/สาธิต
– ลูกค้ากลัวจะเสียค่าบริการเพิ่มขึ้น
– การนำเทคโนโลยีมาใช้มากจนเกินไป จะทำให้ลูกค้ากลุ่มทั่วไปเข้าถึงได้ยาก
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นการเก็บความจากการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง ด้วยการเข้าอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (HRD : e-Learning) ในเรื่อง “การออกแบบนวัตกรรมบริการ” นอกจากนี้ในเรื่องของการออกแบบบริการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธงชัย โรจน์กังสดาล เคยกล่าวถึงเรื่องการออกแบบบริการไว้เกี่ยวกับ Service design for library ว่าในการออกแบบบริการ ควรทำดังนี้
1) กำหนดปัญหา ต้องทราบปัญหาเพื่อที่จะนำปัญหาดังกล่าวมาเป็นข้อมูลในการออกแบบบริการ
2) เก็บข้อมูล อาจเป็นการสัมภาษณ์ การถ่ายวิดีโอ หรือการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Service safari คือเป็นการสังเกตการณ์เพื่อเข้าใจในเชิงลึก ซึ่งเราควรไปสังเกตการณ์ในบริการต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับบริการของเรา
3) Persona คือตัวแทนบุคคลที่แทนลูกค้า ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้บริการ อาจเป็นผู้ให้บริการก็ได้
4) เส้นทางของลูกค้า (๋Journey map) ซึ่งหลังจากที่ได้กำหนด Persona แล้ว ก็จะมากำหนดเส้นทางการเดินทางของลูกค้าว่ามีเส้นทางอย่างไร ตั้งแต่ก่อนการใช้บริการ ระหว่างการใช้บริการ และหลังการใช้บริการ
5) ทำต้นแบบ (Prototype) โดยเปลี่ยนความคิดให้เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เพราะต้นแบบจะทำให้การสื่อสารเข้าใจง่ายขึ้น ในการทำต้นแบบสำหรับการออกแบบบริการ
6) ทดสอบและนำเสนอต้นแบบ
อย่างไรก็ตาม หอสมุดฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริการที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้รับบริการโดยตรง คงต้องการออกแบบบริการมาใช้เพื่อพัฒนาการบริการของหอสมุดฯ ให้ตอบความต้องการของผู้รับบริการได้ตรงจุด ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการในเบื้องต้นไปบ้างแล้ว 🙂