สวัสดีปีใหม่

วันนี้ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ทำบุญปี ใหม่ ซึ่งทำบุญเป็นประจำทุกปี

โดยมีข้อความ “สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๓ ” เกิดนึกสงสัยว่า ทำไมต้องสวัสดีปีใหม่

จึงไปค้น เรื่องราวของ “สวัสดีปีใหม่” และได้คัดลอกงานเขียน ของอาจารย์ สมบัติ พลายน้อย ในหนังสือ สิริมงคล เห็นว่าดี มีประโยชน์  มาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้ทราบค่ะ

เมื่อใกล้จะถึงวันขึ้นปีใหม่ ผู้เขียนจะได้รับคำถามที่คล้าย ๆ กันอยู่เสมอ เช่น ปีใหม่ของไทยมีหลายแบบ ใครเป็นคนคิดให้มีบัตรอวยพร  คำว่า “ส.ค.ส” ใครเป็นคนใช้คนแรก ฯลฯ

ปีใหม่ของไทยมีหลายแบบนั้นพอตอบได้สั้นๆ ว่า แต่โบราณมาไทยถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย  เป็นวันขึ้นปีใหม่ (ตามปฏิทินหลวงปัจจุบัน ถือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีนักษัตรใหม่) ต่อมาไทยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ตามแบบจุลศักราช จึงถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕  เป็นวันขึ้นต้นปีนักษัตรใหม่หนหนึ่ง กับเมื่อดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งเรียกกันว่า “วันมหาสงกรานต์” และหลังจากนั้น ๒ วัน ก็เป็นวันเถลิงศกเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เรื่องวันขึ้นปีใหม่จึงดูสับสน พระบาทสมเด็จพระจุลจุมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเป็นความยุ่งยากแก่ชาวต่างประเทศจึงทรงกำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน  ร.ศ. ๑๐๘ เป็นปีแรกตามแบบสุริยคติ ทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจวันเดือนปีของไทยง่ายขึ้น

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติปฏิทินต่อสภาผู้แทนราษฎร เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายน เป็น วันที่ ๑ มกราคม ตามแบบสากลนิยม โดยกำหนดให้วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นวันขึ้นปีใหม่ปีแรก

ปัญหาที่ถามกันอยู่เสมอก็คือ ในวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีไทยทำอะไรกันบ้าง

ถ้าเป็นวันปีใหม่ตามแบบวันสงกรานต์ ก็มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ บังสุกุลอัฐิบรรพบุรุษ และมีการเล่นสนุกสนานต่างๆ

ส่วนวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน นั้นประชาชนไม่ได้ใ้หความสนใจเหมือนวันสงกรานต์ ไม่มีกิจกรรมอะไร ดูซบเซาเงียบเหงา จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลจึงได้รื้อฟื้นจัดงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก มีการทำบุญตักบารตรที่ท้องสนามหลวงและสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์

ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ เข้าใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากเอกชนมากขึ้น เพราะได้พบเหรียญที่ระลึกขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖.๔ เซนติเมตร ทำด้วยทองแดง ตรงกลางเหรียญเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ รอบพานมีรัศมีเป็นแฉกอยู่โดยรอบ มีรูปธงไตรรงค์ไขว้ที่พานรัฐธรรมนูญ ด้านบนมีตัวหนังสือ “ที่ระลึกที่ได้ช่วยเหลือในการรื่นเริงปีใหม่” โค้งไปตามขอบเหรียญ และด้านล่างแจ้งปีที่สร้าง ” พ.ศ. ๒๔๗๘”

ต่อมา เมื่อเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ก็คงมีกิจกรรมเช่นเดียวกันนั้น ส่วนในต่างจังหวัดทางราชการก็เชิญชวนให้ประชาชนทำบุญตักบาตร ถือเป้นงานรื่นเริงประจำปี ในปีแรกที่จัดงานปีใหม่ วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๔ นั้น ทางราชการได้ทำเหรียญที่ระลึกรูปห้าเหลี่ยมกว้าง ๒ เซนติเมตร สูง ๓ เซนติเมตร ด้านหน้ามีรูปพานรัฐธรรมนูญประดิษฐานอยู่บนรูปที่ขดอย่างสวยงาม ที่มีรูปงูก็เพราะ ตรงกับปีมะเส็งด้วย ด้านซ้ายของพานมีคำว่า ” หนึ่ง” ส่วนด้านขวามีคำว่า “มกร” ใต้งูลงมามีอักษร ” งานปีใหม่ ๒๔๘๔”  นับถึงปัจจุบันครบ ๗๙ ปี

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ มีประกาศของทางราชการให้ข้าราชการและประชาชนทักทายก้นด้วยคำว่า “สวัสดี” ฉะนั้น เมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ จึงมีคำทักทายว่า “สวัสดีปีใหม่”  เกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง และมีเพลง “สวัสดีปีใหม่” ช่วยให้คำ “สวัสดีปีใหม่” แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

เมื่อแรกทักทายกันว่า ‘สวัสดีปีใหม่” นั้น ผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม. ๔ หรือ ม.๕ ครูสอนวาดเขียน ชื่อครูสวัสดิ์ วาดวิลัย ท่านทำบัตร ส.ค.ส. ระบายรูปด้วยสีน้ำส่งไปขายตามร้านในตลาด ไม่เขียนไม่มีสตางค์เหลือเฟือ ก็ทำเลียนแบบส่งให้เพื่อนๆ ในสมัยนั้น บัตร ส.ค.ส. จะวาดรูประบายสีกันเองทั้งนั้น รูปส่วนมากก็จะเป็นภูเขา ทะเล ต้นมะพร้าว ดวงจันทร์ หรือรูปดอกไม้สีสด

ก่อนจะเขียนเรื่องนี้มีโทรศัพท์จากคนเขียนบทโทรทัศน์รายหนึ่งถามว่าใครเป็นคนใช้คำว่า “ส.ค.ส.” เป็นคนแรก

ผู้เขียน ตอบด้วยความมั่นใจว่า ” ไม่รู้” เพราะคำว่า “ส่งความสุข” ซึ่งเป็นต้นตอของ “ส.ค.ส.” ผู้เขียนยังไม่รู้ว่าเป็นคนกำหนด ยังไม่พบหลักฐาน เท่าที่ตรวจพบในหนังสือพิมพ์ที่ออกใน พ.ศ. ๒๔๕๓ สมัยรัชกาลที่ ๖ เรียกว่า “การ์ดปีใหม่และมีโคลงอวยพร” ส่วนที่ใช้ว่า “ส.ค.ส.” นั้นพบในบัตรพระนาม “กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” มีลายพระหัตถ์เขียนด้วยหมึกสีดำว่า “ส.ค.ส.  พ.ศ. ๒๔๗๑” นี่กล่าวตามหลักฐานที่่มีอยู่ อาจมีที่เก่ากว่านี้ก็ได้ ยกมาพอให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าบัตรอวยพรรุ่นแรกเป็นอย่างไรเท่านั้น

ตามหลักฐานที่ฝรั่งค้นพบ ปรากฏว่ามีการส่งบัตรอวยพรตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) ตรงกับรัชกาลที่ ๓ของไทย คือ ได้พบในสมุดบันทึกของเฮนรี่ โคล มีความตอนหนึ่งว่า

“มิสเตอร์ ฮอร์สเล่ย์ ได้มาพบ และนำเอาแบบการ์ดคริสต์มาสมาด้วย”

มิสเตอร์ฮอร์ลเล่ย์ในบันทึกนั้นก็คือ จอห์น  คัลคอทาร์ ฮอร์สเล่ย์ เป็นช่างเขียนมีชื่ออยู่ในสมัยนั้น เฮนรี่ โคล กับมิสเตอร์ฮอร์สเล่ย์มีส่วนสำคัญในการผลิตบัตรอวยพรรุ่นแรกอยู่มาก คือ เฮนรี่ โคล เป้นคนแนะให้ฮอร์สเล่ย์ เขียน แต่ เฮนรี่ โคลก็ไม่ใช่คนที่คิดได้เอง เขาไปได้ความคิดมาจากเจ้าชายอัลเบิร์ตอีกต่อหนึ่ง เจ้าชายอัลเบิร์ตผู้นี้เป็นผู้ที่นำต้นคริสต์มาสเข้าไปเผยแพร่ในอังกฤษเมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๑ เนื่องจาก เฮนรี่ โคลเป็นสหายกับเจ้าชาย เจ้าชายจึงถ่ายทอดสิ่งที่พระองค์ทรงพบเห็นจากเยอรมันนี้ให้ เฮนรี่ โคลฟัง แสดงว่าในเยอรมันนีมีการส่งบัตรอวยพรในวันคริสต์มาสกันมาก่อนชาวอังกฤษ แต่บัตรอวยพรในสมัยนั้น แม้ว่าจะคิดทำใน ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) ก็จริง แต่ก็เพิ่งจะมาเผยแพร่ในหมู่ประชาชนเมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๖ อีก ๓ ปี ต่อมา

สรุปว่า ผู้เขียนเล่าเรื่องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ที่ได้พบเห็น ได้มีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง บางท่านไม่ชอบส่ง ส.ค.ส. แต่ชอบใช้โทรศัพท์ มาทักทักทาย “สวัสดีปีใหม่” เป็นประจำทุกปี อย่างนี้ก็ดีที่ได้ฟังเสียงและได้สวัสดีปีใหม่ตอบไปทันที จะเสียก็ตรงเสียงหายไป เรียกเสียงกลับมาอีกไม่ได้ หากเป้น บัตร ส.ค.ส.  ก็ยังรื้อกลับมาอ่านคำอวยพรได้อีก

ในปัจจุบัน บัตรอำนวยพรวันขึ้นปีใหม่ได้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม คือมีการพิมพ์จำหน่ายเพื่อนำรายได้ไปบำรุงการกุศล ผู้ที่ซื้อไปใช้จึงได้ประโยชน์สองต่อ ได้อวยพรมิตรสหายและได้บุญที่มีโอกาสช่วยเหลือกิจกรรมของสังคมอีกด้วย

การส่งบัตรอวยพรในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ไทยเราไทยเราได้แบบอย่างมาจากต่างประเทศ และอาจมีมาแล้วตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ มีใช้เฉพาะระหว่างเจ้านายหรือขุนนางที่ทราบประเพณีของชาวต่างประเทศยังไม่แพร่หลายในหมู่ประชาชน จนถึงรัชกาลที่ ๕ มีนักเรียนไทยได้เรียนรู้ขนบประเพณีสากลมากขึ้น จึงได้ส่งบัตรอวยพรให้กันแพร่หลายออกไปถึงกระนั้นก็ยังอยู่ในหมู่ในพวก  เพราะการส่งบัตรอวยพรเป็นสิ่งที่ไม่สะดวกสำหรับคนไทย แม้แต่การส่งจดหมายทางไปรษณีย์ยังส่งไม่ถูก และหาที่ส่งได้ยาก อย่าว่าแต่จะส่งบัตร ส.ค.ส. เลย แม้แต่คำว่า ส.ค.ส. พวกชาวบ้านก็ยังไม่รู้จัก

คำว่า “สวัสดีปีใหม่” ก็พูดกันเฉพาะคนในเมือง หรือคนที่รู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมเท่านั้น

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสฟังเทศน์ ที่วัดโพธิ์ เรื่องสวัสดีปีใหม่ ผู้ที่นำเอาคำว่า “สวัสดีปีใหม่” มาใช้ คนแรกที่ พูด คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยมาจากคำภาษาบาลี

โสตถิ  = สวัสดี

เมื่อไปวัดดาวดึงษาราม มีป้ายทางเข้าวัด ใช้ คำว่า สทา โสตฺถี ภวนฺตุโว  แปลความว่า ขอความสุขสวัสดี  จงมีแก่ทุกท่าน เทอญ

ปฏิทิน หน้าแรก ก็ปรากฏคำว่า สวัสดีปีใหม่

พบกัน ก็ทักทายสวัสดีปีใหม่

ปีใหม่ปีนี้  ข้าพเจ้าก็ขอสวัสดีปีใหม่ กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาวหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ทุกๆ คน ขอให้มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากความทุกข์ ตลอดปี ตลอดไป  ขอให้ราบรื่น ให้ชื่นบาน

อ่านมาจากหนังสือ  สิริมงคล Call no. DS568ส436