บอกบุญทอดกฐินตามกาล

มีเพื่อนกัลยาณธรรมแจ้งว่าพระอุโบสถ วัดโนนพิมาน อ.คง จ. นครราชสีมา ยังสร้างไม่เสร็จ  โดยเพื่อนต้องทำตามคำบอกเล่าของปู่ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ต้องการให้ลูกหลานสร้างพระอุโบสถภายในหมู่บ้าน บอกบุญท่านผู้ใจบุญและสาธุชนคนใจดีทั้งหลาย  โดยที่ไม่แจกซองกฐิน เนื่องจากไม่อยากรบกวนใคร ได้แต่บอกบุญด้วยวาจา ใครเขามีจิตศรัทธาก็มาช่วยเอง และข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือโลกทางวรรณคดี และโรคาพยาธิ  ให้ความรู้เรื่องกฐิน ดังนี้

“ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น  ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  รวม ๑ เดือน หลังออกพรรษา จะอยู่ในระหว่างเทศกาลทอดกฐิน เหตุที่ต้องมีการทอดกฐินในตอนออกพรรษา ก็เพราะถือกันว่านักบวชในพรรษาก่อนจะลาสิกขาต้องอยู่รับกฐินเสียก่อนมิฉะนั้นจะได้บุญน้อย”

แล้วทำไมต้องเรียกว่าทอดกฐิน

คำว่าทอดหมายถึงการปล่อยสิ่งของ ส่วนกฐินเป็นภาษาบาลี แปลว่าไม้สะดึง ในสมัยก่อนต้องมีไม้สะดึงเป็นแบบสำหรับตัดจีวร ก็คงหมายความว่าการถวายจีวรแด่พระภิกษุด้วยการวางหรือทิ้งไว้โดยไม่เจาะจงถวายให้แก่พระรูปใด จุดประสงค์ก่อน ๆ ก็เพียงเพื่อนำจีวรมาถวายแก่พระภิกษุที่จำพรรษามาครบ ๓ เดือน เพราะจีวรมันก็เก่าลงเวลาจารึกแสวงบุญก็ไม่น่าดู พุทธศาสนิกชนก็ช่วยกันนำผ้าจีวรมาถวาย”

เมื่อครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา จำนวน ๓๐ รูปตั้งใจจะเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชตวันมหาวิหาร แต่ไปติดช่วงเทศกาลเข้าพรรษาก็เลยต้องจำพรรษาที่เมืองสาเกตุ เมื่อออกพรรษาแล้วก็ไม่มีเวลาตัดเย็บจีวรใหม่ และสมัยนั้นก็ยังไม่มีพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้าจีวรได้ ก็ต้องไปเที่ยวเสาะหาผ้าตามกองขยะ ตามป่าช้า มาตัดเย็บ ย้อมเปลือกไม้ลบรอยกระดำกระด่าง จึงทำกันไม่ทัน พระพุทธองค์เห็นจีวรเก่าเหลือเกินก็สงสารจึงทรงมีพุทธานุญาตให้พุทธศาสนิกชนถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุได้ตลอดระยะเวลา ๑ เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษาไปแล้ว แต่ปัจจุบันมีการถวายปัจจัยและอัฐบริขารอื่น ๆร่วมด้วย”

แล้วทอดผ้าป่า ก็มีเรื่องเล่าดังนี้

การหาบังสุกุลที่ไม่มีเจ้าของตามป่าช้ามาตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จภายใน ๑๐ วันนับตั้งแต่วันที่ได้มาตามกฏเดิมก็ทำได้ลำบาก ครั้งหนึ่งจีวรของพระสารีบุตรสาวกองค์หนึ่งเก่าและขาด ก็ใคร่จะเปลี่ยนใหม่ แต่เสาะหาอยู่หลายวันก็หาไม่ได้ ร้อนถึงเทพธิดาองค์หนึ่งอยากได้บุญ ก็เอาผ้ามาหมกกองขยะให้ท่านเก็บไปทำจีวร ต่อมาก็มีการถวายโดยทิ้งไว้ตามป่าโดยไม่เจาะจงเพราะถือว่าได้อานิสงส์แรงกล้า จึงเรียกว่าทอดผ้าป่า

พิธีกรรม ของพระสงฆ์ ในการทอดผ้าป่า

ปัจจุบันจัดกิ่งไม้มาปักสมมุติเป็นป่าในวัดแล้วเอาผ้าพาดไว้ แล้วหาเครื่องไทยทานอื่น ๆ เช่น เครื่องอัฐบริขารสำหรับพระสงฆ์ ข้าวสาร ภัตตาหารและผลไม้ ใส่ภาชนะเป็นชะลอม กระบุง โอ่ง  ถังตักน้ำ แล้วปักกิ่งไม้พาดผ้า เอาของไปวาง  ทางฝ่ายพระก็จะมายืนสงบหน้าผ้าใช้มือขวาจับผ้า แล้วบริกรรมเบา ๆ ว่า “อิมํ  ปํสุกูลจีวรํ  อสฺสมิกํ  มยฺหํ  ปาปุณาติ”

แปลความว่า ผ้าบังสุกุลผืนนี้เป็นผ้าไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมถึงแก่ข้าพเจ้า”

ทอดผ้าป่า กับ กฐิน

สามารถทอดผ้าป่า กับ กฐิน เรียกว่า” ผ้าป่าหางกฐิน” นิยมกันทั่วไป คือเวลาทอดกฐินจะต้องทอดผ้าป่าด้วย จะมีผ้าป่ากี่องค์ก็ได้และทำต่อเนื่องไปก้บการทอดกฐิน

ด้วยจิตที่ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะสร้างพระอุโบสถให้เสร็จ จึงขอบอกบุญทอดกฐินตามกาลแก่สาธุชนคนใจดีทั้งหลาย ขอให้ข้าพเจ้าพ้นทุกข์ถึง มรรค ผล นิพพาน และขออนุโมทนาบุญ

บุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว นึกถึงครั้งใดปิติสุข

-ร่วมบุญทอดกฐินพบางช้างเหนือ ตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม วันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ (ตรงกับแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑)

-ร่วมงานกุศลถวายผ้าพระกฐินพระราชทานให้มหาวิทยาลัยศิลปากรนำไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษา ณ พระอารามหลวง วัดกลาง ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จ.กาฬสินธุ์