เว้นวรรค

การเว้นวรรคในการเขียนหนังสือไทย เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของภาษาไทยเนื่องจากว่าภาษาไทยไม่ใช้เครื่องหมายวรรคตอนในการแบ่งความอย่างในภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น แต่เราจะใช้การเว้นวรรคในการแบ่งความแทน ซึ่งหลักเกณฑ์การเว้นวรรคตอนนี้ไม่ได้มีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบในการศึกษาขั้นพื้นฐาน (K1-12) รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยสําหรับชาวต่างชาติ แต่จะเป็นการเรียนรู้ในทางอ้อม เช่น จากการเรียนเขียนเรียงความ เขียนรายงานหรือการอ่านบทความ เป็นต้น การสอนการเว้นวรรคในชั้นเรียนจะสอนในระดับมหาวิทยาลัยให้กับนักศึกษาในสาขาวิชาเอกและโทภาษาไทยเท่านั้น (ลิดา งามวิโรจน์กิจ และสุดาพร ลักษณียนาวิน, 2556: 22)

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายเรื่อง “การเว้นวรรค” ไว้ว่า ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย การเว้นช่องว่างระหว่างคำ ข้อความหรือประโยคให้ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ข้อเขียนนั้นมีความถูกต้อง แจ่มแจ้ง ชัดเจน และอ่านได้ตรงตามความต้องการของผู้เขียน โดยคำว่า “วรรค” คือ คำ ข้อความ หรือประโยคช่วงหนึ่ง ๆ และ “การเว้นวรรค” หมายถึง การเว้นช่องว่างระหว่างวรรค โดยที่การเว้นวรรคแบ่งออกเป็น การเว้นวรรคเล็ก มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณเท่ากับความกว้างของพยัญชนะ ก และการเว้นวรรคใหญ่ มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณ 2 เท่าของการเว้นวรรคเล็ก พร้อมทั้งยกตัวอย่างหลักเกณฑ์ในการเว้นวรรค เข่าใจง่ายค่ะ และอ่านต่อกันได้ที่  http://legacy.orst.go.th/?page_id=629  

มีผลงานทางวิชาการหลายเรื่องที่พูดถึง เช่น เรื่องการศึกษาความสามารถทางภาษาในการเว้นวรรคจากการเขียนภาษาไทยของนักเรียนไทยและญี่ปุ่น  โดยพบว่า เจ้าของภาษามีความสามารถในการเว้นวรรคในการเขียนภาษาไทยตรงตามกรอบที่ราชบัณฑิตกําหนดไว้มากกว่านักเรียนญี่ปุ่น และนักเรียนญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ภาษาสูงจะมีความสามารถในการเว้นวรรคใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากกว่านักเรียนที่มีประสบการณ์ภาษาต่่ำ เจ้าของภาษาทําการเว้นวรรคได้ดีที่สุดในระดับคําเฉพาะ ตําแหน่งการเว้นวรรคระหว่าง ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่เป็นการเว้นวรรคเฉพาะ (Specific Rules) แสดงให้เห็นว่า เจ้าของภาษา สามารถนําเกณฑ์ไปใช้ได้เป็นอย่างดี ผิดกับกลุ่มนักเรียนญี่ปุ่นทั้งสองกลุ่มที่ทําได้ต่ําที่สุดในระดับนี้ เนื่องจากในภาษาญี่ปุ่นไม่มีการเว้นวรรคในระดับคําเลย จึงเกิดการถ่ายโอนระบบภาษาแม่มายังภาษาที่สองในทางลบ (Negative L1 Transfer) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การเว้นวรรคในระดับคําเป็นปัญหาในการเว้นวรรคมากที่สุดสําหรับกลุ่มนักเรียนญี่ปุ่น อ่านต่อได้ที่ https://so01.tci-thaijo.org/index.php/damrong/article/view/21542/18588

ส่วนพี่จำคำสอนของครู ในสมัยเรียน ป. สี่ ที่สอนไว้แบบง่าย ๆ ว่า การเว้นวรรคเอาไว้พัก “หายใจ”  พี่เชื่อในคำสอนนี้และยึดถือเป็นหลักในการเขียนหนังสือจนถึงปัจจุบันนี้ 

เมื่อสี่ห้าปีก่อนตรวจงานนักศึกษาฝึกงาน ที่ส่งรายงานแบบติดกันเป็นพรืด สั่งให้แก้ไขหลายรอบจนตัวเรารู้สึกเกรงใจและหน้าตาดูเหมือนไม่อยากแก้ จึงบอกว่า… ให้อ่านให้ฟัง แล้วหายใจได้เฉพาะที่มีการเว้นวรรค เด็กบอกว่า แบบนี้หนูก็ตายพอดี … ใช่ค่ะ แบบนั้นแหละ และรายงานฉบับต่อมาคือมี “เว้นวรรค” แล้ว 

เอกสารอ้างอิง

ชลิดา งามวิโรจน์กิจ และสุดาพร ลักษณียนาวิน. (2556). “การศึกษาความสามารถทางภาษาในการเว้นวรรคจากการเขียนภาษาไทยของนักเรียนไทยและญี่ปุ่น” ดำรงวิชาการ. 12, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 58-84.