การทำรายการโยงชื่อผู้แต่งชาวจีน

ด้วยกระแสซีรีย์จีนที่โด่งดัง ทำให้หลายคนให้ความสนใจกับนวนิยายจีนมากขึ้น รวมถึงหอสมุดได้จัดซื้อหนังสือเข้ามาเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้อ่าน ทั้งจากผู้ใช้บริการเสนอรายชื่อเข้ามาและหอสมุดจัดซื้อเอง โดยบรรณารักษ์วิเคราะห์ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า Cataloger จะลงรายการบรรณานุกรมเพื่อให้ผู้ใช้สืบค้นได้สะดวก ส่วนใหญ่นักเขียนจะใช้นามปากกา/นามแฝงในการเขียน หรือใช้ชื่อจริงในการเขียนก็มี

นอกจากนี้นักเขียนบางคนเขียนส่งหลายสำนักพิมพ์จึงต้องมีหลายนามปากกา หรือกรณีที่มีงานเขียนหลายประเภทจะใช้ชื่อที่ไม่ซ้ำกันในงานเขียนประเภทนั้น ๆ เช่น นักเขียนคนนี้มีทั้งประเภทวิชาการ สารคดี และนวนิยาย ก็จะใช้นามปากกา 3 ชื่อ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้หนังสือที่คลอบคลุมครบถ้วน  Cataloger จึงต้องมีการทำรายการโยงเพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้ว่านักเขียนคนนี้ยังมีชื่ออื่นที่ใช้ในการเขียนหนังสือเรื่องอื่น ๆ อีกด้วย

ปัญหาที่มักพบในการทำรายการโยงผู้แต่งชาวจีน คือ การถอดชื่อเป็นภาษาไทย และชื่อพินอิน “พินอิน” คือ ระบบในการถอดเสียงภาษาจีนมาตรฐาน ด้วยตัวอักษรละตินพร้อมด้วยสัญลักษณ์วรรณยุกต์ ทำให้การเรียนภาษาจีนมีความง่ายขึ้น ระบบพินอินนี้ เกิดขึ้นโดยรัฐบาลจีนต้องการให้คนรู้หนังสือมากขึ้น จึงได้ตั้งหน่วยงานที่ชื่อ “คณะกรรมการปฏิรูปภาษาเขียนของจีน” ในปี ค.ศ. 1955 โดยมอบหมายให้ โจวโหย่วกวง (Zhou Yuguang) นักภาษาศาสตร์เป็นหัวหน้าทีม ใช้เวลาในการพัฒนา 3 ปี ซึ่งต่อมาได้ฉายาว่าบิดาแห่งพินอิน (กองบรรณาธิการ M2F: 2561 ; สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์: ม.ป.ป.)  ในปัจจุบันได้ถือเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งชื่อนักเขียนชาวจีนมีหลายคนที่ชื่อ-สกุล เมื่อถอดเป็นพินอินแล้วเขียนเหมือนกัน ทำให้เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคน ๆ เดียวกัน และอาจก่อให้เกิดทำรายการโยงผิดขึ้นมาได้

ตัวอย่างที่เกิดความผิดพลาดจากความเข้าใจผิด คือ มั่วเหยียน กับ โม่เหยียน จึงทำรายการโยง มั่วเหยียน ดูเพิ่มเติม โม่เหยียน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากค้นข้อมูลและชื่อภาษาจีน จะทำให้ทราบว่านักเขียนไม่ใช่คน ๆ เดียวกัน อีกทั้งแนวการเขียนยังแตกต่างกัน คนละสไตล์

ชื่อถอดภาษาไทย ชื่อพินอิน ชื่อจีน ชื่อจริง
มั่วเหยียน Mo Yan 莫言 กว่าน โหมเย่ (Guan Moye) 管谟业

 

โม่เหยียน Mo Yan 莫顏  

การทำรายการโยงผู้แต่ง

ที่ผิด ที่ถูกต้อง
เหตุที่ผิด :

1.นักเขียนไม่ใช่คนเดียวกัน สังเกตจากชื่อจีนจากตารางข้างต้น

2. สไตล์การเขียน

โม่เหยียน จะเขียนแนวนิยายจีนโบราณสนุกๆ ทั่วไป

มั่วเหยียน จะเขียนแนวอิงประวัติศาสตร์ เป็นนักเขียนรางวัลโนเบล

นักเขียนคนนี้ชื่อจริงคือ กว่าน, โหมแย่ ส่วน มั่ว, เหยียน เป็นนามปากกา ที่ใช้ในงานเขียน

 

 

จากที่ประสบพบเจอด้วยตนเองและเข้าใจผิดมาแล้ว ทำให้ต้องระมัดระวังในการทำรายการโยงมากขึ้น โดย

  1. ดูจากตัวเล่มว่าชื่อจีน เขียนอย่างไร ถอดเสียงอย่างไร ผู้แต่งคนนี้เคยเขียนและตีพิมพ์มาแล้วกี่เล่ม จะเห็นได้ว่าในช่วงหลัง ๆ มานี้ สำนักพิมพ์ จะแจ้งข้อมูลเหล่านี้ในตัวเล่ม ซึ่งอาจจะปรากฏที่หน้าหลังหน้าปกใน คำนำ หน้าเกี่ยวผู้เขียน บางครั้งอาจอยู่ในหน้าผู้แปลก็มี หรืออยู่ท้ายเล่ม
  2. หากตัวเล่ม มีผู้ใช้บริการยืมออกไปแล้ว สามารถสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ร้านหนังสือ/สำนักพิมพ์ ซึ่งร้านหนังสือจะลงข้อมูลรายละเอียดของหนังสือ เช่น ชื่อผู้แต่ง ผู้แปล ชื่อเรื่อง สำนักพิมพ์ เป็นต้น และยังลงรูปปกหนังสือ สามารถดูจากตรงนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ บลอก ที่เขียนหรือรวบรวมหนังสือของนักเขียนที่ตนชื่นชอบเอาไว้ สามารถนำตรงนี้มาเป็นแนวทางในการดู หรือเปรียบเทียบได้ว่าใช่คนเดียวกันหรือไม่
  3. ตรวจสอบผลงานนักเขียน จากเว็บไซต์เครือข่ายความร่วมมือของห้องสมุดต่างประเทศ เช่น OhioLINK และ Library of Congress โดยสืบค้นจากชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่องที่เป็นตัวเขียนภาษาจีน ชื่อเรื่องพินอิน
  4. ดูการทับศัพท์จากคู่มือ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาจีนและภาษาฮินดี จัดทำโดย สำนักงานราชบัณฑิตสภา https://www.orst.go.th/iwfm_list.asp?i=0040002104011001%2F63ERJ5716056

—————————————————

ที่มา :

กองบรรณาธิการ M2F.  (2561).  การถอดเสียงอันชาญฉลาดที่ทำให้คนกว่าพันล้านคนอ่านออกเขียนได้.  สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2564, จาก https://www.m2fnews.com/news/worldnews/11010

สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์.  (ม.ป.ป.).  พินอินคืออะไร และสำคัญอย่างไรกับเด็กๆเรียนจีน มาทำความรู้จักกันดีกว่า.  สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2564, จาก https://www.learningeast.com/17374393/

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2563).  การทับศัพท์.  สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2564, จาก https://www.orst.go.th/iwfm_list.asp?i=0040002104011001%2F63ERJ5716056