อ่าน E-book จาก EDS กันเถอะ

ในฐานข้อมูลของ Ebsco Host มี E-book ให้อ่านมากมาย สามารถสืบค้นผ่านช่องทาง Ebsco Discovery Service ได้ โดยเลือกค้นเป็น ebooks และในช่วง Work from home ได้ลองค้นข้อมูลหลายเรื่อง พบ E-book ที่น่าสนใจ และเห็นว่าเนื้อเรื่องน่าจะเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนของเด็กพิเศษ ที่ครอบครัวและโรงเรียนจะต้องมีการสื่อสารกันอย่างดี และอีกเล่มหนึ่งเป็นเรื่องของการเรียนรู้ผ่านการเล่นของเด็ก ขอนำมาแนะนำย่อ ๆ ตามนี้เลยค่ะ

เล่มที่ 1 คือ : Sally Beveridge. (2005). Children, Families and Schools : Developing Partnerships for Inclusive Education. Routledge

เนื้อเรื่องของ ebook เล่มนี้กล่าวว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างบ้านและโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาของเด็กทุกคน แต่ในกรณีที่มีความต้องการพิเศษ การสร้างความร่วมมือที่ดียิ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก  หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียนจากมุมมองแบบครอบคลุม เน้นในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในเด็ก ๆ และครอบครัว  สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของบุคลิกลักษณะของบุคคล และครอบครัวที่มีลักษณะพิเศษและเด็กต้องการการให้การศึกษาที่พิเศษออกไป ผู้เขียนได้เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ เช่น  กรอบแนวคิดและนโยบายที่เป็นพื้นฐานของการให้การศึกษาพิเศษ, บ้านและครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานและบริบทการเรียนรู้, บทบาทของความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียนในการสนับสนุนให้เด็กที่มีภูมิหลังและความต้องการที่หลากหลายให้ประสบความสำเร็จในการศึกษา, การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียน, ความร่วมมือของเด็ก ๆ ในการพัฒนาความสัมพันธ์ และกลยุทธ์ในการพัฒนาการสื่อสารเชิงบวกกับผู้ปกครอง

เล่มที่ 2 :  Fran C. Blumberg PhD. (2014). Learning by Playing : Video Gaming in Education. Oxford University Press.

การเรียนรู้ของเด็กไม่จำเป็นต้องได้จากโรงเรียนทั้งหมด ช่วงไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดนี้ เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน อยู่บ้านเรียนออนไลน์ และบางครั้งอยากเล่มเกม  โลกยุคปัจจุบันวิดีโอเกมได้รับการยอมรับว่า เป็นเครื่องมือหนึ่งของศาสตร์การเรียนรู้ และสามารถใช้เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้ นักจิตวิทยาการศึกษา นักวิจัยการศึกษา นักจิตวิทยาการเรียนรู้ ต่างร่วมมือกับนักออกแบบและนักพัฒนาเกมเพื่อค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะใช้วิดีโอเกมในห้องเรียน ในหนังสือเล่มนี้ กลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องในสาขาวิชาต่าง ๆ ต่างให้แนวทางความคิดในเรื่องการแบ่งส่วนของการเล่นวิดีโอเกมยามว่างเพื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน

บทที่ 1 ให้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้และความรู้ด้านเนื้อหาที่เด็กและวัยรุ่นจะได้รับ ปรับแต่งความรู้ระหว่างการเล่นวิดีโอเกม ทำไมต้องพัฒนาวิดีโอเกมเพื่อการศึกษา

บทที่ 2 ทฤษฏีและคุณลักษณะของการเรียนรู้ถึงแนวความคิดเกี่ยวกับวิดีโอเกม สำรวจคุณสมบัติของเกมที่ดึงดูดและส่งเสริมการพัฒนาทักษะในหมู่ผู้เล่นเกม

บทที่ 3 การออกแบบวิดีโอเกม การเรียนรู้ของเด็กและวัยรุ่นในบริบทของเกมประเภทต่างๆ

บทที่ 4 การเรียนรู้ถึงปัจจัยที่นำไปสู่การถ่ายโอนการเรียนรู้จากการเล่นวิดีโอเกมไปยังภาระกิจในห้องเรียน

บทที่ 5 เป็นบทสรุป กล่าวถึงวิดีโอเกมในยุคดิจิทัลที่ใช้เครื่องมือในการสนับสนุนการเรียนรู้  แนวทางการวิจัยที่เหมาะสมสำหรับการเล่นวิดีโอเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมที่มีผู้เล่นเป็นเด็กและวัยรุ่น

อยากให้ทุกคน ลองค้นหาหนังสือที่อยากอ่านจากฐานข้อมูลนะคะ