สิ่งที่ได้จากงานประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์ของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่าง ๆ ที่ให้ความรู้เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบ อาทิ นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และผู้ที่สนใจ งานประชาสัมพันธ์ที่จะกล่าวถึงคือ การเขียนคอนเทนต์ โดยก่อนที่จะเขียนก็ต้องกำหนดหรือเลือกเรื่องที่จะเขียน เช่น เรื่องที่น่าสนใจ ณ ขณะนั้น วันสำคัญ หรือเรื่องตามกระแสนิยม เป็นต้น

หากเรื่องที่เขียนเรื่องใดที่มีผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จะได้รับการกดไลก์ กดแชร์ เป็นจำนวนมาก บางเรื่องมีคอมเมนต์ถามตอบ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลก็มี เห็นอย่างนี้แล้วสร้างกำลังใจให้แก่ผู้เขียนในการเขียนเรื่องต่อ ๆ ไปได้เป็นอย่างดี

ส่วนเรื่องที่ดิฉันรู้สึกประทับใจมากที่สุดมี 3 เรื่อง ได้แก่

1. เปิงซังกราน “ข้าวแช่” ของชาวมอญ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในเทศกาลสงกรานต์ และเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาของชาวมอญนครชุมน์ เป็นเรื่องที่ได้ออกภาคสนาม เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านเกี่ยวกับการทำข้าวแช่ และที่สำคัญได้รับประทานข้าวแช่ฝีมือชาวมอญ ได้สัมผัสกับบรรยากาศจริง ๆ ภายในงาน ณ วัดใหญ่นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.facebook.com/suslibrary/posts/3970143779739212

2. “ต้นจัน” ในทับแก้ว เป็นเรื่องที่ได้สำรวจและใกล้ชิดใต้ต้นจัน ได้เก็บลูกจันที่มีกลิ่นหอมเป็นอย่างมาก ซึ่งการเขียนเรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเขียน เรื่อง แฝดสยาม “อิน-จัน” ในครั้งที่ผ่านมา เพราะนอกจากมีแฝด อิน-จัน แล้ว ยังมีผลไม้ที่ชื่อว่า ลูกอิน ลูกจัน และมีความแปลกที่ผลไม้ 2 ชนิดนี้ เกิดจากต้นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนผู้ที่ชื่นชอบต้นไม้ ได้ชวนกันไปเดินเล่นผักผ่อนหลังเลิกงานสำรวจต้นจัน ในมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่า มีต้นจันทั้งหมด จำนวน 96 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564)

ในเวลาต่อมา ยังพบต้นจันเพิ่มขึ้นจากสถานที่ต่าง ๆ จำนวน 11 ต้น มีดังนี้ 1) อาคาร 50 ปี จำนวน 1 ต้น 2) คณะอักษรศาสตร์ จำนวน 1 ต้น 3) คณะวิทยาศาสตร์ จำนวน 1 ต้น  4) หลังหอพักทับแก้ว จำนวน 2 ต้น  5) สำนักงานอธิการบดี จำนวน 1 ต้น 6) คณะเภสัชศาสตร์ จำนวน 1 ต้น และ 7) สำนักดิจิทัลเทคโนโลยี จำนวน 4 ต้น สรุป มีต้นจันทั้งหมด จำนวน 107 ต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม  2564)

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่  https://www.facebook.com/suslibrary/posts/4101730916580497

3. “แกระ” “แกะ” และ “แกละ” เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ เมื่อย้อนความทรงจำกลับไปในวัยเด็ก ยังเคยใช้ “แกะ” เกี่ยวข้าว ขอใช้คำนี้เพราะความคุ้นชิน ที่บ้านใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราชใช้คำนี้

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่  https://www.facebook.com/suslibrary/posts/3921310637955860

สิ่งที่ได้รับจากการเขียนคอนเทนต์

ได้นำมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง โดยได้รับคำแนะนำจากหัวหน้าหอสมุดฯ หัวหน้างาน และพี่ ๆ น้อง ๆ  เรื่องการเขียนเนื้อหา การเรียบเรียง การใช้คำ ตัวสะกดที่ถูกต้อง คำซ้ำ ต้องลองปรับเปลี่ยนลบเพิ่มให้เหมาะสม หากมีคำฟุ่มเฟือย ให้ตัดออก ต้องอ่านเยอะ ๆ เขียนเยอะ ๆ ฟังมาก ๆ ต้องเรียบเรียงเนื้อหาให้สัมพันธ์กัน การใช้เลขไทย หรือเลขอารบิก ควรใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง รวมถึงประสบการณ์ในการตรวจเนื้อหาบทความของเพื่อน ๆ หลักการเขียนบรรณานุกรมที่ถูกต้อง ควรมีแหล่งอ้างอิงอย่างน้อย 3 แหล่ง ได้พัฒนาทักษะด้านการเขียน ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตามกระแสโลก  ทั้งนี้ทำให้เราทราบว่าเรื่องที่เราสนใจ หรือเรื่องที่ออกภาคสนามเก็บข้อมูลจะเขียนออกมาได้ดีกว่าเรื่องอื่น ๆ

ขอขอบคุณ

หัวหน้าหอสมุดฯ หัวหน้างาน พี่  ๆ น้อง ๆ  ทุกคนค่ะ