หากย้อนไปเมื่อสักประมาณ 3-4 ปี ก่อน คำว่า “นิยายวาย” เป็นคำที่ผู้อ่านเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่สนใจอ่านและค้นหาอ่าน แต่ในตอนนี้ในโลกของนักอ่านหนังสือแทบจะไม่มีใครไม่รู้จัก “นิยายวาย”
ปัจจุบัน “นิยายวาย” ได้รบความนิยมเป็นอย่างมากในไทย มีสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ หลายแห่งถึงกับเปิดสำพักพิมพ์ย่อยๆออกมาเพื่อผลิต “นิยายวาย” โดยเฉพาะ ชั้นวางหนังสือในร้านขายหนังสือใหญ่จะมี “นิยายวาย” มาวางขายกันอย่างคึกคัก ทั้งที่ไม่มีกี่ปีก่อน “นิยายวาย” เป็นหนังสือประเภทที่บางร้านมีนโยบาย ห้ามวางขายแบบออกหน้าออกตาด้วยซ้ำ
“นิยายวาย” เป็นหนังสือนิยายที่ทีเนื้อหาหรือเรื่องราวของความสัมพันธ์ของตัวละครที่เป็นเพศเดียวกัน คำว่า “นิยายวาย” หรือ “วาย” มาจากคำว่า “ยาโอย” หรือ “yaoi” ในภาษาญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในสื่อนวนิยายที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น ตัวละครหลักมีความสำพันธ์ระหว่างชายกับชายด้วยกัน โดยส่วนมากผลงานนี้ถูกสร้างขึ้นจากผู้หญิงเพื่อผู้อ่านที่เป็นผู้หญิง ผลงานรูปแบบนี้แตกต่างจากสื่อลามกของเพศเดียวกันที่กลุ่มคนดูเป็นเพศทางเลือก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนวนิยายแนวนี้ก็เป็นที่ให้ความสนใจในหมู่เพศชายและยังมีนักเขียนเป็นผู้ชายอีกด้วย เริ่มแรกเดิมที ยาโอย หมายถึง ประเภทหนึ่งของงาน โดจินชิ ซึ่งเป็นผลงานล้อเลียน มังงะ หรือ อนิเม ะที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น แต่ปัจจุบันความหมายได้เปลี่ยนไป กลายเป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศเชิงอีโรติก หรือ โรแมนติกระหว่างชายกับชาย ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ มังงะ อนิเมะ เกม นิยาย และโดจินชิ นิยามความสัมพันธ์ของคู่รักในยาโอยจะแบ่งออกเป็นสองตำแหน่งคือ seme (เซ-เมะ) เป็นคนที่อยู่ตำแหน่งบนหรือเป็นผู้นำ กับ uke (อุ-เคะ) ผู้ที่อยู่ตำแหน่งล่างหรือเป็นผู้ตาม ธีมส่วนใหญ่ของยาโอยก็จะมี ความสัมพันธ์ต้องห้าม ข่มขืน เหตุการณ์ร้ายแรง และคอมเมดี้ โดยชนิดของนิยายประเภทนี้ก็จะมีหลายแนวไม่ว่าจะเป็น ชีวิตรักวัยเรียน ไซไฟ ย้อนยุค แฟนตาซี สืบสวน และหมวดหมู่ย่อยออกมาคือ โอเมก้าเวิร์ส ต่อมาในญี่ปุ่นได้เกิดคำศัพท์ใหม่แทนที่ยะโอะอิ คือคำว่า บอยส์เลิฟ (Boy’s Love) แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นความรักของเด็กหนุ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถใช้ได้กว้างตั้งแต่เรื่องราวระหว่างวัยรุ่นไปจนถึงคนสูงวัย (แหล่งอ้างอิง : https://th.wikipedia.org/wiki/ยะโอะอิ)
อย่างที่กล่าวข้างต้นปัจจุบัน กระแส“นิยายวาย” ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง มีการผลิตและวางขายกันมากมายหลายร้อยเรื่อง เป็นสิ่งผู้ปกครองรู้สึกเป็นกังวลอันเนื่องมาจากเนื้อหาที่มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม แต่ถ้าผู้ปกครองเปิดใจและมีส่วนร่วมในการคัดกรองการอ่านกับลูกๆหลานๆ ซึ่งผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า “นิยายวาย” ก็เหมือนนิยายทั่วไป ที่บอกเล่าเรื่องราว ความเป็นไปของสังคม สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคม ชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ดำเนินไป จะแตกต่างก็เพียงแต่ว่า บุคคลหรือตัวละครใน “นิยายวาย” เป็นเพศเดียวกันเลยอาจทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่ามันผิดปกติ ในส่วนของเนื้อหาหรือประเภทของ “นิยายวาย”ก็จะมีหลากหลาย ผู้ปกครองก็ต้องมีส่วนช่วยในเลือกและตัดสินใจ
สำหรับตัวผู้เขียนมีสถานะที่ซับซ้อนหลายอย่าง หนึ่งเป็นบรรณารักษ์ที่ต้องคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด สองเป็นแม่ที่มีลูกอ่านนิยาย สามเป็นคนอ่านนิยายเองด้วย ในฐานะของบรรณารักษ์ที่ต้องคัดเลือกเข้าห้องสมุด มักพบเจอผู้ใช้ที่คำถามว่า ทำไมเล่มนี้ซื้อเข้ามาบริการในห้องสมุดได้ ทำไมเล่มนี้ซื้อมาให้บริการไม่ได้ คำถามนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ กับนิยายปกติทั่วไปที่มีตัวละครเป็น ชายกับหญิง และคำถามนี้เกิดขึ้นอีกครั้งกับการตัดสินใจซื้อนิยายวายเข้าห้องสมุดครั้งแรก หากจะต้องตอบก็ต้องตอบว่า ก่อนการตัดสินใจซื้อผู้เขียนได้อ่านรีวิวจากหลากหลายแหล่ง และทดลองอ่านในฐานะของคนอ่านนิยาย และเป็นนิยายที่คิดว่าหากลูกจะอ่านก็จะรับไว้พิจารณา
เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า “นิยายวาย” หรือ “นิยายทั่วไป” เล่มไหนดี เล่มไหนไม่ดี นอกเสียจากเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับในการคัดเลือก มีส่วนร่วมในการอ่าน นิยายทั่วไปบางเล่มนั้นมีฉากรุนแรงทางเพศ มากกว่านิยายวายเสียด้วยซ้ำ นิยายวายบางเล่มเนื้อหาที่มีการพูดถึงชีวิตและศีลธรรม บางเล่มที่พูดถึงครอบครัว การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข การไม่แบ่งชนชั้น หากเราเลือกอ่าน
หากลูกอยากจะอ่าน เราก็อ่านเป็นเพื่อนไปกับลูก คอยดู คอยแนะดีกว่าจะบังคับ หรือ ห้าม เปิดใจกับลูกว่าเล่มไหนมันดี เล่มนี้มันไม่ดี เล่มนี้พ่อแม่ยินดีจะให้ลูกอ่าน ได้แค่ไหน เล่มไหน ซึ่งผู้ปกครองของนักอ่านบางคนห้ามไม่ให้อ่านเลย สุดท้ายคือ เด็กก็ไปเสาะหาอ่านตามอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราไม่รู้เลยว่า ลูกเราอ่านอะไร และรับอะไรมา
“แต่ผู้ปกครองบางส่วนอาจยังกังวลว่า นิยายวายมักจะมีภาพลักษณ์ไปในทางวาบหวิวอนาจาร กลัวจะกระทบบุตรหลานหากมีมากเกินไป โดยนิยายวายที่วางตามชั้นหนังสือในประเภทวรรณกรรมนั้นยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับนิยายทั่วไป ซึ่งจัดวางให้ห่างจากโหมดเด็กเล็กที่จะหยิบจับง่าย ซึ่งความเหมาะสมของแต่เล่มนั้นมีเรทติ้งระบุไว้เพื่อความสบายใจของผู้ปกครองที่จะได้ดูแลบุตรหลานได้ง่ายขึ้น” (แหล่งอ้างอิง : https://www.springnews.co.th/entertain/42977)