รำลึก 210 ปี  แฝดสยาม “อิน-จัน”

ฝาแฝดอิน-จัน เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ที่บ้านเรือนแพริมน้ำ ปากคลองแม่กลอง ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน โดยพ่อเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอพยพแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ส่วนแม่ชื่อ นางนาก บันทึกของฝรั่งบอกว่า ชื่อ Nok ซึ่งอาจออกเสียงว่า นก ก็ได้ แม่มีเชื้อสายจีน-มาเลย์ ฉะนั้นแฝดคู่นี้จึงเป็นจีนถึงสามในสี่ส่วน ซึ่งแต่แรกชาวบ้านเรียกฝาแฝดว่า “แฝดจีน” ต่อมาแม่จึงตั้งชื่อว่า อินกับจัน แรกทีเดียวทั้งคู่หันหน้าเข้าหากัน แต่แม่สอนให้ต่างคนต่างผันตัวออก เพื่อให้ท่อนเนื้อที่เชื่อมต่อกันนั้นยืดออก จะช่วยให้ยืนหันข้างชนกันได้  ซึ่งฝาแฝดคู่นี้สามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ

ในปี 2367 นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ชาวไทยรู้จักในนาม “นายหันแตร” ได้นำแฝดคู่นี้ไปแสดงโชว์ตัวที่สหรัฐอเมริกา โดยนายอาเบล คอฟฟิน กับตันเรือสินค้า เดอะซาเคม (The Sachem) ที่เข้ามาทำการค้าในประเทศไทย ก็เป็นผู้นำตัวคู่แฝดออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2372 ขณะนั้น อิน-จัน อายุ 18 ปี ไปเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อทำการเปิดตัว ก่อนจะออกเดินทางแสดงโชว์ทั่วอเมริกาและยุโรป กว่า 10 ปี ซึ่งการแสดงในสหรัฐอเมริกาทำให้ประสบความสำเร็จทางการเงินเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน โรเบิร์ต ฮันเตอร์ ก็กระจายข่าวเกี่ยวกับแฝดสยามไปทั่วกรุงลอนดอน และเชื่อว่าทั้งคู่จะเรียกคนดูได้มากกว่าในนิวยอร์กเสียอีก และในเวลาต่อมาสัญญาที่ทำไว้กับนาย ฮันเตอร์ และนายคอฟฟิน สิ้นสุดลงเมื่อทั้งคู่อายุครบ 20 ปี ช่วง 2 ปีแรก ทั้งคู่ก็ได้รับส่วนแบ่งค่าตอบแทน แต่ก็มีบางครั้งก็ถูกเอาเปรียบด้วย เมื่อเป็นอิสระทั้งคู่ก็เปิดการแสดงเองและได้แสดงไปทั่วสหรัฐอเมริกา

เมื่อทั้งคู่อายุ 28 ปี ได้ลงหลักปักฐานที่หมู่บ้านแทรปฮิลล์ เขตชานเมืองวิลส์วิลส์โบโร เคาน์ตีวิลส์ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน โดยมีชื่อว่า เอ็ง-ชาน บังเกอร์ (Eng and Chang Bunker) และสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับชาวอเมริกัน มีลูกด้วยคนหลายคน

จนวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2417 จันเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวาย จากนั้นอีกราว 2 ชั่วโมงถัดมาอินก็ได้เสียชีวิตตามไปด้วย ขณะที่ทั้งคู่มีอายุได้ 63 ปี

เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำที่ดี แฝดสยามอิน-จัน ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและชาวจังหวัดสมุทรสงครามอันเป็นบ้านเกิด จังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานแฝดอิน-จัน ขึ้นที่ หมู่ 4 ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม  นอกจากนี้ยังมีอาคารห้องโถงจัดแสดงชีวประวัติของแฝดสยามอิน-จัน ไว้ให้นักท่องเที่ยวและนักเรียน นักศึกษาได้เข้าเยี่ยมชมและเป็นสถานที่เรียนรู้ ทั้งนี้ยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่ออกกำลังกายอีกด้วย

หอสมุดฯ มีหนังสือและบทความเกี่ยวกับอิน-จัน

สามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่ http://www.opac.lib.su.ac.th/ ช่อง SEARCH BOOKS เลือก  TITLE   คำค้น อิน-จัน

ส่วน ช่อง SEARCH ARTICLE IN JOURNALS  เลือก  SUBJECT   คำค้น อิน-จัน

ภาพประกอบ ถ่ายโดยคุณเมตตา อินจงกล

 

 

 

 

บรรณานุกรม

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ. (2548). “194 ปีแฝดอิน-จัน.” ศิลปวัฒนธรรม 26, 3 (มกราคม): 112-124.วิลาส นิรันดร์สุขศิริ. (2549).  แฝดสยามอิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต. กรุงเทพฯ: มติชน.สราวุฒิ ศรีธนานันท์.  (2553). “อบต.ลาดใหญ่ พัฒนาอนุสรณ์สถานอิน-จัน ดึงทัวร์.”

สยามรัฐ (20 ตุลาคม 2553): 22.สุด แสงวิเชียร. (2514).  “ข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับแฝดอินจัน.” ศิลปากร 15, 1 (พฤษภาคม): 60-75.

อริยา จินตพานิชการ. (2546). คู่กันนิรันดร. กรุงเทพฯ: กันตนา.